แบงก์ ขยับดอกเบี้ยรายใหญ่สกัดเสี่ยง

07 Aug 2020 770 0

 

           ”แบงก์ชาติ” เผยผลสำรวจ สถาบันการเงิน พบเริ่มเข้มงวดสินเชื่อ รายใหญ่ ทั้งยังขยับดอกเบี้ยเพิ่ม หลังพบ ความเสี่ยงเริ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากพิษโควิดเศรษฐกิจชะลอ  ด้าน”ไทยพาณิชย์”ยอมรับ เริ่มขยับดอกเบี้ยขึ้น ชี้เป็นไปตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น “กสิกรไทย-ซีไอเอ็มบีไทย”จับตาลูกค้าธุรกิจใกล้ชิด

          ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผย ผลสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อ (Senior Loan Officer Survey) เป็นประจำทุกไตรมาส เพื่อสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลงานด้านสินเชื่อ ของสถาบันการเงิน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจ บัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-banks) เพื่อสร้างความเข้าใจในการ วิเคราะห์สินเชื่อที่ครบถ้วนและลึกซึ้ง มากยิ่งขึ้น ซึ่งแบบสอบถามครอบคลุมทั้งด้านอุปทานของสินเชื่อ อุปสงค์ของสินเชื่อ และแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในไตรมาสข้างหน้า

          ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าว มาจากการสอบถามธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 27 แห่ง ตลอดจน Non-banks 25 แห่ง ซึ่งครอบคลุม 98.6% ของสินเชื่อทั้งระบบ

          โดยจากผลสำรวจ ในไตรมาส 3 ปี 2563 พบว่า สถาบันการเงิน ยังคาดว่า ธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี จะยังต้องการสินเชื่อ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินทุนหมุนเวียน แต่อาจมีแนวโน้ม ชะลอลงบ้างเนื่องจาก บางธุรกิจได้เร่งขอสินเชื่อเพื่อสำรอง สภาพคล่องแล้วในช่วงก่อนหน้า

          ด้านมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ สถาบันการเงินจะระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ แก่ธุรกิจขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่ม interest margin หรือส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อ แก่เอสเอ็มอีโดยรวม คาดว่า จะใกล้เคียงเดิม

          แบงก์เริ่มขึ้นดบ.รายใหญ่

          ส่วนภาพรวมการปล่อยสินเชื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจต้องการสินเชื่อเพื่อหมุนเวียนมากขึ้น  ในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก หลังพบเงินทุน ในช่วงควบคุมโควิด-19 ลดลง ขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อ ในช่วงที่ผ่านมาพบแบงก์เข้มงวด การปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะใน ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่มองว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และคุณภาพสินเชื่อที่ลดลง จึงเพิ่ม interest margin และความเข้มงวดของเงื่อนไขประกอบสัญญาเงินกู้

          ขณะที่การให้สินเชื่อเอสเอ็มอี พบว่าการเข้มงวดน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการสินเชื่อของภาครัฐและการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

          สำหรับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อครัวเรือนไตรมาส 3 คาดว่า  การคลายล็อกดาวน์โควิด-19 หนุน ให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีแนวโน้ม ฟื้นตัว สำหรับสินเชื่อ เช่าซื้อรถยนต์ได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการซื้อรถยนต์ของกลุ่มที่ไม่ได้รับ ผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก และจากงานมอเตอร์โชว์ซึ่งเลื่อนออกมาจัดในเดือนก.ค.

          เข้มสินเชื่อครัวเรือนทุกประเภท

          ส่วนมาตรการการปล่อยสินเชื่อ คาดว่าจะใกล้เคียงเดิม จากไตรมาสสอง ที่พบว่า มีการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อครัวเรือนเข้มงวดขึ้น ทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อ บัตรเครดิตและเช่าซื้อรถยนต์ตามภาวะเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของผู้กู้ที่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สถาบันการเงินมองว่าหลักประกันของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีความเสี่ยงสูงขึ้น ตามราคารถยนต์มือสองที่ลดลง จึงเพิ่ม interest margin และเงื่อนไขหลักประกันสำหรับลูกค้ากลุ่มเสี่ยงเพิ่ม

          โควิดทำรายใหญ่สภาพคล่องหด

          ด้านนายวศิน  ไสยวรรณ  รอง ผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด- 19 รุนแรงจนส่งผลต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาก ประกอบกับสภาพคล่องในตลาดบอนด์ที่ตึงตัวจากความ ไม่มั่นใจในการลงทุน ส่งผลให้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการเสริมสภาพคล่องหรือยังมีความต้องการเงินทุนสำหรับ ใช้เป็นเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หรือ CAPEX จึงเห็นการขอสินเชื่อจากธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ตามธนาคารก็มี ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่เป็นปกติอยู่แล้ว และมีการติดตามลูกค้าบางกลุ่มใกล้ชิดเป็นพิเศษมากขึ้น โดยเฉพาะในบางธุรกิจที่ได้รับ ผลกระทบโดยตรง และโดยอ้อมจากโควิด-19 เช่นธุรกิจโรงแรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

          “การปรับราคา interest margin ที่ผ่านมาก็ปรับเพิ่มขึ้น บ้าง สาเหตุหลักมาจากความ ต้องการที่เพิ่มขึ้นในการกู้ยืมเงินจากธนาคารในช่วงไตรมาส 2 รวมถึง ความเสี่ยงของธุรกิจที่สูงขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง”

          นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อ ให้กับภาคธุรกิจ ที่ผ่านมาธนาคาร ไม่ได้ปรับขึ้น interest margin แต่จะ พยายามมองหากลุ่มลูกค้า ในกลุ่มต่างๆ ที่สามารถได้ interest margin ในระดับที่ดีขึ้นมากกว่า ซึ่งก็จะหนุน ให้ตัวธนาคารมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น ได้ เพื่อให้ธนาคารมีรายได้ เข้ามา รองรับการปล่อยสินเชื่อ และดูแล ความเสี่ยงในระยะข้างหน้าได้เพิ่มขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การปล่อยสินเชื่อของธนาคารก็ยังอยู่ในทิศทางระมัดระวัง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ที่อาจต้องดู ในด้านหลักประกันมากขึ้น ซึ่งเป็นไป ตามแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ และผลกระทบจากโควิด-19

          นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า การ ปล่อยสินเชื่อของธนาคารให้กับธุรกิจรายใหญ่ ก็ต้องมีการดูอย่างใกล้ชิด และระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ส่วนด้านราคาหรือดอกเบี้ย ที่คิดกับธุรกิจ รายใหญ่ ส่วนใหญ่ยังเท่าเดิม เพราะเชื่อว่า ธุรกิจรายใหญ่ ก็มีทางเลือกในการระดมทุนได้ ดังนั้นการปรับขึ้น ราคาอาจทำได้ไม่ง่ายนัก

 

Reference: