คอลัมน์ Smart EEC: EECพลิกโฉม ตลาดอสังหาฯหลังวิกฤต

25 Jun 2021 528 0

          ดร.อรุณ ศิริจานุสรณ์

          นักวิชาการอิสระและผู้อำนวยการสถาบันพรีโม่ อะคาดิมี่


          EEC นั้นย่อมาจาก Eastern Economic Corridor  ซึ่งมีอีกชื่อเป็นภาษาไทยว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) คือ โครงการภายใต้พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ประกาศเริ่มใช้ ในปี 2561 โครงการนี้ส่งผลหลายประการต่อเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศไทย แน่นอนว่าวงการอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น

          ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโครงการ EEC ก่อนที่เราจะกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลง ในวงการอสังหาริมทรัพย์หลังมี EEC คุณอาจสงสัยว่า EEC คืออะไร เราจึงอยากให้คุณทำความรู้จักกับโครงการภายใต้พระราชบัญญัตินี้ โดยสังเขปกันก่อน ดังนี้

          1. โครงการนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2561

          2. EEC ครอบคลุม 3 จังหวัดในภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง 3. Eastern Economic Corridor นั้นต่อยอดมาจาก Eastern Seaboard (ESB) หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่เริ่มใช้ในปี 2520 และใช้กันเรื่อยมาจนถึงปี 2550 4. โครงการนี้ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นพัฒนาเพียง ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านการท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม บุคลากร การศึกษา การวิจัย ธุรกิจ การเงิน เทคโนโลยี และอีกมากมาย

          ความคืบหน้าของโครงการ EEC

          การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญใน EEC มีความคืบหน้าไปมาก โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นผู้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สำคัญได้ลงนามกับคู่สัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรายละเอียด มีดังนี้

          1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567

          2. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 คาดว่า การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569

          3. โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ตั้งอยู่ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองคาดว่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้าง ได้ในไตรมาส 2 ปี 2564 และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี

          ผลของ EEC ต่อวงการอสังหาริมทรัพย์

          โครงการ EEC ทำให้ผู้ประกอบการทางธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไทย หรือต่างชาติ ขยายกิจการมาในภูมิภาคนี้กันมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการพลิกโฉม วงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะการหลั่งไหลของผู้ประกอบการนั้นทำให้ภูมิภาคนี้ เป็นพื้นที่ยอดนิยมแห่งใหม่ในการขายบ้านและที่ดินในปัจจุบัน 1. มีผู้มาลงทุน เพื่อสร้างโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมในภาคตะวันออกมากขึ้น

          2. มีผู้ย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ มาอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกมากขึ้น เนื่องจาก มีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และธุรกิจอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวในเขตปกครองพิเศษพัทยา ในจ.ชลบุรี ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเกือบ 15 ล้านคนในปีที่ผ่านมา หรือธุรกิจน้ำมัน ในจ.ระยองที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง แน่นอนว่าความต้องการแรงงานก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

          ผู้ที่กำลังหางานอาจจะเลือกมาอยู่อาศัยในภูมิภาคนี้ที่มีโอกาสความก้าวหน้า ทางการงาน พร้อมโอกาสที่จะเป็นเจ้าของบ้านที่มีพื้นที่กว้างกว่าในราคาที่ถูกกว่าบ้านในกรุงเทพฯ และไม่ต้องผจญกับการจราจรที่ติดขัดมากด้วย

          3. มีชาวต่างชาติสนใจซื้อหรือเช่าบ้านหรือคอนโดในบริเวณนี้มากขึ้น ในฐานะ ที่เขต EEC เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ บริษัทจากต่างประเทศจึงมาลงทุนกัน มากขึ้น และนายจ้างหรือพนักงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทย จึงต้องการที่อยู่อาศัย นี่ยังไม่รวมถึงชาวต่างชาติที่ต้องการใช้ชีวิต ในวัยเกษียณในเขตนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกว่าในต่างประเทศหรือในกรุงเทพฯ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่น่าอยู่ทั้งทะเลและภูเขา รวมถึงความสะดวกสบายในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ด้วยเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง

Reference: