ธปท.ห่วงโควิด-19ฉุดเศรษฐกิจอัดซอฟต์โลน-ยืดอายุไกล่เกลี่ยหนี้

15 Apr 2021 577 0

          ธปท.ห่วงโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจและประชาชน เร่งอัดมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟู เตรียมวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2.5 แสนล้านบาท โกดังอสังหาฯ 1 แสนล้านบาท พร้อมยืดอายุ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” ถึงมิถุนายน 64 เพื่อพยุ่งให้ผู้ประกอบการและเศรษฐกิจ คาดมาตรการจะเริ่มได้ในเดือนพฤษภาคมนี้

          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการระบาดของ COVID-19 นับตั้งแต่ปี 2563 กว่าจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 ได้ในไตรมาส 3 ปี 2565 โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว เช่น กลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีการจ้างงานสูงกว่า 10 ล้านคน และต้องใช้เวลา 4-5 ปี กว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเข้าใกล้ระดับก่อนการระบาด สถานการณ์ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและยังมีความไม่แน่นอนสูงดังกล่าว ทำให้ภาคธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น รวมถึงบางส่วนที่มีหนี้เดิมค้างชำระอยู่ อาจมีข้อจำกัดในการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ยังไม่สามารถประเมินรายได้และกระแสเงินสดได้

          ในการให้ความช่วยเหลือภายใต้มาตรการ ฟื้นฟูฯ ได้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรทั้งของภาครัฐและเอกชนให้เกิดประสิทธิผลและมีประโยชน์สูงสุด โดยสภาพคล่องจะถูกส่งผ่านไปยังกลุ่มลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รักษาการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานและปรับรูปแบบธุรกิจ ให้กลับมาสร้างรายได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

          ธปท. และ ภาครัฐยังมีนโยบายลักษณะอื่นเพื่อรองรับความต้องการที่ต่างกัน อาทิ กลุ่มรายย่อยที่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว ภาครัฐมี นโยบายเสริมสภาพคล่อง โดยเพิ่มรายได้ผ่านโครงการต่างๆ สำหรับกลุ่มที่ต้องแก้ไขหนี้เดิม มีมาตรการพักหนี้ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อเร่งบรรเทาปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว นอกจากนี้ ธปท. ได้ออกหลักเกณฑ์การปรับฐานและอัตราการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและมีปัญหาในการชำระหนี้ เพื่อช่วยลดภาระและสร้างความเป็นธรรมในการใช้บริการทางการเงินของประชาชน รวมถึงลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน

          ที่ผ่านมา ภาครัฐ สถาบันการเงินในฐานะเจ้าหนี้ และสมาคมหรือสภาต่างๆ ในฐานะลูกหนี้ ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในการพิจารณาถึงรูปแบบของมาตรการที่เน้นสนับ สนุนให้เกิดการส่งผ่านความช่วยเหลือตามกลไกตลาด และประสานประโยชน์ร่วมกันจากทุกภาคส่วน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและบริบท ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งทุกฝ่ายมีความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการนี้ โดยธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศ จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจให้กลับฟื้นตัวและแข่งขันได้ เช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่จะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อและตอบสนองนโยบายของรัฐในการลดช่องว่างทางการเงิน

          นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพแต่ยังได้รับผลกระทบ จะได้รับประโยชน์จากมาตรการฟื้นฟูฯ เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และพร้อมกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เติบโต แข็งแรง และแข่งขันได้ มาตรการฟื้นฟูฯ จะเริ่มดำเนินการได้ ภายหลังแล้วเสร็จตามขั้นตอนการออกกฎหมาย คาดว่า จะดำเนินมาตรการได้ในเดือนพฤษภาคมนี้

          สำหรับลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตร เครดิต คือจะมีการต่ออายุโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรและสินเชื่อส่วนบุคคล” ที่ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 14 เมษายน 2564 ออกไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 และ ธปท. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการหารือเพื่อสร้างมาตรฐานกลางในคดีผู้บริโภคประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ คดีเช่าซื้อ และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมเตรียมการไกล่เกลี่ยหนี้รายสถาบัน อีกด้วย

          โดยมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ได้รับความสนใจจากลูกหนี้จำนวนมาก โดยได้ยื่นขอไกล่เกลี่ยหนี้ ณ วันที่ 5 เมษายน 2564 จำนวนผู้ลงทะเบียน 225,453 คน 462,840 รายการ ซึ่งสถาบันการเงินและลูกหนี้ต่างเห็นความสำคัญของการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทั้ง 2 ฝ่าย และล่าสุด ธปท.ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการไกล่เกลี่ยและการเงิน เพื่อเอื้อต่อการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้

          ในปี 2564 ธปท. และพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ ได้ตั้งเป้าจะลดปริมาณคดีทางการเงินที่จะเข้าสู่ศาลด้วยการไกล่เกลี่ยได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคดี คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนคดีแพ่ง เพราะการฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นภาระทั้งต่อตัวลูกหนี้และเจ้าหนี้ เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่ระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศต้องแบกรับ ซึ่งรายงานของธนาคารโลกระบุว่าการดำเนินคดีแพ่งในไทยมีค่าใช้จ่ายคิดเป็นร้อยละ 16.9 ของทุนทรัพย์ ที่สำคัญแต่ละปีมีคดีเข้าสู่กระบวนการศาลเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2562 มีเกือบ 1.9 ล้านคดี และเป็นคดีแพ่งถึง 1.2 ล้านคดี

Reference: