แพ็คเกจภาษีดันศก. 2.6แสนล.
เปิดเฟสใหม่เยียวยา ขรก.-ลูกจ้างรายได้น้อย
ครม.อัดมาตรการภาษี ลดค่าใช้จ่ายประชาชน หวังเงินหมุนเวียน 2.6 แสนล้านบาท เลื่อนยื่นแบบภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย แวต พร้อมต่ออายุลดภาษีที่ดิน 90% “คลัง” ตั้งงบ 4.1 หมื่นล้านชดเชยให้ อปท.พร้อมเปิดเฟสใหม่เยียวยาข้าราชการ-ลูกจ้างรายได้น้อย เตรียมโอนเงิน “เราชนะ” ชุดแรก 5 ก.พ.นี้
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (26 ม.ค.) เห็นชอบมาตรการด้านภาษี หลายด้านเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของ ประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการเลื่อนการยื่นแบบภาษีประเภทต่างๆที่จะทำให้เงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ 265,700 ล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาตรการลดภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง และลดค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยประจำปี 2564 เพื่อบรรเทาภาระประชาชนช่วงโควิด-19 และลดค่าใช้จ่ายประชาชนดังนี้
1. มาตรการลดภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง พิจารณาลดภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างปี 2564 อัตรา 90% ตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ โดย ครม.เห็นชอบ บรรเทาผลกระทบองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่สูญเสียรายได้ จากมาตรการนี้ในปีภาษี 2564 วงเงิน 41,445 ล้านบาท
2. มาตรการลดค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับ ที่อยู่อาศัย โดยลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% เฉพาะการซื้อขายที่ดินพร้อมอาคาร ประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ จากผู้จัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือห้องชุดจากผู้ประกอบการ ที่จดทะเบียนอาคารชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย
ทั้งนี้การจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการคราวเดียวกัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564
เลื่อนยื่นแบบภาษี3รายการ
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอเลื่อนเวลายื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังนี้
1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2563(แบบ ภ.ง.ด.90 แบบ ภ.ง.ด.91) ที่ต้องยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มี.ค.2564 ให้ขยายถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 เฉพาะแบบยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต
2.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (แบบ ภ.ง.ด. 1 แบบ ภ.ง.ด. 2 แบบ ภ.ง.ด. 3 แบบ ภ.ง.ด. 53 และ แบบ ภ.ง.ด. 54) ขยายเวลายื่นถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ต้องยื่น โดยเริ่มขยายเวลายื่นเดือน ก.พ.-มิ.ย.2564 เฉพาะที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต
3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ. 30 แบบ ภ.พ. 36) ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ถึงวันสุดท้าย ของเดือนที่ต้องยื่นให้เริ่มขยายเวลาสำหรับการยื่นในเดือน ก.พ.-มิ.ย.2564 เฉพาะที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้กระทรวงการคลังรายงาน ครม.รับทราบว่าการขยายระยะเวลาการยื่นภาษีของประชาชนทั้ง 3 รายการจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 265,700 ล้านบาท ซึ่งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบจากภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายเป็นเวลา 5 เดือน เดือนละ 2.15 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเงิน 107,500 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 5 เดือน เดือนละ 29,520 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 147,600 ล้านบาท
คลังคาดเข้าโครงการ31.1ล้านคน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดูแลกลุ่มไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเข้าร่วมโครงการ”เราชนะ”เพื่อรับเงินเยียวยาว่า คลังจะดูแลทุกคนโดยใช้เครือข่ายแบงก์รัฐช่วย รวมทั้งขอร่วมมือกระทรวงมหาดไทยช่วยเหลือลงทะเบียนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ 4 โดยลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.นี้ ส่วนกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อยและลูกจ้างเป็นมาตรการที่กำลังพิจารณาอาจ แยกจาก “เราชนะ” เพราะข้าราชการมีกติกาอยู่ คือ เรื่องการรับเงินเดือน
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งครอบคลุมกรณีบริการขนส่งที่เป็นนิติบุคคล ได้แก่ ขสมก.และรถร่วม ขสมก.รถไฟฟ้า และ รถไฟ กรณีขนส่งส่วนบุคคล แท็กซี่สามล้อรับจ้างวินมอเตอร์ไซค์ต้องลงทะเบียน ซึ่งจะประสานกับกระทรวงคมนาคม และธนาคารกรุงไทย ติดตั้งระบบใช้เป็นค่าบริการได้ ซึ่งผู้มีบัตรสวัสดิการจะมีวงเงินเดิมอยู่แล้ว 500 บาท สำหรับค่าเดินทาง แต่กรณี”เราชนะ”จะขยายเพิ่มใหม่
นายอาคม กล่าวว่า เบื้องต้นประเมินผู้ร่วมโครงการเราชนะ 31.1 ล้านคน กรณีที่มีความต้องการมากกว่าจะขยายหรือไม่ต้องดูตัวเลขก่อน เพราะมีเกณฑ์คุณสมบัติหลังคัดกรอง และกลุ่ม 3 มีเท่าไหร่ ขอให้ลงทะเบียนก่อน แต่คิดว่าใน 31.1 ล้านคนครอบคลุม ไม่รวมกลุ่มพิเศษข้าราชการ ชั้นผู้น้อย ลูกจ้าง ส่วนนี้จะแยกเป็นเฟสใหม่แต่ถือว่าอยู่ในมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนจำนวนเท่าไหร่ขอหารือกับกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินเดือนข้าราชการ
โอนเงินวันแรก 5 ก.พ.
สำหรับกลุ่มคนที่จะได้รับสิทธิ์ในโครงการเราชนะแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มแรก ผู้ถือบัตรสวัสดิการของรัฐ 14 ล้านคน ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิ์ในโครงการเราชนะโดยอัตโนมัติ โดยในวันที่ 5 ก.พ.2564จะเป็นวันแรกที่โอนเงิน เข้าบัตรให้กับคนกลุ่มนี้
กลุ่ม 2 เป็นกลุ่มคนที่ลงทะเบียนในโครงการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งสามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ตั้งแต่ 5 ก.พ. ผ่าน www.เราชนะ .com ส่วนกลุ่ม 3 อยู่นอกจาก กลุ่ม 1-2 ลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ.com ตั้งแต่ 8 ก.พ.ถึง 12 ก.พ.นี้
”มูลค่ารวมของแพ็คเกจ กระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของรัฐบาล เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบใหม่มีมูลค่ารวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท” นายอาคม กล่าว
ลดค่าโอนบ้านเพิ่มกำลังซื้อ
นายอาคมกล่าวถึง กรณี ครม.ลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและปลูกสร้างลง 90% ว่ากรณีนี้คนที่มีกำลังทรัพย์อาจจะช่วยประหยัดเงินภาษีเพื่อนำไปใช้จ่ายกระตุ้นกำลังซื้อได้อีกทาง ส่วนกรณี ลดค่าธรรมเนียมการโอนนั้นเป็นการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เป็น การช่วยเหลือกรณีที่อาจจะมีค่า ใช้จ่ายอื่น เช่น อาจมีกิจการส่วนตัว และมีที่ดิน เมื่อมีโควิด-19 อาจบอกคนงานไม่ต้องมาทำงาน เมื่อเหตุการณ์ยาวนานเป็นเหตุที่ต้องประหยัดเงิน ส่วนนี้จะเสริมการใช้จ่ายดูแลพนักงานได้
นายอาคม กล่าวถึงการเรียกเงินเบี้ยยังชีพจากคนชราคืนเพราะเป็นผู้มีสิทธิรับบำนาญข้าราชการนั้น ชี้แจงว่า ใครที่ได้รับบำนาญจากภาครัฐไม่มีสิทธิได้เบี้ยผู้สูงอายุ เพราะเป็นเงินของรัฐตามกฎหมาย ดังนั้น อปท.ต้องไปเจรจาขอคืน ซึ่งจะไม่ได้ให้จ่ายเป็นก้อนเดียวแต่จะให้ทยอยคืนเป็นงวด
”เพื่อป้องกันปัญหาลักษณะนี้จะเรียกกรมบัญชีกลาง และ อปท.เข้ามาคุยกันว่าเงินส่วนที่ผู้สูงอายุควรได้เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ควรนำมาปนกับเงินบำนาญที่เกิดจากการสูญเสียญาติพี่น้อง หรือมรดกตกทอด เพราะเงินผู้สูงอายุเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ผู้สูงวัยควรได้รับเฉพาะผู้ที่ไม่ได้อยู่ระบบหลักประกันหรือรับข้าราชการ ควรแยกจากกันให้ชัดเจน”
ลดประกันสังคมหมุน ศก.
นายอนุชา กล่าวว่าครม.เห็นชอบ การลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.2564) โดยลดอัตราเงินสมทบ ฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ 0.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน จากเดิม 3% ส่วนฝ่ายนายจ้างคงอัตราเดิมโดยส่งเงินสมทบ 3% และฝ่ายรัฐสมทบอัตราเดิม 2.75%
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดจากเดือนละ 278 บาท เหลือ 38 บาท ทำให้นายจ้าง 486,192 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.1 ล้านคน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.83 ล้านคน ลดภาระค่าใช้จ่าย โดยนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเสริมสภาพคล่อง เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.นี้ 23,119 ล้านบาท
ทั้งนี้ การลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนในครั้งนี้ ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมเก็บเงินสมทบได้ลดลง 7,166 ล้านบาท และหากรวมการลดอัตราเงินสมทบครั้งที่ 1 (มี.ค.-พ.ค.2563) ครั้งที่ 2 (ก.ย.-พ.ย.2563) และการลดปัจจุบันตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค.2564 เงินสมทบทั้งหมดรวม 9 เดือนจะ ลดลง 68,669 ล้านบาท
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ