แบงก์ชาติแช่แข็งหนี้5ปี อุ้มท่องเที่ยวประเดิม1แสนล้าน

15 Feb 2021 626 0

          “อาคม” เข็นแพ็กเกจใหญ่อุ้มภาคท่องเที่ยว ครอบคลุมทั้งซัพพลายเชน-สายการบิน “ธปท.-คลัง” เคาะมาตรการ “แช่แข็งหนี้” ยาว 3-5 ปี ให้ลูกหนี้ตีโอนชำระหนี้ พร้อมเปิดเงื่อนไข “ซื้อคืน” ประเดิมวงเงินโครงการ 1 แสนล้าน เจ้าของสามารถขอเช่าทำธุรกิจหาสภาพคล่องเลี้ยงพนักงานได้ เตรียมชง ครม.ปลาย ก.พ.นี้ แบงก์ชาติเตรียมปลดล็อกเกณฑ์ให้ธนาคารทำ “Asset Warehousing” คลังเตรียมประกาศยกเว้นภาษีตีโอนชำระหนี้

          เข็นแพ็กเกจอุ้มท่องเที่ยว

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเร่งหาข้อสรุปเพื่อออกแพ็กเกจมาตรการดูแลภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะรวบรวมออกมาเป็นแพ็จเกจใหญ่ดูแลครอบคลุมทั้งซัพพลายเชน โดยมีหลายส่วน บางส่วนเป็นมาตรการเดิมที่มีอยู่แล้ว และอีกส่วนหนึ่งเป็น ข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย ที่ขอให้ดูแลภาคการท่องเที่ยว และเอสเอ็มอี ทั้งนี้จะพยายามทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้

          นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เบื้องต้นมาตรการด้านการท่องเที่ยวมีแนวทางแล้ว แต่ยังเหลือความชัดเจนในรายละเอียด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลัง พิจารณากันอยู่ โดยเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ก็ได้เดินทางมาที่กระทรวงคลังเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะสามารถ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้

          ”ทุกกลุ่มภาคการท่องเที่ยวอยากให้เราช่วยเหลือหมด แต่เข้าใจว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังดูและกำลังจะออกก็ช่วยเหลือทุกกลุ่ม รวมถึงธุรกิจสายการบิน และจะมีการแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย ซึ่ง รมว.คลังกำลังหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้” นายกฤษฎากล่าว

          แช่แข็งหนี้ธุรกิจท่องเที่ยว 5 ปี

          แหล่งข่าวจากแวดวงธนาคารพาณิชย์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรค โควิด-19 มีความรุนแรงและยืดเยื้อจนทำให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตกอยู่ ในสถานการณ์ลำบาก และขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะสามารถกลับมาได้เมื่อไหร่ ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง (สศค.) ได้เห็นชอบในหลักการในโครงการ “แอสเสตแวร์เฮาซิ่ง” (Asset Warehousing) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ในลักษณะ “แช่แข็งหนี้” เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ไม่มีภาระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 3-5 ปี

          ทั้งนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ได้ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 หากมีปัญหาทางธุรกิจมาก่อนหน้าจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ และต้องมีหลักประกันประเภทอสังหาริมทรัพย์กับเจ้าหนี้ เช่น กลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น

          ”ถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจ  แต่เจอวิกฤตโควิด-19 จึงให้ฟรีซหนี้ไว้ก่อน เพราะถ้าแบงก์ไม่ทำแบบนี้ ลูกหนี้ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย เพราะสถานการณ์ขณะนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าภาคท่องเที่ยวจะสามารถฟี้นตัวกลับมาได้เร็วแค่ไหน โครงการจึงเปิดช่องไว้ 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแบงก์กับลูกหนี้”

          เปิดทางลูกหนี้ซื้อคืน

          สำหรับลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้อง “ตีโอนทรัพย์ชำระหนี้” เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ไม่มีภาระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยจะมีเงื่อนไขกำหนดให้ ผู้ประกอบการสามารถซื้อคืนจากธนาคารได้ภายหลังสิ้นสุดการแช่แข็ง พร้อมกับที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้ด้วย เพื่อที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจอย่างเต็มที่หลังจากที่ภาคท่องเที่ยวฟี้นตัว

          นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ลูกหนี้มีสิทธิ์ที่จะเช่าทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อมาดำเนินธุรกิจในช่วง “แช่แข็งหนี้”ได้ เช่น เช่า โรงแรม ร้านอาหาร มาเปิดให้บริการเพื่อให้ พนักงานมีงานทำและมีรายได้เลี้ยงชีพ

          อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแบงก์และลูกหนี้ ซึ่งก็ถือเป็นกลไกเพื่อช่วยทั้งสองฝ่าย เพราะในส่วนของแบงก์เจ้าหนี้หากไม่มีช่องทางช่วยเหลือก็จะทำให้ลูกหนี้กลายเป็นเอ็นพีแอล และกลายเป็นภาระของแบงก์ในที่สุด

          กำหนดวงเงิน 1 แสนล้าน

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ธปท.และ สศค.ได้มีการประชุมหารือกับทางสมาคมธนาคารไทย ถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาโดยตลอด แต่แนวทางบริหารจัดการค่อนข้างมีปัญหาซับซ้อน อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการแช่แข็งหนี้ที่ ธปท.และสศค.ออกแบบมานั้นจะเป็นการให้ธนาคารเจ้าหนี้แต่ละรายดำเนินการกันเองแบบ “แบงก์ใครแบงก์มัน” เพราะจากข้อมูลพบว่าแม้ลูกหนี้ 1 ราย แต่มีเจ้าหนี้หลายราย แต่ส่วนใหญ่หลักประกันจะแยกกัน เช่น โรงแรมหนึ่งแห่งมีเจ้าหนี้ 3 ราย แต่หลักประกันหรือโฉนดจะเป็นคนละแปลงกัน ดังนั้นจึงให้แต่ละธนาคารแยกเจรจากับลูกหนี้ จากแนวคิดเดิมที่จะให้เจ้าหนี้ทุกรายมาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกัน

          ”สำหรับวงเงินโครงการแช่แข็งหนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพราะจากที่ได้มีการแลกเปลี่ยน ข้อมูลร่วมกัน ประเมินกัน ลูกหนี้ที่มีสิทธิ์และจะเข้าร่วมโครงการจะไม่เกินวงเงินดังกล่าว ขณะที่ลูกหนี้ที่ไม่ต้องการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ก็จะมีช่องทางของซอฟต์โลนแบงก์ชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับแก้ปลดล็อกเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”

          อย่างไรก็ตาม เรื่องการตีราคาโอนทรัพย์ ทางแบงก์ชาติจะมีการออกข้อกำหนด รายละเอียดเป็นแนวปฏิบัติเพื่อที่ไม่ให้ลูกหนี้เสียเปรียบ เช่น ถ้าตีราคา โอนไม่แพง ในการซื้อคืนก็จะต้องไม่แพง

          ธปท.-คลังเร่งปลดล็อก

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ในแง่หลักการน่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอ ครม.ช่วงปลายเดือน ก.พ. หรือต้นเดือน มี.ค.นี้ แต่ในรายละเอียดการปฏิบัติ ในส่วนของแบงก์ชาติก็จะต้องมีการแก้เกณฑ์ ข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินการได้ ขณะที่ในส่วนของกระทรวงการคลังก็จะต้องมีการปลดล็อก ยกเว้นเรื่องภาษีต่าง ๆ เช่น ภาษีตีโอนทรัพย์ เพื่อไม่ให้ เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการหรือทางธนาคาร และสนับสนุนให้กลไกของโครงการนี้สัมฤทธิผล ซึ่งจะคล้ายกับในกรณีของการยกเว้นภาษีเพื่อปรับโครงสร้างหนี้

          ออมสินกองหนุนอีกหมื่น ล.

          ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คาดว่าจะเสนอมาตรการท่องเที่ยวให้ ครม.เห็นชอบได้หลังผ่านช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้วเสร็จ ก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดของมาตรการ เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สั่งการ มายังกระทรวงการคลัง กำชับให้ดำเนิน การอย่างรอบคอบ และให้ช่วยเหลือภาคท่องเที่ยวได้อย่างครอบคลุม เพราะ ที่ผ่านมาแม้จะมีมาตรการสินเชื่อต่าง ๆ เข้ามาดูแล แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ทั้งหมด จึงต้องการแก้ไขปัญหาจุดนี้ด้วย

          ”หนึ่งในแพ็กเกจมาตรการท่องเที่ยว ครั้งนี้จะมีการเติมสภาพคล่องให้กับภาคท่องเที่ยว โดยให้สถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ออกสินเชื่อแบบผ่อนปรน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้อุดหนุนเงินในเรื่องดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายยังไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงจะพยายามทำให้ ครอบคลุมผู้ประกอบการมากที่สุด ซึ่งขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เห็นชอบแนวทางดำเนินการออกสินเชื่อของธนาคารออมสิน อยู่ระหว่างขั้นตอนเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

Reference: