'เนด้า'เชียร์สร้างสะพานไทย-ลาว7

17 Feb 2021 570 0

           รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า  กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินลงทุน 3,930 ล้านบาท ตาม ที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงคมนาคมร่วมกับ สปป.ลาว ได้ผลักดันโครงการคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 66 ขณะเดียวกันรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศเร่งรัดโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบล ราชธานี-สาละวัน) วงเงิน 4,765 ล้านบาท ซึ่ง ทล. ได้สำรวจและออกแบบแล้วเสร็จ รัฐบาลไทยและ สปป.ลาว เตรียมประชุมหารือวางแผนดำเนินโครงการให้ชัดเจน เพื่อช่วย กระตุ้นเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ ให้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น

          รายงานข่าวแจ้งต่อว่า  เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจการค้าการขนส่งทั้ง 2 ประเทศในอนาคต ขณะนี้สำนักงาน ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือเนด้า อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาการจัดลำดับความสำคัญของการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และการเปิดจุดผ่านแดนถาวรกับประเทศเพื่อนบ้าน ผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยควรมีสะพานไทย-ลาว เพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ 1.โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 7 (อำนาจเจริญ-สุวรรณเขต) บริเวณจุดผ่อนปรน การค้าบ้านยักษ์คุ ต.ชานุมาน อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ เนื่องจากอำนาจเจริญเป็นจังหวัดเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขง และยังไม่มีสะพานเชื่อมการค้ากับ สปป.ลาว หากเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานที่ติดริมแม่น้ำโขงมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวหมดแล้ว เช่นสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์), แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต), แห่งที่ 3 (นครพนม- คำม่วน) และแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)

          หากสามารถยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านยักษ์คุเป็น จุดผ่านแดนถาวรได้จะทำให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรแห่งแรกของจังหวัด อีกทั้งการสร้างสะพานจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวการค้าฝั่ง จ.อำนาจเจริญ เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ สะหวัน-เซโน ฝั่ง สปป.ลาว รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ ปราสาทวัดพู 2.โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 8 (เลย-เวียงจันทน์) แต่ยังมีความจำเป็นน้อยอยู่เนื่องจาก จ.เลย มีสะพานเพื่อเชื่อมต่อไปยังฝั่ง สปป.ลาว แล้ว ผ่านสะพานมิตรภาพ แม่น้ำเหือง ขณะที่ฝั่งเวียงจันทน์ สปป.ลาว ยังมีสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 เชื่อมมา จ.หนองคาย ได้ รองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทั้ง 2 ฝั่ง ไม่มีความหนาแน่นมากนัก

          และ 3.โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 9 (อุบลราชธานี-จำปาศักดิ์) ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นเช่นกัน เนื่องจากไทยกำลังผลักดันให้เกิดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ทำให้ จ.อุบลราชธานี มีเส้นทางขนส่งครอบคลุมและเพียงพอต่อการค้าของพื้นที่ สปป.ลาวใต้ ตลอดจนขนส่งสินค้าเชื่อมต่อประเทศเวียดนามได้

          ทั้งนี้ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จสมบูรณ์เดือน ก.พ.นี้ จากนั้นเนด้าจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพื่อ ผลักดันให้เกิดการก่อสร้างต่อไป ส่วนจะก่อสร้างสะพาน ไหนก่อนนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐ หากต้องการสร้าง สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 7 จ.อำนาจเจริญ ก่อนสามารถนำผลการศึกษานี้ไปใช้ได้ ขณะเดียวกันต้องมอบหมาย กระทรวงคมนาคมโดย ทล. ศึกษารายละเอียด ตำแหน่ง ที่ตั้ง แนวเส้นทางที่เหมาะสมทั้งฝั่งไทย และฝั่ง สปป.ลาว รวมถึงออกแบบสะพาน รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รูปแบบการลงทุน และกรอบเวลาดำเนินการต่อไป

Reference: