แบงก์ ปฏิเสธปล่อยกู้บ้านพุ่ง กรุงไทย รับคุมเข้มอิงภาวะเศรษฐกิจ หวั่นลูกค้าหนี้เกินตัว

09 Nov 2020 597 0

          “ธปท.” เผยแบงก์มียอด ปฏิเสธสินเชื่อไตรมาส3/63พุ่ง ภาคเหนือหนักสุด 40-50% “กรุงไทย”ยอมรับปล่อยกู้ เข้มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หวั่นลูกค้ามีหนี้เกินตัว “กรุงศรี” ประเมินภาพรวมปล่อยกู้บ้านใหม่ ติดลบสองหลัก ด้าน”ทหารไทย”คาดเอ็นพีแอลสิ้นปี 4.35%  คิดเป็นมูลค่า 1.1แสนล้าน

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)รายงานแนวโน้มธุรกิจไตรมาส3และ แนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2563  โดยเปิดทิศทาง อสังหาริมทรัพย์ไทยรายภูมิภาค พบว่า ตลาดอสังหาฯไทยยังชะลอตัว ซึ่งตลาดอสังหาฯราคาระดับกลางถึงสูงยังไปต่อได้ เนื่องจากลูกค้าระดับกลางถึงบนยังมีความต้องการที่อยู่อาศัย แต่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งอาคารชุดและบ้านแนวราบระดับราคาล่างถึงกลางที่ขายได้ยากขึ้น ขณะผูประกอบการอาจมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังหมดมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไป

          ทั้งนี้ หากดูการปล่อยสินเชื่อตลาด อสังหาฯ รายภาคในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง พบว่า มียอด ปฏิเสธสินเชื่อหรือ Rejection Rate เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ภาคเหนือ ความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีแต่ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเห็นจากยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น 40-50% แม้เคยทำ Pre-approve ไว้ก่อนหน้า

          ขณะที่ภาคใต้พบว่า ลูกค้าที่ประกอบ อาชีพเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว มีปัญหา ในการเข้าถึงสินเชื่อ โดยลูกค้าเจอทั้งการกดรายได้ให้ต่ำกว่าความเป็นจริง การพิจารณาสัดส่วน LTV ที่ต่ำกว่าปกติ หรืออาจไม่ได้รับการพิจารณาสินเชื่อเลย

          นายผยง ศรีวณิช กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อบ้านสอดคล้องกับเศรษฐกิจ สอดคล้องกันทั้งระบบที่มีความเข้มงวดมากขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง ดังนั้นก็เป็นสิ่งที่ธนาคารต้องระมัดระวัง เพื่อดูแลฐานทุน ของธนาคารขณะเดียวกัน ปัจจุบันภายใต้ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น จากภาระหนี้ของ ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ธนาคารก็ไม่อยากให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เกินควร โดยการคำนึง ถึงการปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดรับชอบ หรือ Responsible lending

          ด้านนายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหาร สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา(BAY) กล่าวว่า การพิจารณา สินเชื่อบ้านกับลูกหนี้ ส่วนใหญ่แบงก์จะพิจารณาจากความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก แต่ปัจจุบันพบว่าลูกหนี้ ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อแบงก์ได้ เพราะลูกหนี้มีฐานะการเงินอ่อนแอลง รายได้ลดลง และมีภาระหนี้สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ถูกปฏิเสธสินเชื่อ ดังนั้นไม่ได้มาจากการที่แบงก์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่มาจากฐานะลูกหนี้ที่มีความสามารถชำระหนี้ลดลงเป็นหลัก

          สำหรับภาพรวมการปล่อยสินเชื่อ คาดการณ์ว่าปีนี้ สินเชื่อบ้านใหม่ น่าจะติดลบแน่นอนสองหลัก ซึ่งสอดคล้อง กันทั้งระบบ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอ และผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การซื้อ บ้านใหม่ลดลง แต่หากดูสินเชื่อคงค้างพบว่ายังเติบโตได้ในปีนี้ หลักๆมาจากการที่ธนาคารสามารถรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ได้ ทำให้ลูกค้าเก่าไม่รีไฟแนนซ์ออกจากแบงก์ ส่งผลให้สินเชื่อคงค้างยังเติบโตต่อได้ในปีนี้ จากปัจจุบันที่พอร์ตสินเชื่อบ้านคงค้างอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นหากเทียบกับที่สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท

          นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า หากคาดการณ์สินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ปีนี้ คาดว่าจะติดลบราว 10-12% หากเทียบกับปัจจุบันที่หดตัว 8% ซึ่งมาจากความสามารถในการขอสินเชื่อของลูกหนี้ ต่ำลง จากรายได้ที่ลดลงเป็นหลัก

          ขณะที่คาดสินเชื่อบ้านคงค้างปีนี้ น่าจะเติบโตลดลงมาอยู่ที่ 0.5% หรือ 2.3 แสนล้านบาท เป็นผลจากการเริ่มกลับมาชำระหนี้คืนมากขึ้น หลังหมดมาตรการช่วยเหลือ ทำให้อาจเห็นสินเชื่อ ลดลงได้ หากเทียบกับไตรมาส 3 ปีนี้ ที่สินเชื่อขยายตัว 3%

          สำหรับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดสิ้นปีจะอยู่ที่ 4.35% หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้เสีย 1.1แสนล้านบาท หากเทียบกับไตรมาส 3 ที่เอ็นพีแอล อยู่ที่ 4.14% หรือ 9.7 หมื่นล้านบาท

          โดยปัจจัยที่ทำให้หนี้เสียของสินเชื่อ บ้านเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลักๆมาจาก สภาพคล่องของลูกหนี้ตึงตัวมากขึ้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ ที่ผ่านมามีการหันไปพึ่งพาการกู้สินเชื่อ บุคคลมาช่วยพยุงในช่วงที่รายได้ ชะลอตัว ส่งผลให้ภาระหนี้ต่อรายได้หรือ DSR ของลูกหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิน 50% ของภาระหนี้ต่อรายได้ จนอาจกระทบต่อความสามารถชำระหนี้ในอนาคต ให้ลดลงได้ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีการระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น

          ”เราเชื่อว่าปัญหาหนี้จะยาวกว่า ระยะเวลาที่จะฟื้นตัวจากโควิด-19 เพราะเดิมสินเชื่อหดตัวอยู่แล้ว พอมีโควิด-19 ยิ่งเข้ามากระทบกำลังซื้อให้ยิ่งหดตัว ดังนั้นคาดปีหน้าก็ยังฟื้นตัว ยาก แม้จะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ภาระหนี้ยังท่วม ยังค้ำคอผู้กู้ จากภาระหนี้เกินรายได้ที่มีสูงขึ้น”

Reference: