แบงก์รัฐปล่อยกู้พุ่งสวนโควิด สนองรัฐอุ้มรายย่อย-สินเชื่อโตสุดรอบ 5 ปี
แบงก์รัฐตะลุมบอนปล่อยกู้นโยบายรัฐ ดันยอดสินเชื่อพุ่ง-ไตรมาสแรกโตสูงสุดรอบ 5 ปี กำไรสุทธิ Q1 โต กระฉูดกว่า 250% เหตุฐานต่ำ-ช่วงเดียวกันปีก่อนติดลบหนัก ขณะที่เงินกองทุนยังแข็งแกร่งเพียงพอดำเนินงานระยะต่อไป วิทัย ชี้ยามวิกฤตแบงก์พาณิชย์ชะลอปล่อยกู้ แบงก์รัฐต้อง อัดเงินเข้าระบบ-อุ้มประชาชนรายย่อย ชี้ Q2 ยังคงปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับภาพรวมผลดำเนินงานระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) รายงานถึงสิ้นไตรมาสแรกปี 2564 (ณ สิ้นเดือน มี.ค.) พบว่า ระบบแบงก์รัฐมีการปล่อยสินเชื่อเติบโต 5.66% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมียอดสินเชื่อ คงค้างที่ 5,274,762 ล้านบาท
ขณะที่เงินรับฝากของระบบแบงก์รัฐในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้น 6.78% โดยยอดเงินฝากคงค้างอยู่ที่ 5,526,896 ล้านบาท ทั้งนี้ ระบบแบงก์รัฐมีกำไรสุทธิ 18,765 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 253.17% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่กำไรสุทธิติดลบไป 51.46%
ส่วนสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (NPL) ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2564 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเป็น 186,554 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.08% ของสินเชื่อรวม แต่สินเชื่อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) เพิ่มขึ้น 3.53% จากเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 230,203 ล้านบาท ทั้งนี้ ระบบแบงก์รัฐมีการตั้งสำรองหนี้สูญ 337.89% และมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 13.94% เพียงพอต่อการดำเนินงานในระยะต่อไป
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สินเชื่อของแบงก์รัฐที่ขยายตัวสูงนั้น จะเห็นได้ว่าขยายตัวมากกว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี แบงก์เอกชนจะระวังความเสี่ยงที่มีมากขึ้น จึงปล่อยสินเชื่อน้อยลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของแบงก์รัฐที่ต้องใส่เงินเข้าสู่ระบบ เพื่อประคองเศรษฐกิจให้หมุนต่อไปได้ พร้อมกับช่วยเหลือรายย่อยที่รับผลกระทบจากโควิดมากขึ้น
ในช่วงวิกฤตโควิดนี้ แบงก์รัฐ ทั้งออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นแบงก์รัฐที่ได้ปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น นอกจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจแล้ว แบงก์รัฐยังปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่ประสบปัญหามากที่สุด อย่างเช่น กลุ่มฐานราก และเอสเอ็มอีรายเล็ก อย่างสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 ที่ให้กู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น ซึ่งจะเห็นจำนวนรายที่ได้รับเงินกู้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นการปล่อยสินเชื่อ ให้กับรายย่อย ๆ ที่ได้รับผลกระทบ นายวิทัยกล่าว
นายวิทัยกล่าวอีกว่า ส่วนแนวโน้มในการปล่อยสินเชื่อไตรมาส 2 ก็ยังเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยแบงก์รัฐยังใส่เงินเข้าสู่ระบบตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับการปล่อยสินเชื่อของแบงก์รัฐ การเน้นปล่อยกู้ให้กับรายย่อย ๆ มากขึ้น โดยมูลค่าการปล่อยสินเชื่ออาจจะลดลง แต่เน้นจำนวนรายมากขึ้น
ขณะที่แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ในไตรมาสแรกของปีบัญชี 2564 (1 เม.ย.-31 มิ.ย.) ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ยังทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเน้นในเรื่องคุณภาพสินเชื่อและคุณภาพหนี้เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าสินเชื่อตามนโยบายรัฐ อย่างสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 ก็ทำให้ ธ.ก.ส.มีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยลูกค้าเกษตรกรไปแล้วกว่า 3 แสนราย
ส่วนแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 2 ของปีบัญชี 2564 คาดว่าการปล่อยสินเชื่อจะยังทรงตัว หรืออาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หากในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2564 มีความชัดเจนในเรื่องมาตรการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาล โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจหากฟื้นตัวดีขึ้น ก็จะมีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. เป็นเครื่องมือหลักในการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อสู้ภัยโควิด-19, สินเชื่อเอสเอ็มอีมีที่ มีเงิน, สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเอสเอ็มอี ท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง, สินเชื่อ อิ่มใจ เป็นต้น
ฟากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ในไตรมาสแรกปีนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีอัตราการเติบโตด้านสินเชื่อสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยเติบโตที่ 5.5% ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีการเติบโตด้านสินเชื่อ 4.9% ในไตรมาสเดียวกัน
อย่างไรก็ดี การเติบโตดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นไปที่ 14.1 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 4.6% สูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส และทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90.5% ต่อ GDP
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ