เสนาฯผนึกฮันคิวฯชูนวัตกรรมบ้านพลังงานเป็นศูนย์

22 Nov 2022 326 0

            ”เสนา” ควง “ฮันคิว ฮันชิน” พันธมิตรแดนปลาดิบ สะท้อนมุมมอง วิกฤตพลังงาน-สภาวะโลกร้อน ดึงโนว์ฮาว Geo Fit+ ประยุกต์ใช้เพื่อจัดการพลังงาน ชูโมเดล Zero Energy Housing (ZEH) นวัตกรรมบ้านพลังงานเป็นศูนย์ มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้อยู่อาศัย พร้อมนำร่อง 2 โครงการต้นแบบ บ้านเดี่ยว แกรนด์โฮม บางนา กม.29 และคอนโดฯ ปรับฟังก์ชันและอินดีเทลใส่ใจรักษ์โลกแบบครบวงจร พร้อมเฉิดฉาย ปี 66 เผยโมเดลรัฐบาลญี่ปุ่น มีการอุดหนุนผู้สร้างและผู้ซื้อบ้านที่ผ่านเกณฑ์ เผยเตรียมเจรจาแบงก์ จัดเงื่อนไขพิเศษซื้อบ้านเสนาโซลาร์ ลดดบ.เพิ่มอีกปีแรก

          ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ในฐานะดีเวลลอปเปอร์รายแรกที่พัฒนาหมู่บ้านโซลาร์เต็มรูปแบบ กล่าวถึงสถานการณ์โลกร้อนและปัญหาเรื่องวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นว่า จะมีผลต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยในอนาคต ซึ่งทาง เสนาฯ มุ่งมั่นพัฒนาที่อยู่อาศัยที่คิดละเอียดใส่ใจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น บนพื้นฐานของความยั่งยืน พร้อมต่อยอดธุรกิจใหม่ตอบรับเมกะเทรนด์ของโลกในยุคปัจจุบัน และการขับเคลื่อนธุรกิจในทุกมิติเพื่ออนาคต

          “ความยั่งยืนเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน เสนาฯ เดินตามวิชันที่เราวาง แม้เราจะมีธุรกิจต่างๆ ที่มากขึ้น แต่เราทำพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย เราต้องทำสินค้าในตระกูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนด้วย และแม้เราจะเป็นภาคเอกชน ไม่ใช่รัฐ แต่เราเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายในปี 2050 เราพยายามทำบ้าน Net Zero Housing ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ยาก โดยที่ไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ”

          โดยทางเสนาฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ในการนำบ้านแต่ละแบบของเสนาฯไปศึกษาตามแบบสมมติฐาน เกี่ยวกับโอกาสและเรื่องการใช้พลังงาน ซึ่งทางเสนาฯ จะนำโมเดลแบบบ้านที่ผ่านการศึกษา การใช้ไฟที่ต่างกันในแต่ช่วงเวลา มาเป็นตัวตั้งต้นในการทำบ้านขายให้กับลูกค้า ซึ่งเราจะทำทุกแบบบ้าน ตั้งแต่ ทาวน์เฮาส์ไปจนถึงบ้านหลังใหญ่ เรามีเป้าหมาย ต่อให้เราจะลดการใช้พลังงานไม่ถึง 20% เราก็ต้องทำ เราไม่ควรรอ เรามีจุดมุ่งหมาย 2050 วันนี้ เราคิดได้ เราก็ควรทำ เป็นจุดยืนในแง่ของ ดีเวลลอปเปอร์ ที่เราคิดว่าทำได้ เราก็ต้องการทำ Zero Energy Housing แม้จะไม่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐในเรื่องส่งเสริมการสร้างบ้านที่มีการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน (คาร์บอนเครดิต) เราทำบ้าน Zero Energy Housing เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมาย Net Zero Housing

          “แต่ก็มีประเด็นที่เป็นโจทย์ยาก คือ เรื่องราคาบ้าน เนื่องจากในประเทศญี่ปุ่นที่บริษัท ฮันคิว ทำโครงการอยู่ หากนำเข้ามาประยุกต์ใช้กับโครงการเสนา ราคาบางอย่างก็แพงขึ้นถึง ร้อยละ 30-50 ถ้าบ้านแพงขึ้น เราขายไม่ได้ เหมือนตอนทำ บ้านเสนาโซลาร์ครั้งแรก ถ้าเราไม่คิดอะไรเลย ราคาบ้านตอนนั้นก็แพงขึ้น ร้อยละ 10-15 ทำให้เราต้องหาพันธมิตรจากแบงก์ เข้ามาเป็นตัวช่วยกับการติดตั้งโซลาร์ในบ้านของเสนา ผ่านเงื่อนไขการสนับสนุนอัตราดอกเบี้ย เช่น บางแบงก์ลดเพิ่มให้กว่าร้อยละ 1 แต่ใจจริงอยากได้ตัวช่วยเพิ่มขึ้น ขอลดลงอีก 50 สตางค์ หรือปีแรกลดลงให้ 1 บาทเป็นต้น

          ด้านนายโทดะ มาซาฮิโกะ ผู้อำนวยการฝ่ายบ้านจัดสรรต่างประเทศ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนา เรียกว่า  Zero Energy House (ZEH) โดยวางมาตรฐานเกณฑ์การลดใช้พลังงาน โดยภายในปี 2030 การก่อสร้างอาคารใหม่ บ้านและคอนโดมิเนียม ต้องติดตั้งพลังงานสะอาด หรือ โซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น 60% ทั้งนี้ หากธุรกิจ ไม่สร้างบ้านที่มีการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันในรอบ1 ปี ได้ ใกล้ หรือ เท่ากับ ศูนย์  จะถูกปรับเป็นเงิน หรือไม่ออกใบอนุญาตให้ หากการสร้างบ้านมีต้นทุนที่สูงขึ้น รัฐบาลก็เข้ามาช่วยอุดหนุนพร้อมส่งเสริมภาคธุรกิจที่สร้างบ้านใหม่ด้วย เช่น การให้เงินสนับสนุน ZEH จ่ายเงินให้กับผู้สร้าง 5.5 แสนเยน หากคอนโดฯ ถ้าเป็นคอนโดฯโลว์ไรส์ ได้รับ 4 แสนเยนต่ออาคาร ถ้าคอนโดฯแนวสูง ได้รับ 1 ใน 3 หรือ 1ใน 2 และผู้ซื้อบ้านที่ผ่านเกณฑ์ ZEH จะมีโอกาสได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงิน ตรงนี้ต้นทุนการสร้างแบบ ZEH จะสูงกว่าบ้านทั่วไป ทำให้ราคาขายจะสูงไปด้วย

          โดยล่าสุดทาง เสนา กรุ๊ป ร่วมมือกับบริษัท ฮันคิว ฮันชินฯ ดึงโนว์ฮาว ZEH มาปรับใช้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ ภายใต้ “SENA HHP Zero Energy House” และนำแนวคิด Geo Fit+ ประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับโมเดล Zero Energy Housing (ZEH) นำร่อง 2 โครงการต้นแบบ ประกอบด้วย 1.โครงการบ้านเดี่ยว แกรนด์โฮม บางนา กม.29 (ขนาดพื้นที่ 200 ตารางเมตร) 2.โครงการคอนโดมิเนียม เป็นต้น โดยวางเป้าหมาย SENA ZEH Oriented เพื่อลดการใช้พลังงานได้ไม่ต่ำกว่า 20%

 

Reference: