เอกชนค้านผังเมือง EEC แก้พื้นที่ตั้ง รง.ไร้มลพิษเป็นมลพิษหนัก ขีด 300 ถนน รอนสิทธิ-ผ่ากลางชุมชน

05 Mar 2022 381 0

          เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 จังหวัดชลบุรี ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ระบุเหตุผลและความจำเป็นเพื่อจัดแบ่งเขต (Zone) เพื่อกำหนดขอบเขตของพื้นที่ที่จะประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมเศรษฐกิจ และกำหนดกฎระเบียบหรือมาตรการที่แตกต่าง และเหนือกว่าระเบียบที่ใช้กับสภาพเศรษฐกิจทั่วไป

          มีสาระสำคัญเรื่องเหตุผลและความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในอีอีซี ซึ่งกำหนดถนนในโครงการอีอีซี 384 สาย และถนนเสนอแนะอีก 54 สาย

          นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 7 แห่ง 1.การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง รูปแบบนิคมอุตสาหกรรม โดยมีการปรับเขตสีม่วงอ่อนมีจุดสีขาว พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม เปลี่ยนเป็นเขต สีม่วง เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรม ได้แก่ (1) นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ หนองใหญ่ อยู่ในพื้นที่ อ.หนองใหญ่ และ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พื้นที่รองรับ 1,501.43 ไร่ กำหนดพื้นที่ทำอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง (2) นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง ต.ตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พื้นที่รองรับ 698.89 ไร่ กำหนดพื้นที่ทำอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (3) นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย คลีน อ.บ้านบึง และ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี พื้นที่รองรับ 987.49 ไร่ กำหนดพื้นที่ทำอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (4) นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พื้นที่รองรับ 1,498.70 ไร่ กำหนดพื้นที่ทำอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต การบินและโลจิสติกส์หุ่นยนต์ (5) นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง อ.เมือง จ.ระยอง พื้นที่รองรับ 421.05 ไร่

          รวมถึงมีการจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ (สีน้ำตาล) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ (6) การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ : ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง พื้นที่ขอจัดตั้ง 519 ไร่ (7) การเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ : ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) ต.โปร่ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พื้นที่ขอเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม 18.865 ไร่ จากเดิมมีพื้นที่ 566 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 585 ไร่

          สำหรับขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติมแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค มีระยะเวลาการดำเนินการ 20 สัปดาห์ ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1. สกพอ.ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำรายละเอียดการแก้ไขแผนผังอีอีซี 2.ประชุมรับฟังความเห็นประชาชน 3.เสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำแผนผังอีอีซี 4.เสนอต่อคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาอีอีซี (กบอ.) 5.เสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) 6.เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 7.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          ชลบุรีร้องแนวถนนรอนสิทธิ

          นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ รักษาการนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ไม่ได้มีการส่งเอกสารให้พิจารณาก่อน เบื้องต้นจากข้อมูลที่ได้รับมีประเด็นปัญหาหลัก ได้แก่

          1.มีการเปลี่ยนแปลงผังสี 2-3 จุด จากผังสีม่วงจุด กำหนดให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมลพิษต่ำ หรือไร้มลพิษเป็นสีม่วง กำหนดให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมลพิษสูงแบบไม่มีข้อจำกัด ซึ่งตนเห็นว่าก่อนการเปลี่ยนแปลงต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อน หากเปรียบเทียบกับ การทำงานก่อนหน้านี้ กว่าจะเปลี่ยนผังสีใช้เวลาศึกษารายละเอียดกันพอสมควร

          2.เรื่องแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินใน อีอีซี ซึ่งมีการล็อกแนวถนนในโครงการ อีอีซีไว้ถึง 384 สาย และถนนเสนอแนะอีก 54 สาย พร้อมระบุว่า ตามมาตรา 34 ว่า หากมีแนวถนนพาดผ่านที่ดินบุคคลห้ามก่อสร้าง เท่ากับผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อยู่ในเนวเขตถนนไม่สามารถนำที่ดิน ดังกล่าวไปพัฒนาและทำประโยชน์ใด ๆ ได้ ทั้งการจัดสรร ปลูกบ้านใหม่ ซื้อขายที่ดิน ฯลฯ ถือเป็นการรอนสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน แม้ล่าสุดทางอีอีซีได้กำหนดถนนเสนอแนะอีก 54 สายขึ้น แต่ถนนส่วนที่เหลืออีก 300 กว่าสายยังเป็นถนนภาคบังคับอยู่ เรื่องนี้ทางผู้ประกอบการอสังหาฯ ได้แจ้งปัญหาเหล่านี้ให้ทราบตั้งแต่ปี 2563 แต่ยังไม่มีการให้ข้อมูล หรือแก้ไขใด ๆ

          มองดูแล้วจะกระทบประชาชนจำนวนมาก เพราะว่าทางกรมโยธาธิการฯไม่ได้ทำการสำรวจว่าแนวถนนที่ขีดเส้นไว้จะกระทบที่ดินของประชาชนกี่ราย กี่แปลง เป็นมูลค่าเท่าไหร่ ถือเป็นการ “รอนสิทธิ” ที่จริงควรปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบการเวนคืนที่ดินทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่มารอนสิทธิโดยเจ้าของที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลา ทุกวันนี้คิดว่าเจ้าของที่ดินทราบเรื่องดังกล่าวกันน้อยมาก หากเจ้าของที่ดินทราบเรื่องนี้กัน ผมคิดว่าจะเป็นปัญหา และทางกรมโยธาฯก็ ไม่ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวนี้ให้เจ้าของที่ดินรับทราบ ซึ่งการเปิดประชาพิจารณ์รอบนี้ทางเจ้าหน้าที่โยธาฯชี้แจงว่า ต้องมีการวางแผนงาน ซึ่งเป็นคนละประเด็น ไม่ได้ตรงกับสิ่งที่ผู้เดือดร้อนหรือผู้มีส่วนได้เสียต้องการรับทราบ ผมขอให้มีการประชุมเฉพาะเรื่องแนวถนนอย่างจริงจัง เส้นไหนควรทำ ไม่ควรทำ เพราะโดยความเข้าใจคนทั้งหมดทั้งส่วนราชการก็มีความเห็นตรงกัน เป็นไปไม่ได้ที่จะทำทั้งหมด เพราะเราอยู่มาตั้งแต่ยุคอีสเทิร์นซีบอร์ดแล้ว มีถนนแนวใหม่ทำขึ้นมา 2-3 เส้นเอง แต่อันนี้วางไว้ตั้ง 300 กว่าเส้น เราก็อยู่ในยุคที่จีดีพี เติบโตในอัตราที่สูง ช่วงนี้เศรษฐกิจชะลอ โอกาสเมืองจะขยายแบบเดิมคงเป็นไปไม่ได้ เช่น  ฏ 20 เป็นแนวถนนที่จะก่อสร้างเลียบทางรถไฟความเร็วสูง เพื่อใช้ในการขนส่ง ซึ่งทางกรมโยธาฯระบุวัตถุประสงค์เพื่อให้รถบรรทุก รถตู้คอนเทนเนอร์วิ่ง ทั้งที่ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ไม่ใช่พื้นที่โรงงาน การขนส่ง ถ้าให้รถบรรทุกวิ่งจะกระทบวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยในชุมชน

          ฉะเชิงเทราแนะรื้อผังใหม่

          นายวัชระ ปิ่นเจริญ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีโอกาสได้เข้าฟังการประชุมครั้งนี้ตนได้ชี้แจงกับทางกรมโยธาธิการและ สกพอ. ว่า แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินสร้างปัญหาให้กับประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่กำหนดแนวถนน 384 สายที่ทางภาครัฐมีการล็อกไว้สร้างปัญหามากกว่าผลดี โดยเบื้องต้นควรรื้อผังทั้งหมดออกเพื่อแก้ไขปัญหา ถ้าหากจะใช้ผังเดิมควรมีการปรับจากผังบังคับเป็นผังเสนอแนะ ให้เหลือแนวบังคับเฉพาะที่ทำได้และเสร็จภายใน 5 ปี

          ”การออกข้อกำหนดไม่ให้ประชาชนใช้ที่ดินของตนเองตลอดไป ไม่มีระยะเวลากำหนด มันไม่ถูกต้อง เราไม่อยากสร้างปัญหาให้กับหน่วยงานรัฐบาล เพราะสุดท้ายเมื่อชาวบ้านได้รับผล กระทบหนักมากปัญหาก็จะย้อนกลับมาหารัฐบาลทั้งหมด”

          ก่อนหน้านี้เคยทำหนังสือยื่นไปทางกรมโยธาธิการฯและ EEC เพื่อชี้แจงปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทางกรมได้ตอบกลับมาว่า การล็อกพื้นที่ไว้นั้นเพื่อประหยัดงบประมาณการเวนคืนที่ดิน ซึ่งไม่ถูกต้อง ตอนนี้ประชาชนที่รับทราบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวยังไม่ถึง 1% ทางกรมกับ EEC ยังไม่พบปัญหา เพราะสมาคมอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 3 จังหวัดอยากให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง ขณะเดียวกันกระบวนการทำงานผิดมาตั้งแต่ต้น มีประกาศบังคับใช้กฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ไม่เคยสำรวจขอบเขตถนนแต่ละสาย มีการวาดรูปแผนที่ลงไปในโฉนดที่ดินแต่ละแปลงโดยที่ไม่แจ้งให้ประชาชนเจ้าของที่ดินรับทราบ ประชาชนซื้อขายกันเอง กลายเป็นปัญหาใหญ่ ซื้อที่ดินไปแล้วใช้ประโยชน์ไม่ได้ ใครรับผิดชอบ

          ”ประชาชนมีที่ดินแต่สร้างบ้านบนพื้นที่ของตัวเองไม่ได้ ซึ่งมีเหตุการณ์ที่องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งมีการออกใบอนุญาตให้ประชาชนปลูกบ้านตามแนวถนนดังกล่าว เพราะไม่ทราบมาก่อน เจ้าหน้าที่กรมโยธาฯตอบกลับมา อยู่เส้นไหน จะไปสำรวจ ถ้ามีสิ่งปลูกสร้างตรงไหนเลี่ยงได้ก็จะเลี่ยงซึ่งมันไม่ถูกต้อง การพูดแบบนี้เหมือนเป็นการเปิดให้มีการคอร์รัปชั่น ตามข้อกฎหมายหน่วยงานรัฐจะมาอ้างว่า ไม่รู้ข้อกฎหมายไม่ได้”

          ทั้งนี้ การที่ทางกรมบอกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาเพียง 54 สาย เรามองว่าเป็นการแก้แบบไม่ได้ตั้งใจแก้จริง ๆ สิ่งที่ควรจะทำคือการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่จำเป็น ทางกรมบอกว่าผังเดิมที่ไม่ได้มีการยกออกเพราะว่ามีการบังคับอยู่ในผังเมืองเดิมอยู่แล้ว พ.ร.บ. EEC ที่จะออกมามีกฎหมายชัดเจนว่าเมื่อไหร่ที่ผัง EEC เสร็จและมีการบังคับใช้ ผังเก่าจะถูกยกเลิกทั้งหมด และให้ทำผังเมืองใหม่โดยล้อตามผัง EEC เชื่อว่าตามกฎหมายข้อนี้หมายถึงแนวถนนที่มีการกล่าวอ้างควรจะถูกนำมาใช้ และมาดูความจำเป็นและศึกษา ยกตัวอย่างได้มีการจำลองแผนที่บน Google Map ก็มีถนน 1 เส้นที่ล็อกไว้ชนกับตีนสะพานของถนนข้าวหลาม โดยหลักความเป็นจริงไม่สามารถทำถนนตัดเส้นทางนี้ได้ แต่มีการล็อกเส้นทางไว้ เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์ไม่ได้ ใครจะชดเชยหรือรับผิดชอบ

          จำลองแนวถนนตัดผ่านหมู่บ้านเพียบ

          แหล่งข่าวจากจังหวัดในอีอีซีเปิดเผยว่า ได้มีการนำข้อมูลที่เปิดรับฟังความคิดเห็นมาทาบลงบนแผนที่ พบว่าถนนหลายเส้นทางที่กำหนดเขตแนวไว้พาดผ่านที่ดินชุมชน หมู่บ้านจัดสรรมากมายในพื้นที่ 3 จังหวัด ยกตัวอย่าง จ.ระยอง แนวเส้นทางตัดผ่าน ถนนเส้น ง 94 บริเวณ ตำบลเนินพระ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านแดนใหม่วิลล่า หมู่บ้านโมเดิร์นซิตี้ หมู่บ้านกุญชร์สิริ บูลเลอวาร์ด หมู่บ้าน I-style และหมู่บ้านมีสุขทรัพย์ มีขนาดเขตทาง 16 เมตร, แนวเส้นทางตัดผ่านถนนเส้น ฉ 106 บริเวณ ถ.สมุทรคงคา ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระยอง เช่น วัดปากน้ำ และโรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำ มีขนาดเขตทาง 20 เมตร, แนวเส้นทางตัดผ่าน

          ฉ 106 ถ.ตากสินมหาราช เทศบาลนครระยอง เป็นชุมชนเก่า เช่น ถนนตากสินมหาราช เทศบาลนครระยอง มีขนาดเขตทาง 20 เมตร

          ชลบุรี แนวเส้นทางตัดผ่านเส้น ข 28 อำเภอพานทอง เช่น หมู่บ้าน The Home Park มีขนาดเขตทาง 12 เมตร, แนวเส้นทางตัดผ่านเส้น ฉ 49 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี เช่น หมู่บ้าน The senere มีขนาดเขตทาง 20 เมตร, แนวเส้นทางตัดผ่านเส้น ฉ 49 ต.อ่างศิลา อ.เมืองชลบุรี เช่น กลุ่มหมู่บ้านปิยวัฒน์ หมู่บ้านโกลเด้น บีโอ ชลบุรี-อ่างศิลา มีขนาดเขตทาง 20 เมตร, แนวเส้นทางตัดผ่านเส้น ฉ 55 ต.เหมือง อ.เมืองชลบุรี เช่น หมู่บ้านโกลเด้น พรีเว่ มีขนาดเขตทาง 20 เมตร, แนวเส้นทางตัดผ่านเส้น ช 5 ต.บางพระ อ.ศรีราชา มีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านพฤกษาวิลล์ หมู่บ้านมณีรินทร์ วิลเลจ หมู่บ้านมณีรินทร์ ปาร์ค หมู่บ้านสิริภัสสร วิลเลจ สิริภัสสร 2 ทาวน์โฮม บางพระ มีขนาดเขตทาง 25 เมตร, แนวเส้นทางตัดผ่านเส้น ฌ 16 หมู่บ้านพฤกษา นารา ชัยพฤกษ์ 2-จอมเทียน มีขนาดเขตทาง 30 เมตร

          ฉะเชิงเทรา แนวเส้นทางตัดผ่านเส้น ง 33 ต.บางวัว อ.บางประกง เช่น ตลาดบูรพาซิตี้ หมู่บ้านบูรพา มีขนาดเขตทาง 16 เมตร, แนวเส้นทางตัดผ่านเส้น ช 2 ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา เช่น หมูบ้านประชาสุข 5 มีขนาดเขตทาง 25 เมตร, แนวเส้นทางตัดผ่านเส้นเส้น ฉ 9 ต.ท่าไข อ.เมืองฉะเชิงเทรา เช่น หมู่บ้านอัจฉรา มีขนาดเขตทาง 20 เมตร

Reference: