แบงก์รัฐชูสินเชื่อโควิดชุดใหม่
ธ.ก.ส.จัดอีก1.7แสนล.ชงบอร์ดเคาะ
4 แบงก์รัฐเผยผลงานช่วยลูกค้าฝ่าโควิดพร้อมแพคเกจใหม่ ธ.ก.ส.ผุดสินเชื่อใหม่ 1.7 แสนล้าน ธอส.อัด 2 หมื่นล้าน ปล่อยกู้บ้านดอกถูก 1.99% กรุงไทยระบุ 90% เป็นลูกค้าบุคคล-เอสเอ็มอี และออมสินชี้สินเชื่อฟื้นฟูรายได้ 4 หมื่นล้านคึกคัก
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เตรียมออกสินเชื่อช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายแล้ว เพื่อให้มีเงินทุนประกอบอาชีพ 3 โครงการ วงเงิน 170,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ 10,000 ล้านบาท กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท 2.สินเชื่อนิวเจนฮักบ้านเกิด 60,000 ล้านบาท และ 3.สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 100,000 ล้านบาท กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ธ.ก.ส. จะเร่งเสนอคณะกรรมการธนาคารเห็นชอบโดยเร็ว ส่วนผลดำเนินงาน 7 มาตรการมีลูกค้าได้รับประโยชน์กว่า 4 ล้านราย มูลหนี้รวมกว่า 1.42 ล้านล้านบาท สินเชื่อฉุกเฉิน 20,000 ล้านบาท มีผู้ลงทะเบียนรับสินเชื่อ 2,082,967 ราย จ่ายแล้ว กว่า 2 แสนราย เงินเยียวยาเกษตรกร 10 ล้านราย จ่ายแล้ว 4.72 ล้านราย 23,000 ล้านบาท
ด้านนายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการ และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ช่วยเหลือลูกค้าได้รับความเดือดร้อนแล้ว 446,747 บัญชี วงเงิน 443,220 ล้านบาท และฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจคณะกรรมการธนาคารเห็นชอบให้จัดทำโครงการ ธอส.ปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน โดยมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อโครงการบ้าน ธอส.เราไม่ทิ้งกัน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กู้สำหรับบุคคลในครอบครัวของผู้เข้าโครงการเราไม่ทิ้งกันรับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.99% ต่อปี นาน 2 ปีแรก
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ได้ให้การช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วทั้งสิ้น 595,986 ล้านบาท จำนวนลูกค้า 171,727 ราย ลูกค้าบุคคล ลูกค้าธุรกิจรายย่อยและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) ได้ประโยชน์มากที่สุด คิดเป็นกว่า 90% ของลูกค้าทั้งหมด นอกจากนี้ ยังเข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ขาดหลักประกันสามารถเข้าถึงเงินทุน ให้สินเชื่อแล้วกว่า 10,636 ล้านบาท
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า มีโครงการก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19 กำหนด 4 กระบวนการ คือ 1.เยียวยา 2.การคืนอาชีพ 3.คืนความสุข และ 4.ฟื้นฟูรายได้ มีมาตรการคือ 1.พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 ลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีได้ประโยชน์ วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท รวม 2,894,333 ราย วงเงินรวม 1.129 ล้านล้านบาท 2.สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายกับผู้มีอาชีพอิสระและรายได้ประจำ 40,000 ล้านบาท ยื่นกู้ 2,663,197 ราย อนุมัติ 310,006 ราย วงเงิน 7,527.16 ล้านบาท 3.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 150,000 ล้านบาท กู้แล้ว 12,352 ราย อนุมัติแล้ว 105,242.34 ล้านบาท คงเหลือ 44,757.66 ล้านบาท ภายในเดือนมิถุนายน 2563 จะสามารถอนุมัติได้ทั้งหมด และล่าสุดได้อนุมัติซอฟต์โลนอีก 2,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 2% ให้กับสำนักงานธนานุเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่นำทรัพย์สินมาจำนำในช่วงนี้โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ
Reference: หนังสือพิมพ์มติชน