อลหม่านเก็บภาษีที่ดิน100% ธุรกิจน้อย-ใหญ่ ร้องระงม...ผวา กทม.รื้อเกณฑ์ดัดหลังแลนด์ลอร์ด

09 Jun 2022 544 0

           ทีมข่าวเศรษฐกิจ

          ยังคงเป็นประเด็นให้ติดตามอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐบาลสับเกียร์ห้า เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปี 2565 อัตรา 100% ไม่ต่อโปรโมชั่นลด 90% เหมือน 2 ปีแรก

          ผลพวงจากภาระที่เพิ่มขึ้น ทำให้ “แลนด์ลอร์ด”นำที่ดินออกมาแปลงโฉมทำสวนกล้วย ปลูกมะม่วง มะนาว ให้เข้าเกณฑ์ที่ดินเกษตรกรรมกันคึกคัก เพื่อให้จ่ายภาษีในอัตราที่ถูกลง จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าต้องจ่ายภาษีอัตรา 0.3-0.7% แต่หากแปลงสภาพเป็นเกษตรกรรมจะเสียภาษีอยู่ที่ 0.01-0.1%

          ค้างชำระอื้อ-กกร.ขอ ‘บิ๊กตู่’ ผ่อนจ่าย1ปี

          อีกภาพที่เกิดขึ้นหลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทยอยเก็บภาษีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จะเริ่มเห็น หลายพื้นที่มีประชาชนค้างชำระหรือไม่มาชำระภายในเวลาที่กำหนด

          กรณีนายกเทศมนตรีตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่สร้างมิติใหม่ยอมทุ่มเงินแสนบาทเหมาซื้อพื้นที่โฆษณาหนังสือพิมพ์แจ้งแลนด์ลอร์ดเขาใหญ่ให้มาชำระภาษี เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนได้เป็นอย่างดี

          สมเกียรติ พยัคฆ์กุล นายกเทศมนตรีตำบลหมูสี อธิบายว่า เมื่อเดือนเมษายนครบกำหนดให้ประชาชนชำระภาษี แต่มี 532 รายที่ติดต่อไม่ได้ จึงลงประกาศให้มาจ่ายภาษี เพราะหากเลยกำหนดเวลาจะต้องเสียค่าปรับ ส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่มาซื้อที่ดิน อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม หากเก็บได้ครบตามจำนวน จะมีรายได้ กว่า 3 ล้านบาท

          ด้านภาคธุรกิจ ยังคงเดินหน้าขอให้ภาครัฐออกมาตรการบรรเทาภาระภาษีที่ดิน 100% อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด อธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังทำหนังสือถึงกระทรวง การคลังแล้ว ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ภาระภาษีให้กับภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปด้วย

          ”ระยะเร่งด่วนเราขอให้ผู้ที่ค้างชำระภาษีสามารถ ผ่อนชำระได้ 1 ปี โดยไม่มีเบี้ยปรับ ระยะถัดไปขอให้เก็บหรือลดอัตราจัดเก็บเป็นขั้นบันได เช่น ปี 2566 ลด 75% ปี 2567 ลด 50% และปี 2568 ลด 25% และระยะยาว ให้ปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ กำหนดอัตราที่เหมาะสมและเป็นอัตราเดียว” นายอธิปกล่าว

          ’นิคม-โรงแรม’ จี้รัฐเว้นภาษีพยุงธุรกิจ

          ขณะที่ อัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร เปิดเผยว่า สมาคมได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังขอให้บรรเทาความเดือดร้อนเก็บภาษีที่ดิน 100% โดยขอขยายเวลาสำหรับที่ดินรอพัฒนา จากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี ให้มีการประเมินราคาตามสภาพพื้นที่จริงและแยกราคาประเมินที่ดินรอพัฒนากับที่ดินพัฒนาสาธารณูปโภคไปแล้วออกจากกัน รวมถึงขอขยายเวลาลด 90% อีก 2 ปี และให้จัดเก็บภาษีแบบเป็นขั้นบันได

          นางอัญชลีกล่าวว่า ปัจจุบันมีที่ดินนิคมรอพัฒนา 20,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เป็นที่ดินของบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ประมาณ 5,000 ไร่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประมาณ 10,000 ไร่ และที่เหลือเป็นที่ดินของนิคมรายใหม่ 4-5 ราย

          ”ตามกฎหมายที่ดินยังไม่พัฒนาจะได้รับยกเว้นภาษี 3 ปี แต่ที่ดินนิคมอุตสาหกรรมกว่าจะดำเนินการครบขั้นตอน และเปิดขายได้ต้องใช้ระยะเวลา 5 ปี จะต่างจากที่ดินพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะใช้เวลา 3 ปี หากไม่ได้นำมาพัฒนาภายในเวลาที่กำหนดจะเสียภาษีประเภทที่ดินรกร้างในอัตรา 0.3-0.7%” นางอัญชลีกล่าวสอดคล้องกับ วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ออกมาระบุว่า อมตะมีที่ดินนิคมรอพัฒนาอยู่ 14,000-15,000 ไร่ ที่เป็นภาระด้านภาษี โดยได้หารือไปทางสมาคมนิคมฯแล้ว จะขอยกเว้นภาษีจากภาครัฐ เพราะเราไม่ใช่เป็นการซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร แต่ซื้อมาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งเสนอให้รัฐแยกเก็บภาษีที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างออกจากกันด้วย

          ในส่วนของธุรกิจโรงแรม มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย อัพเดตว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากจากการที่รัฐเก็บภาษีที่ดิน 100% เพราะธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบจากโควิด-19 และถึงแม้ต้อง จ่ายภาษีที่ 10% ก็ยังไม่สามารถจ่ายไหว

          ”ช่วง 2 ปีรายได้ธุรกิจโรงแรมหายไปมาก ไม่ต้องพูดถึงผลกำไร ขณะที่ภาษีที่ดินเริ่มเก็บแล้ว ขอให้รัฐผ่อนคลาย การเรียกเก็บ ขอให้ลด 90% อีก 1-2 ปี หรือจนกว่าเศรษฐกิจและธุรกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว รวมถึงปรับปรุงเงื่อนไขการจัดเก็บอ้างอิงจากประเภทธุรกิจ รายได้ของธุรกิจมาคำนวณ และให้จัดเก็บเป็นขั้นบันได เช่น เก็บเพิ่มปีละ 5-10%” นางมาริสากล่าวจากเสียงร้องของภาคธุรกิจ ล่าสุด อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาวิเคราะห์การจัดเก็บภาษีที่ดิน พร้อมหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยมีแนวทางใดที่จะแบ่งเบาภาระประชาชนได้ เพราะภาษีที่ดินฯเป็นรายได้ของท้องถิ่นที่จะนำรายได้จากภาษีดังกล่าวไปพัฒนาพื้นที่

          ขณะที่ ประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นัดถกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวันที่ 6 มิถุนายน 2565 เพื่อหารือถึงแนวทางบรรเทาความเดือดร้อน ภาษีที่ดิน ตามที่มีภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงประชาชนยื่นหนังสือขอให้พิจารณา เช่น การผ่อนชำระ ส่วนลดอัตราภาษี

          จับตา ‘ชัชชาติ’ รื้ออัตรา ดัดหลังแลนด์ลอร์ด

          อีกไฮไลต์ที่เกิดขึ้นตามมาติดๆ หลังกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นพ่อเมืองคนใหม่ พร้อมเปิดไอเดียเพิ่มประสิทธิภาพเก็บภาษีที่ดินให้ได้เต็มเม็ด เต็มหน่วย โดยจะยกเว้นภาษีให้หากเอกชนมีที่ดินเปล่า ยังไม่ใช้ประโยชน์นำมาให้ กทม.พัฒนาเป็นสวนสาธารณะ แทนการปลูกกล้วย และขอสภา กทม.ออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีที่ดินใหม่ แต่จะต้องไม่เกินจากเพดานที่กฎหมายกำหนด โดยที่ดินเกษตรกรรมอัตราเพดานไม่เกิน 0.15% บ้านพักอาศัยไม่เกิน 0.3% ที่ดินอื่นๆ และรกร้าง ว่างเปล่าไม่เกิน 1.2% โดยมีคิวเข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เจ้าของกระทรวงคลองหลอด วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ถกปัญหาอุปสรรคการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดิน และช่องทางการปรับอัตราภาษีใหม่ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน

          ”กทม.จะขอความชัดเจน ไม่ให้ใช้ดุลพินิจในการประเมินภาษีว่าแบบไหนจะเข้าเกณฑ์หรือไม่เข้าเกณฑ์ ที่อยู่อาศัยหรือเกษตรกรรม โดยต้องกำหนดให้ชัด เช่น ที่ดินเกษตรกรรมต้องพัฒนาบนพื้นที่สีเขียวตามที่ผังเมืองรวมกำหนด ไม่ใช่อยู่บนพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรม หากจะมีการทบทวนใหม่คงต้องเป็นการเก็บภาษีของปี 2566 แต่ขึ้นอยู่กับสภา กทม.จะอนุมัติหรือไม่” แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าว

          คงต้องลุ้นไอเดีย “ผู้ว่าฯชัชชาติ” จะเป็นจริงได้ มากน้อยแค่ไหน แต่แค่ขายไอเดียผ่านสื่อ ก็ทำให้เศรษฐีที่ดินสะดุ้งกันเป็นแถว

Reference: