หั่นจีดีพี65เหลือ2.7-3.2% เหตุโลกป่วน-เงินเฟ้อ-หนี้พุ่ง
หั่นจีดีพี65เหลือ 2.7-3.2% เหตุโลกป่วน-เงินเฟ้อ-หนี้พุ่ง
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2 ปี 65 ขยายตัว 2.5% ฟืนตัวต่อเนื่อง จากไตรมาสแรก ที่ขยายตัว 2.3% ปรับประมาณการทั้งปีใหม่เป็น 2.7-3.2% จากเดิม 2.5-3.5% เหตุโลกยังมีความขัดแย้ง ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาสหรัฐฯ-จีน-ไต้หวัน เงินเฟ้อขยับ หนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจเพิ่ม ความไม่แน่นอนโควิด-19 ระบาด และน้ำท่วม แนะดูแลสินค้า รายได้เกษตรกร แก้ปัญหาหนี้สิน ดันส่งออก หนุนท่องเที่ยว ดึงลงทุน เร่งรัดเบิกจ่าย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2565 ขยายตัว 2.5% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัว 2.3% ทำให้ช่วงครึ่งปี 2565 ขยายตัวได้ 2.4% โดยได้แรงหนุน จากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในประเทศตามการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 และความคืบหน้าการฉีดวัคซีน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟืนตัวเป็นปกติ การเพิ่มขึ้นของภาคการท่องเที่ยว จากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ และการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของภาค การเกษตร ที่สินค้าสำคัญหลายตัวราคาดีขึ้น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ สศช. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2565 ใหม่ จากเดิม 2.5-3.5% เป็น 2.7-3.2% โดยปรับตัวล่างเพิ่มขึ้น และปรับลดตัวบนลงมา แต่ค่ากลางยังคงเดิมที่ 3% เนื่องจากมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้งสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งใหม่สหรัฐฯ-จีน-ไต้หวัน ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของหลายประเทศ ภาวะหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนของการระบาดของ โควิด-19 และฝีดาษลิง และความเสี่ยงจากอุทกภัย
ทั้งนี้ สศช.ได้ปรับสมมติฐานสำคัญที่นำมาใช้ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ ได้แก่ เศรษฐกิจโลก เพิ่ม 3.3% จากเดิม 3.5% การค้าโลก เพิ่ม 4.3% จากเดิม 4.7% อัตราแลกเปลี่ยน 34.50-35.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิม 33.30- 34.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ รายได้จากนักท่องเที่ยว 6.6 แสนล้านบาท จากเดิม 5.7 แสนล้านบาท โดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.5 ล้านคน จากเดิม 7 ล้านคน การบริโภคภาคเอกชน เพิ่ม 4.4 การบริโภคภาครัฐ ลด 0.2% การลงทุนรวม เพิ่ม 2.8% การส่งออก เพิ่ม 7.9% การนำเข้า เพิ่ม 12.4% และเงินเฟ้อ เพิ่ม 6.3-6.8%
นายดนุชากล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ รัฐบาล ควรให้ความสำคัญกับการดูแลราคาสินค้าให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่กับการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง การดูแลการผลิตภาคการเกษตรและรายได้เกษตรกร การแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย จากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ที่จะกระทบต่อภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจ การขับเคลื่อนการส่งออกด้วยการเร่งหาตลาดใหม่ เพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศที่เศรษฐกิจฟืนตัว และเร่งตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ต้องสนับสนุนการฟืนตัวของการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ส่งเสริมการลงทุนและแก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุน และส่งเสริมการลงทุนใน EEC เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ เป็นต้น ส่วนรัฐ จะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2565 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 92.5% ของกรอบงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 65% รวมทั้งการเบิกจ่ายโครงการตามพ.ร.ก.เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาทในส่วนที่เหลือ และต้องติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง.
Reference: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา