ธอส.มั่นใจสินเชื่อเข้าเป้าแสนล้าน คาดยอดหนี้เสียทั้งปีแตะ4.75%
ธอส. มั่นใจยังสามารถ ปล่อยสินเชื่อปี 63 ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 1 แสน ล้านบาท และคาดหนี้เมื่อถึงเสียสิ้นปีจะอยู่ที่ระดับ 4.75% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.69% เตรียมประเมินศักยภาพในการชำระหนี้ของ ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการลดผลกระทบจากโควิด-19 ก่อนที่มาตรการพักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยของ ธอส. จะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ต.ค. 63
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย โดยปัจจุบันสามารถปล่อยสินเชื่อได้ถึง 9.7 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าภายในวันที่ 30 มิ.ย.63 จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งจากเป้าที่วางไว้ของปี 63 เมื่อเทียบจากก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ได้วางไว้ที่ 2.1 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา แม้จำนวนลูกค้าจะลดลงบ้างก็ตาม แต่ยอดเงินกู้เฉลี่ยต่อรายสูงขึ้น รวมทั้ง ธอส. ได้ออกมาตรการต่างๆ อีกหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้า ทั้งในเรื่องการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสุดเพียง 1.99% ต่อปี และการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี หากได้รับการอนุมัติก็จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย MRR แบงก์รัฐลดลงได้อีก
ด้านสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของ ธอส. ในปัจจุบันจะอยู่ที่ 4.69% เพิ่มขึ้นจากปี 62 ซึ่งเคยอยู่ที่ 4.09% แต่คาดว่าเมื่อถึง สิ้นปี 63 NPLs อยู่ที่ 4.75% อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ธอส. ยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้
สำหรับมาตรการช่วยโควิด-19 ของ ธอส. ทั้ง 8 มาตรการนั้น มีลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ 4.1 แสนล้านบาท เทียบจากพอร์ตสินเชื่อรวม 1.2 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้จะมีลูกค้าขอพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยประมาณ 2 แสนราย วงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ ธอส. ไม่ได้ติดต่อกับลูกค้ามากนัก
ดังนั้น ธอส. จึงเตรียมที่จะเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือจาก ผลกระทบโควิด-19 เพื่อประเมินศักยภาพหรือ ความสามารถในการชำระหนี้ 60 วันล่วงหน้า ก่อนที่มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ของ ธอส. จะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ต.ค. 63 เพื่อพิจารณาว่าลูกค้าจะมีศักยภาพชำระหนี้มากแค่ไหน รวมทั้งธนาคารฯ ต้องหามาตรการประนอมหนี้แบบพิเศษมาช่วยหรือไม่ แต่หากลูกค้าในกลุ่มนี้ไม่สามารถกลับมาฟื้นตัว ได้ถึง 90% แล้ว อาจจะต้องมีการออกมาตรการ ช่วยเหลือเพิ่มเติมหลังสิ้นเดือน ต.ค. 63
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการบ้านล้านหลัง ในปัจจุบันมีประชาชนมายื่นขอเข้าร่วมโครงการแล้ว 28,000 ราย วงเงิน 22,000 ล้านบาท โดยเฉลี่ยยอดขอเข้าร่วมโครงการเดือนละ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อนับจากนี้ไปประมาณปีครึ่งจนสิ้นสุดโครงการคาดว่าจะเต็มตามกรอบวงเงิน 50,000 ล้านบาท เนื่องจากการปรับราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านบาทตาม มติ ครม. จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยมีทางเลือกในการหาซื้อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้นด้วย
Reference: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา