เฟดขึ้นดบ.กดดันกนง. กูรูคาดไทยขยับ3รอบ
นักเศรษฐศาสตร์ไม่ เซอร์ไพรส์ เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แต่เป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงินขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น “พิพัฒน์”ชี้หากชักช้า เจอ 2 เด้ง ทั้ง”บาทอ่อนแรง-ต้นทุนนำเข้ากระฉูด” ด้าน “คณิศ”กรรมการกนง.ยัน ไม่เรียกประชุมวาระพิเศษ มั่นใจเงินทุนสำรองระดับสูง ป้อมปราการสกัดเงินทุนไหลออก
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 15 มิ.ย.ตามเวลาสหรัฐ มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% จาก 0.75-1.00% เป็น 1.50-1.75% เพื่อสกัดการเร่งตัวของเงินเฟ้อ
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ 0.75% ถือว่าเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด ทำให้ ณ สิ้นปีดอกเบี้ยของเฟดน่าจะขึ้นไปแตะระดับ 3%
ดังนั้นโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้ จึงมีความเป็นไปได้ เพราะไทยเจอแรงกดดันเงินเฟ้อเช่นเดียวกันเฟด และคาดว่าระยะถัดไปมีโอกาสที่จะเห็นเงินเฟ้อแตะระดับ 10% ดังนั้นหากกนง.ไม่ทำ อะไร โอกาสที่จะเห็นไทย เหมือนญี่ปุ่น จะเผชิญปัญหา 2 ด้าน คือ ค่าเงินอ่อนค่ารุนแรง ทำให้ผู้นำเข้าต้องมีภาระต้นทุนสูงขึ้น
”วันนี้แบงก์ชาติไม่ทำอะไรไม่ได้ ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อที่เจอเหมือนกันกับสหรัฐ วันนี้สิ่งที่กังวลคือหากเงินเฟ้อขึ้นสุงต่อเนื่อง อาจทำให้เงินเฟ้อหลุดกรอบไปมาก อาจส่งผลให้ระบบต้องปรับต้นทุนสินค้า ค่าจ้างขึ้นแรง เพื่อตามเงินเฟ้อ ดังนั้นหากแบงก์ชาติไม่ทำอะไร อันตราย แบงก์ชาติอาจต้องเจอแรงกดดันว่าทำอะไรอยู่”
ขณะเดียวกันที่กังวลถัดมาคือหลังจากขึ้นดอกเบี้ย การดูแลกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้อย่างไร เพราะปัจจุบันเจอผลกระทบจากโควิด-19อยู่แล้ว ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของแบงก์ชาติอีกด้านคือขึ้นดอกเบี้ยแล้ว มีมาตรการอะไรเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยลง
อย่างไรก็ตามการคาดการณ์กนง.ขึ้นดอกเบี้ยเป็น 3 ครั้ง ถือว่ามากกว่าที่ประเมินไว้ตอนต้นที่คาด 2 ครั้ง เท่านั้น
ลุ้นกนง.นัดพิเศษก.ค.
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ 0.75% ไม่สำคัญเท่า การขึ้นที่ระดับ 0.75% ถือว่าเป็นระดับที่ขึ้น ค่อนข้างมาก และหากมองไปข้างหน้า ยังเห็นการขึ้นต่อเนื่อง และยังเปิดรูมขึ้นได้อีก 0.75% ในครั้งถัดไป
ดังนั้นประเมินว่า ในมุมการดำเนินนโยบายการเงินของไทย อาจมีโอกาสที่จะเห็นการประชุมนัดพิเศษ ก่อนถึงรอบประชุม 10 ส.ค. เพราะระหว่างที่จะมีการประชุมกนง.อีกครั้งนั้น ในเดือน ก.ค. เป็นช่วงที่เฟดมีประชุมที่อาจขึ้นดอกเบี้ยไปอีก 0.75% และราคาน้ำมันอาจสูงขึ้น เงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นหลายองค์ประกอบ อาจทำให้กนง.อาจมีการประชุมนัดพิเศษในเดือนก.ค.นี้ได้
”เรามองว่ามีอีกหลายประเด็นที่มีโอกาสเกิดขึ้น ก่อนประชุมกนง. ระหว่างที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกในก.ค.นี้ ดอกเบี้ยเฟดอาจจะไปไกลมากขึ้น น้ำมัน หรือเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้น ดังนั้นอาจเห็นกนง.ขึ้นดอกเบี้ยครึ่งทาง ก่อนที่จะ ขึ้นดอกเบี้ยติดกันใน 3 การประชุมครั้งที่เหลือปีนี้ เพราะหากทิ้งจังหวะนาน เวลาขึ้น อาจต้องขึ้นแรง”
กรุงไทยจ่อปรับจีดีพีขึ้นเกิน 3%
นายพัชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ย ของเฟดที 0.75% ถือว่าไม่เซอร์ไพรส์ตลาด เพราะตลาดมองว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยแรงอยู่แล้ว ขณะที่กนง.คาดว่า โอกาสที่จะเห็นขึ้นดอกเบี้ย คือรอบการประชุมกนง.ในวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งกนง.น่าจะรอได้ ไม่จำเป็นต้องประชุมนัดพิเศษ
ดังนั้นประเมินว่า กนง.เดือนส.ค.นี้ มีโอกาสที่กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ถึง 70% เพราะการส่งสัญญาณกนง.ชัดเจนว่า เศรษฐกิจ มีภาพที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นทำให้กนง.มีการปรับจีดีพีไปสู่ระดับสูงสุด หากเทียบกับประมาณการณ์ของภาคเอกชน ขณะที่คาดว่า กนง.น่าจะ ขึ้นดอกเบี้ยได้อีกครั้งในเดือนก.ย. ที่ 0.25% จากภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ขณะที่มองว่าเงินทุนไหลออก ไม่น่าเป็นปัจจัยหลัก ที่กดดันทำให้กนง.ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพราะวันนี้ยังไม่เห็นการไหลออกอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดธนาคารอยู่ระหว่างการปรับประมาณการณ์จีดีพีเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ประเมินขยายตัว 3% จากตัวเลขท่องเที่ยว ที่ปรับตัวดีขึ้น
ห่วงเงินเฟ้อขึ้นแรงหนุนธุรกิจต้นทุนพุ่ง
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) กล่าวว่า สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด 0.75% ถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้ปัจจุบันเงินบาทไม่ได้อ่อนค่า แต่ระยะถัดไป คาดว่าดอลลาร์ยังมีทิศทางแข็งค่า จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดต่อเนื่อง ดังนั้นมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้คาดการณ์ว่ากนง.น่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ทั้ง 3 ครั้งของการประชุมที่ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ 1-1.25% ได้ในช่วงปลายปี ขณะเดียวกันโอกาสที่จะเห็นกนง.ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดก็มีโอกาสเป็นไปได้ หากเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่กระทบเป็นวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม จากเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้น ได้ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนสินค้าที่ เพิ่มขึ้น ที่ยังไม่ส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภค เพราะหากดู เงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 7% แต่เงินเฟ้อของ ผู้ผลิตเพิ่มขึ้นถึง 13% จากต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นสูง มาจากน้ำมัน โดยเฉพาะต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเกือบ 70% หากเทียบกับ ก่อนโควิด-19 เหล็กขึ้นมาแล้ว 17% และสินค้าเกษตรที่ต้นทนุปรับตัวเพิ่มขึ้นดัง 10%
ทั้งนี้หากดูต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับภาคธุรกิจ พบว่า ขึ้นมากที่สุดในกลุ่มผู้ผลิตพลังงาน 25.8% ขนส่งโลจิสติกส์ 15.2% ประมง 13.2% โรงสีข้าว ผู้ส่งออกข้าว 7.3% ผู้รับเหมา 5.3% ร้านค้าปลีกค้าส่ง บริโภค 3.5% ฯลฯ เหล่านี้ยังไม่รวมกับต้นทุนที่มาจากค่าแรง
นอกจากนี้ ต้นทุนดังกล่าว ยังไม่รวมถึงต้นทุนจากดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งเหล่านี้ มองว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี มากกว่าธุรกิจรายใหญ่ จากการพึ่งพาสินเชื่อหมุนเวียน ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว
ซีไอเอ็มบีไทยชี้ไทยจ่อขึ้นดบ.สูงสุดแตะ1.50%
นายภิสัก อึ้งถาวร ผู้บริหารฝ่ายวิจัยตลาดเงินและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่าประเทศไทยยังอยู่ในภาวะ ดอกเบี้ยต่ำ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น รอบนี้ terminal rate จุดสูงสุดของการขึ้นดอกเบี้ยของไทยจะอยู่ที่ระดับ 1.50% สำหรับดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้
ขณะที่ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ในระยะถัดไปนั้น คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3% ซึ่งจะไม่สูงเท่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในเรื่องปัญหาประชากรผู้สูงอายุ ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับที่สูงกว่า 90% ต่อจีดีพี และปัญหาการกระจายรายได้ ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าในอดีตนั้น อาจส่งผลให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทำได้ไม่มากเหมือนในช่วงที่ผ่านมา
ด้านกลยุทธ์ลงทุน แนะปรับพอร์ตเพิ่มการลงทุนระยะสั้นประมาณ 2-3 ปี ผลิตภัณฑ์ประเภทคุ้มครองเงินต้น แบบมีการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ ลดความเสี่ยงจากตลาดที่มีความผันผวนสูง แต่ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
”คณิศ” ยันกนง.ยังไม่เรียกประชุมฉุกเฉิน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในฐานะคณะกรรมการกนง. กล่าวว่า ในขณะนี้ ยังไม่มีการนัดประชุม กนง.นัดฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย โดยการกำหนดการประชุมยังเป็นไปตามการนัดปกติในเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้
นายคณิศกล่าวว่า แม้ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียว 0.75% แต่ก็เป็นการปรับขึ้นเพื่อการแก้ปัญหาภายใน เพราะก่อนหน้านี้ สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยช้าไปเมื่อเงินเฟ้อปรับตัว ขึ้นมากจึงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
สำหรับเศรษฐกิจของไทยถือว่ามีแนวโน้มที่ดี การขยายตัวในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 3% และจะสามารถที่จะขยายตัวต่อเนื่องในปีหน้าที่ประมาณ 4.5-5% ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูงมาก และระดับหนี้สินต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำมาก
ทุนสำรองแกร่ง-หนี้ต่ำ หนุน
”ยังไม่มีเหตุผลที่ กนง.ต้องมีการประชุมฉุกเฉิน เพราะโดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพมากไม่เหมือนกับบางประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศมากและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำที่มีความเสี่ยงมากเมื่อสหรัฐฯมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น”
ส่วนประเด็นการปรับดอกเบี้ยของสหรัฐเพิ่มอีกในระยะต่อไป นายคณิศ กล่าวว่า จะเกิดเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital flow) แต่ว่าในเรื่องการเคลื่อนย้ายของเงินทุนเป็นเรื่องปกติ เมื่อเงินไหลออกไปก็อาจจะไหลกลับเข้ามาได้เช่นกัน เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐนั้นเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นไม่มีผลต่ออัตราพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯในระยะยาวที่ใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม
”ตอนนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้พึ่งพิงเศรษฐกิจสหรัฐมากเหมือนเดิมแล้ว เช่นเดียวกับ ประเทศอื่นๆ ที่เศรษฐกิจมีการพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐลดลงไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ทำให้การปรับดอกเบี้ยต้องดูเรื่องของปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศด้วย”
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ