แบงก์รัฐ สั่งตรวจลูกหนี้ หวังรับมือ เอ็นพีแอลพุ่ง

29 Jun 2020 683 0

 

          ประธานสมาคมแบงก์รัฐ จี้สมาชิกเร่งสำรวจคุณภาพลูกหนี้ก่อน สิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือ หวังเตรียม ความพร้อมรับมือปัญหาหนี้เสียพุ่ง พร้อมขอ ครม. ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนแบงก์รัฐลง 50% ด้าน”ธอส.”เร่งกันสำรองหนี้เพิ่ม ขณะ”เอสเอ็มอีแบงก์”ยอมรับความสามารถชำระหนี้ของลูกค้าลดลง สั่งเช็ก คุณภาพลูกค้ารายเดือน ชี้หากไม่ดีขึ้น อาจขยายเวลาช่วยเหลือ ด้าน”เอ็กซิมแบงก์” เผยหนี้เสียเริ่มขยับ



          สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง จากมาตรการ”ล็อกดาวน์” สถานที่เสี่ยงสำคัญต่างๆ ส่งผลต่อรายได้ ของผู้ประกอบการ กระทบต่อเนื่องไปยัง การจ้างงาน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศ ไทย(ธปท.) และสถาบันการเงินต่างๆ ต้องออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เหล่านี้



          ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐหรือ “เอสเอฟไอ” ถือเป็นสถาบันการเงินอีกแห่ง ที่เข้าช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ โดยสั่งพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกค้าเป็นการทั่วไปนานถึง 6 เดือน ซึ่งมาตรการต่างๆ จะสิ้นสุดลงราวเดือนก.ย.นี้ อย่างไรก็ตามแม้เวลานี้รัฐบาลจะทยอยปลดล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับมาบ้าง แต่กำลังซื้อของประชาชนทั่วไปและรายได้ของ ภาคธุรกิจยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้คุณภาพหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้เริ่ม กลับมาเป็นประเด็นที่น่ากังวล



          สั่งแบงก์รัฐเช็กคุณภาพหนี้



          นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (เอสเอฟไอ)  กล่าวว่า ได้แนะนำให้แบงก์รัฐทุกแห่งเร่งสำรวจสถานะลูกหนี้ของตัวเองก่อนจะสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของ ลูกหนี้ โดยยอมรับว่าสถานการณ์หนี้ ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ในระยะข้างหน้ามีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น



          เขายอมรับว่า ตัวเลข NPL ในปัจจุบัน ไม่สะท้อนภาพความเป็นจริงมากนัก เนื่องจากสถาบันการเงินทุกแห่งได้นำมาตรการ ช่วยเหลือลูกหนี้มาใช้ ทั้งการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้สถานะหนี้ทรงตัว ดังนั้นฐานะลูกหนี้ที่แท้จริงคงต้องรอจนกว่ามาตรการเหล่านี้สิ้นสุดลง คือ ราวๆ เดือนก.ย.หรือต.ค. ถึงจะเห็นภาพว่าลูกหนี้ แต่ละรายเป็นอย่างไร



          ทั้งนี้ มาตรการพักชำระเงินต้น และ พักชำระดอกเบี้ย ทำให้สถาบันการเงินไม่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเลย คำถาม คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกค้าเหล่านี้จะกลับมามีความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ แต่ละแบงก์ต้องไปดูว่า พักชำระเงินต้น กับดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ในสัดส่วนเท่าใด  ถ้ามีจำนวนมาก จะประเมินความสามารถอย่างไรเมื่อสิ้นสุดมาตรการและบาลานซ์ชีสจะรองรับคนที่จะกลายมาเป็นหนี้เสียได้เท่าไหร่



          ”ในความเห็นผม หนี้เสียพุ่งอยู่แล้ว ไม่มีแบงก์ไหนไม่พุ่ง ฉะนั้น ทุกแห่งจะต้อง เริ่มประเมินลูกค้าที่พักหนี้ตัวเองแล้วว่า ไหวไม่ไหว จะได้เตรียมรองรับ เมื่อถึงวันนั้น เพราะหนี้เสียปัจจุบัน ไม่สะท้อนความเป็นจริง  โดยการรับรู้รายได้เป็นการรับรู้รายได้จากดอกเบี้ยเต็ม แต่คุณไม่มีแคช ทำให้แบงก์ชาติ ออกมาเป็นห่วง”



          ขอลดเงินนำส่งกองทุนแบงก์รัฐ



          นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า เพื่อลดภาระแก่แบงก์รัฐ ทางสมาคมแบงก์รัฐได้เสนอขอนโยบายในการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนแบงก์รัฐในสัดส่วน 50% จาก 0.26% ของเงินฝาก โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี



          สำหรับธอส.นั้น ได้เตรียมตั้งสำรอง หนี้เสียเพิ่มเติม แม้ว่า ขณะนี้ จะมีการตั้งสำรอง ในสัดส่วน 140% แล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ธอส.มีลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ยอยู่จำนวนประมาณ 2 แสนล้านบาทจากยอดหนี้คงค้างทั้งหมด 1.2 ล้านล้านบาทเท่านั้น ซึ่งธอส.จะเริ่ม สำรวจความสามารถในการชำระหนี้ล่วงหน้า  60 วันก่อนสิ้นสุดมาตรการในเดือน ก.ย.นี้



          ทั้งนี้ ระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารที่อยู่ในระดับกว่า 15% ถือว่า มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับมาตรการ ของรัฐได้อีก เพราะยังสูงกว่าเกณฑ์ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.5%



          ”ฐานะแบงก์เราตอนนี้ BIS Ratio สามารถรองรับได้ถึง 20% ของ 2 แสนล้านบาท  แต่ถ้ามากกว่านั้น Ratio จะเริ่มลง แต่ก็ถือว่า มีรูมที่จะลดลงได้อีก”



          นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการเร่งสำรวจสถานะลูกหนี้แล้ว สิ่งสำคัญ คือ การทำให้บาลานซ์ชีสของธนาคารกลับเข้าสู่ในภาวะปกติ โดยต้องบริหารจัดการให้ธนาคารมีเงินสดในมือ เพราะขณะนี้ ทุกแห่งอยู่ในภาวะที่ต้องใช้มาตรการ พักชำระหนี้ดังกล่าว



          ”ตอนนี้ไม่สามารถแพลนอะไรยาวนานได้ เพราะโลกเปลี่ยนภายในแค่ 3-6 เดือน ซึ่งไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นเหมือนเข้าไปใน ห้องมืดไม่เห็นอะไรเลย แต่ภายในสิ้นปี จะต้องกู้บาลานชีสให้กลับมาเหมือนเดิมให้แข็งแรงให้ได้”



          ธพว.พบสัญญาณชำระหนี้ลดลง



          นางสาวนารถนารี รัฐกันย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการพัฒนา(ธพว.) กล่าวว่า ธพว.ได้ตรวจวัดความสามารถ ในการชำระหนี้ของลูกค้าในทุกเดือน หลังเกิดโควิด-19ว่า ลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงหรือไม่ โดยพบว่า ในระยะ 1-2 เดือนที่ผ่านมา พบความสามารถในการชำระหนี้ลดลง โดยยอดชำระจากเดิมอยู่ที่ประมาณกว่า 2 พันล้านบาทต่อเดือน ขณะนี้ เหลืออยู่ที่ประมาณกว่า 1 พันล้านบาทต่อเดือน



          ”เราประเมินสถานการณ์ลูกค้าเดือนต่อเดือน ยกตัวอย่างเช่น เดือนก่อนแย่มาก เดือนนี้ดีขึ้น แต่เดือนหน้าหากโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้นก็อาจจะแย่ลง ซึ่งอาจทำให้ลูกค้ามีความสามารถชำระได้น้อยลง ฉะนั้น ตอนนี้ ทุกสาขาจะต้องประเมินหรือ ตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้าเป็นรายเดือน เพื่อประเมินสถานการณ์ หากไม่ดีขึ้น เราอาจจะ ขยายเวลามาตรการความช่วยเหลือต่างๆออกไป”



          ทั้งนี้ มาตรการพักชำระหนี้ที่ออกไปนั้น ครอบคลุมลูกค้าถึง 90% แต่ก็ยังมีลูกค้า บางส่วนที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ อยู่ บวกกับสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อที่ใกล้เคียงเป้าหมาย ทำให้ยอดหนี้เสียของธพว.ยังทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 20% หรือ 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท และทั้งปี เราก็ตั้งเป้าหมายจะทำให้หนี้เสียอยู่ใน ระดับนี้ โดยที่สินเชื่อปล่อยใหม่จะอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันปล่อยได้ 1.6 หมื่น ล้านบาท มียอดคงค้างสินเชื่อรวมที่ 9.6 หมื่นล้านบาท



          ยอดหนี้เสียแบงก์รัฐเริ่มขยับ



          นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)กล่าวว่า สถานการณ์หนี้เสียของธนาคารนั้น ขยับ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 7% จากสิ้นปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 5.6% สาเหตุที่ขยับขึ้นไม่มากนัก เพราะเราได้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพื่อช่วยลูกค้า โดยวงเงินที่ขยายการชำระหนี้ออกไปมีถึง 3-4 หมื่นล้านบาท



          ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ยอดหนี้เสียของแบงก์รัฐ ณ สิ้นเดือนมี.ค.2563 อยู่ที่ 2.25 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็น 3.88% ของสินเชื่อรวม 5.79 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่หนี้เสียอยู่ที่ 2.08 แสนล้านบาท หรือ 3.67% ของสินเชื่อรวม 5.68 ล้านล้านบาท

 

Reference: