สั่งปั้นมาตรการกระตุ้นศก.
ถกบิ๊กตู่ผ่อนปรนต่างชาติเที่ยว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ร่วมกับผู้บริหารทุกกรมของกระทรวงการคลัง รวมทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ และเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไตรมาส 3 ว่า ได้สั่งการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และอธิบดีกรมจัดเก็บภาษี เร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม เช่น เรื่องภาษี ถ้าร้านค้าที่กลับมาเปิดขายของแล้ว แต่ยังขายไม่ดีก็จะเข้าไปช่วย เพราะรัฐบาลไม่ต้องรอคนตกงานแล้วค่อยไปเยียวยา
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังต้องเตรียมมาตรการช่วยรับภาระบางส่วน เช่น เรื่องการจ้างงาน บางกิจการห้ามไล่พนักงานออก โดยรัฐต้องช่วยให้สามารถลดค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ แต่มีข้อแลกเปลี่ยนว่า อย่าปลดพนักงาน เป็นต้น
”เมื่อคลายล็อกดาวน์ แต่คนยังไม่กล้าไปซื้อของ ร้านค้าก็ยิ่งได้รับผล กระทบหนัก เพราะต้องมีรายจ่ายเข้ามาเพิ่ม แถมรายได้ก็ไม่ดีเหมือนก่อน อีกไม่ช้าจะอยู่ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องไปดูว่าจะมีมาตรการจูงใจเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายหรือไม่ โดยอธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า ถ้าเป็นมาตรการภาษี เพื่อช่วยเหลือร้านค้าที่ได้รับผลกระทบ เปิดร้านแล้วไม่มีรายได้ ก็สามารถเลื่อนการชำระภาษีได้”
นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่กระทรวงการคลังสามารถช่วยได้มาก คือการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และทุกกรมสังกัดกระทรวงการคลัง ต้องแบ่งพื้นที่ในประเทศไทย เป็นจังหวัด เป็นอำเภอ จะทำโรงทาน อย่างน้อย 1 มื้อให้ชาวบ้าน ในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า เพราะเศรษฐกิจมีปัญหามากขึ้น ต้องเข้าไปช่วยลดค่าใช้จ่ายชาวบ้านวันละ 1 มื้อ ระดมความช่วยเหลือภาคเอกชนเข้ามา ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง 1 มื้อสำหรับชาวบ้านสำคัญมาก ขอให้คนยากจนได้มีโอกาสตรงนี้
ขณะเดียวกันยังเร่งให้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้แล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ส่วนการท่องเที่ยวต่างประเทศ ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเพื่อผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เข้ามาท่องเที่ยวในไทยให้มากขึ้น ต้องคัดกรองประเทศที่ไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดโควิด เพื่อดึงรายได้จากต่างประเทศเข้ามาจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3-4 และต้นปีหน้าให้ได้
ทั้งนี้ยังกำชับให้คลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ไปดูแลการใช้จ่ายเงินพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท พ.ร.ก. ซอฟต์โลน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพการเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งทั้งหมดผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วและต้องมั่นใจว่าเงินเยียวยาทั้งหลายลงไปสู่ประชาชนอย่างครบถ้วน รวมถึงในส่วนของประกันสังคมที่ยังร้องเรียนอยู่ ได้มอบให้ปลัดกระทรวงการคลังประสานกองทุนประกันสังคมเพื่อติดตามให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือโดยเร็ว
นอกจากนี้ยังได้หารือกับ ก.ล.ต. จัดตั้งกองทุนที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ยังไม่ได้เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ โดยมีแนวคิดต้องมีคนมาลงขันในกองทุนเหล่านี้ เพื่อมาลงทุนในบริษัทที่ต้องการช่วยเหลือ ซึ่ง ก.ล.ต.ได้ขอมาตรการทางภาษีที่จูงใจให้สามารถระดมทุนก้อนนี้
Reference: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์