กนง.หั่นจีดีพีเหลือ 0.7%

06 Aug 2021 559 0

          กนง.เสียงแตก 4 ต่อ 2 คงดอกเบี้ย ฝั่งเสียงข้างน้อยอยากให้ลด 0.25% ส่วนมุมมองต่อเศรษฐกิจหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 0.7% ยอมรับปัจจัยเสี่ยงเต็มลำเรือ โควิดยืดเยื้อคุมไม่ได้ไปจนปลายปี ฉุดจีดีพีลบ 1.1% ย้ำอีกรอบเร่งคุมการระบาด-กระจายวัคซีน จับตาเงินบาทอ่อนค่าแตะ 33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

          นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมล่าสุดวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา กนง.มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 2 เสียง ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย 4 เสียงให้คงดอกเบี้ยต่อเนื่องไป โดยส่วนใหญ่เห็นว่าการเร่งรัดมาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่กรรมการอีก 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า

          ในการประชุมครั้งนี้ กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากกว่าที่ประเมินไว้ และได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจเป็นครั้งพิเศษ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.7% ในปีนี้ ลดลง 1.1% จากตัวเลขประมาณการครั้งก่อนที่ 1.8% โดยปัจจัยที่ทำให้ปรับลดประมาณการมาจาก 3 ด้านคือ 1.เครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าคาดฉุดเศรษฐกิจลง -0.2% 2.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ฉุดเศรษฐกิจลง-1.1% 3.นโยบายการเปิดประเทศที่ล่าช้าและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ฉุดเศรษฐกิจลง-0.3%

          สำหรับโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การเร่งควบคุมการระบาดและกระจายวัคซีน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้กลับมาขยายตัวเป็นปัจจัยหลัก ขณะที่มาตรการทางการคลังและการเงินจะต้องเร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันกาลยิ่งขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อเป็นตัวประคองเศรษฐกิจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ โดย กนง.เห็นว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูง การช่วยเหลือต้องเร่งผลักดันผ่านการกระจายสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยมองว่าต้องเร่งรัดประสิทธิภาพของมาตรการทางการเงิน สินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีก ขณะที่พบว่า ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ

          ”ขณะเดียวกันได้สั่งให้ ธปท.ติดตามดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาคตามปัจจัยลบในประเทศอย่างใกล้ชิด”

          ด้านนางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 33.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทรงตัวใกล้เคียงจากปิดตลาดที่ 33.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นค่าเงินบาทได้อ่อนค่ามาอยู่ที่ 33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันทะลุ 20,000 ราย

          ”ค่าเงินบาทสิ้นไตรมาส 3 จะอ่อนค่าแตะ 33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และสิ้นปีขึ้นมาอยู่ที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว”

Reference: