แบงก์ชาติ ลุ้นรัฐอัดยาแรง ฉีด 4 แสนล้าน พยุงจีดีพี 3%

01 Apr 2020 791 0

          แบงก์ชาติ” หวังมาตรการรัฐก๊อก 3 วงเงิน 4 แสนล้าน ช่วยอุ้มเศรษฐกิจไทยราว 3% ของจีดีพี ขณะ เศรษฐกิจไทย ก.พ. “หดตัว” เกือบทุกภาค เว้น “การบริโภค” ที่เห็นการเร่งตัวจาก การซื้อสินค้าตุน ส่วน “ท่องเที่ยว” ทรุดแรง 42.8% ด้าน “ซีไอเอ็มบีไทย” หั่น “จีดีพี” ปีนี้เป็นหดตัว 6.4% พิษโควิดระบาดหนัก ด้าน “หอการค้าไทย” คาดฉุดส่งออกหดตัวหนักสุดรอบ 10ปี

          ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.พ.2563 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ถูกผลกระทบเต็มเดือนจากการแพร่ระบาด ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” โดยเศรษฐกิจไทยในเดือนดังกล่าวถือว่า  ”หดตัว” เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวสูง มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ แต่เป็นการขยายตัวจากการเร่งซื้อสินค้า

          นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า การประเมินตัวเลขเศรษฐกิจที่คาดว่าจะหดตัวในปีนี้ 5.3% เป็นการประเมินโดยคำนวณมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ออกมาก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 25 มี.ค.2563 ดังนั้นประมาณการดังกล่าวจึงนับรวมผลของการแจกเงินเยียวยา 5 พันบาทเป็นเวลา 3 เดือนไปเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นการประเมินบนฐานของผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาจำนวน 3 ล้านคน

          “หากดูยอดลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พันบาท ตอนนี้ทะลุไป 20 ล้านคนแล้ว ดังนั้นหากการช่วยเหลือของรัฐขยายออกไปมากกว่า 3 ล้านคน ตามที่กำหนดไว้เดิม ก็เชื่อว่าจะมีผลบวกมากกว่าที่ เราใส่ไว้ในประมาณการ เช่นเดียวกับมาตรการพักหนี้ของธปท.ที่ยังไม่รวมอยู่ในการทำประมาณการณ์ ซึ่งจะมีผลช่วยเหลือลูกหนี้ และมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน”

          ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุด 3 ที่เตรียมออกมาเพิ่ม ซึ่งเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินราว 4 แสนล้านบาท หรือมากกว่ามาตรการกระตุ้นในชุดแรกกับชุดสองรวมกันนั้น เม็ดเงินจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ราว 2-3% จึงเชื่อว่า หากออกมาจริงจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้พอสมควร ดังนั้นคงต้องติดตามดูว่ามาตรการชุด 3 จะมีเม็ดเงินขนาดเท่าใด

          ‘ท่องเที่ยว’ก.พ.หดตัว42.8%

          สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.พ. ที่หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการระบาดของ โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวสูงถึง 42.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มที่หดตัวแรงสุด 85% เกาหลีใต้ 73% มาเลเซีย 40% และหากดูจำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่านด่าน 6 ด่านสำคัญของไทย พบว่ามีจำนวนลดลงต่อเนื่อง รวมถึงยอดจองห้องพักใน 3 เดือนล่วงหน้าไม่มี ทำให้หลายโรงแรมต้องปิดกิจการชั่วคราว และถาวร สะท้อนผลกระทบโควิด-19 ที่มีผลต่อภาคการท่องเที่ยวรุนแรง

          ขณะที่การส่งออก หากไม่รวมทองคำ ติดลบ 1.3% ส่วนการนำเข้าหดตัว 7.8% สำหรับการบริโภคภาคเอกชน ยังขยายตัวได้ ตามการเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ส่วนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน อ่อนแอลง ทั้งในมิติด้านรายได้ การจ้างงาน และความเชื่อมั่น ขณะที่ภาระหนี้ยังอยู่ในระดับสูง และจากการสำรวจของธปท.เชื่อว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมีแนวโน้มที่จะเห็นการลดระดับการจ้างงานเพิ่มในระยะต่อไปด้วย

          ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นมาก ที่ 5.4พันล้านดอลลาร์ จาก3.4พันล้านดอลลาร์ในเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าที่ลดลงมาก แม้รายรับภาคการท่องเที่ยวลดลง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ ทั้งจากด้านสินทรัพย์และการขายหลักทรัพย์

          ‘ซีไอเอ็มบี’หั่น’จีดีพี’หดตัว6.4%

          ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคาร ได้ปรับคาดการณ์ จีดีพี ปีนี้จากขยายตัว 1.7% เป็นหดตัว 6.4% ตามภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ภาวะการถดถอยนี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 และน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากสถานการณ์เลวร้ายไปอีก เศรษฐกิจไทยคงเข้าสู่ภาวะวิกฤติตามเศรษฐกิจโลก

          ขณะเดียวกัน มองว่าผลกระทบจาก โควิด-19ทำให้เศรษฐกิจไทย เข้าสู่เฟส3เรียบร้อยแล้ว คือ โควิด-19 ได้แพร่เชื้อผ่านตลาดเงินแล้ว ทั้งตลาดหุ้นไทยมีแรงเทขายหนัก ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกหดหาย มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภทเพื่อนำเงินสดกลับไปถือในรูปดอลลาร์ จากการที่นักลงทุนกังวลต่อปัญหาสภาพคล่องในสหรัฐ นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าธุรกิจสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว การขนส่ง และน้ำมันอาจมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ทำให้นักลงทุนเทขายตราสารต่างๆทำให้ธปท.ต้องเข้ามาดูแลสภาพคล่อง

          ดังนั้นเชื่อว่า ภาวะเช่นนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเฟส 3 เท่านั้น มีความเป็นไปได้สูงที่ทางกนง. จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 นี้เหลือ 0.50% ต่อปี โดยที่ภาครัฐได้ออกมาตรการพยุงสภาพคล่องและมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเนื่อง ช่วยยืดเวลาให้เราอยู่ในช่วงต้นของเฟส 3 นานขึ้น

          อย่างไรก็ดี ความเสียหายทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต การบริโภค และความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนนั้นมีมาก เศรษฐกิจไทยจึงอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในปีนี้ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเข้าสู่จุดต่ำสุดช่วงไตรมาสที่ 2 ขณะที่ทิศทางเงินบาทคาดจะอ่อนค่าไปถึงระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ในไตรมาสสองนี้ และคาดปลายปีจะอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์

          ‘ส่งออก’ส่อติดลบหนักรอบ10ปี

          นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้ศึกษผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ต่อการส่งออกของไทยไปตลาดโลกและตลาดจีน รวมถึงแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจ โดยแบ่งการประเมินออกเป็น 3 กรณี

          โดย “กรณีปกติ” โอกาสเกิด 15% สถานการณ์โควิด-19 จบภายใน 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.2563) มูลค่าการส่งออกลดลง 4,119 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง 1.7%

          “กรณีแย่” โอกาสเกิด 35% สถานการณ์โควิด-19 จบภายใน 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.2563) มูลค่าการส่งออกลดลง 6,740 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง 2.7% และ “กรณีแย่มาก” โอกาสเกิด 50% สถานการณ์โควิด-19 เกิน 9 เดือน (มากกว่าเดือน ก.ย.2563) มูลค่าการส่งออกลดลง 17,429 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง 7.1%จะเป็นการส่งออกที่หดตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี

          ทั้งนี้ ผลกระทบการส่งออกของไทยไปจีน พบว่า การส่งออกของไทย อยู่ที่ 28,070-24,563 ล้านดอลลาร์ จะทำให้การส่งออกไปจีนลบ 1.2% ถึงลบ 13.5% ติดลบต่ำสุดในรอบ 6 ปี ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไปจีนคิดเป็นสินค้าวัตถุดิบ 80% และสินค้าสำเร็จรูป 20% สินค้าสำเร็จรูปที่มีการส่งออกมากที่สุด คือ ผลไม้ 35.7% หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อมากกว่า เดือน ก.ย. ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2563 จะลดลง 13.5%

          ในขณะที่ กลุ่มสินค้าที่ส่งออกไปจีนได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลบ 5.4% ถึง ลบ 30.0% หรือลดลงสูงสุดประมาณ 299 ล้านดอลลาร์ สินค้ากลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ น้ำมันจากพืชและสัตว์ (น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันจากปลา)

Reference: