เตือน 6ปัจจัยเสี่ยง ฉุดศก.โลก จับตา เงินเฟ้อ ชี้ชะตาดบ.เฟด
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อจับตาเศรษฐกิจโลก เจาะลึกเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่า ในปีนี้ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย คือนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกแค่ครั้งเดียวหลังจากที่เพิ่งประกาศขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อวานนี้ (1 ก.พ 2556) ในอัตรา 0.25% เพราะเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดไม่ต้องการให้เศรษฐกิจสหรัฐ ตกอยู่ในสภาวะ”โวล์คเกอร์ เอฟเฟค” เหมือนในปี 1980-1982 ที่พอล โวล์คเกอร์ ประธานเฟดขณะนั้น ออกนโยบายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้ออย่างผิดพลาด จนกระทั่งเกิดสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยถึง 2 ครั้งภายใน 2 ปี
รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน อาจมีความรุนแรงมากขึ้น ในไตรมาส 2 หรือ 3 ของปีนี้ ซึ่งจะส่ง ผลกระทบต่อราคาพลังงานโลกอย่างแน่นอน, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลดีกับประเทศอื่นๆและประเทศไทย แต่ต้องจับตาในไตรมาส 2 และ 3 ว่าเศรษฐกิจจีนจะโตตามที่นักวิเคราะห์คาดไว้ หรือไม่, วิกฤติหนี้ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (อีเอ็ม) มีแนวโน้มลดลงหรือหายไปอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ติดตามอัตราเงินเฟ้อโลกที่อาจปรับตัวลง เข้าสู่ระดับ 2% และ กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) มีแผนภายใน 5 ปีต่อจากนี้จะเริ่มมีการเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของประเทศไทยอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือ ยางพารา และน้ำมันปาล์มดิบ”
อย่างไรก็ตามในปี 2565 ตามการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เศรษฐกิจไทยโตค่อนข้างดีท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นในอนาคตรัฐบาลควรพัฒนาภาคการท่องเที่ยวในเชิงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีอยู่ 3 เทรนด์ที่กำลัง ได้รับความสนใจ คือ
1.เทรนด์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย หากย้อนกลับไปดูตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ การเติบโตของเศรษฐกิจใหญ่ เช่น สหรัฐ ยุโรป มีการชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ทำให้เกิดความกังวลเรื่องภาวะถดถอยว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
2. นโยบายการเงินกับอัตราเงินเฟ้อ ช่วงปีที่แล้วมีการเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยสูงและเร็ว ถือว่าแรงมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวค่อนข้างเยอะ จะส่งผลต่อเนื่องมาปีนี้ ด้วยหรือไม่ และ
3. ที่คนเริ่มกังวลไม่น้อย คือเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลกระทบค่อนข้าง รุนแรงต่อตลาดการเงินและการลงทุน
โดยการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ให้เป้าการเติบโตไว้ที่ 2.9% ถือว่าเป็นข่าวดีน่าจะมีโอกาสหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ช่วง ต.ค.ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.7% ตัวเลขการเติบโตปีที่แล้วในยุโรปติดลบ 1.4% อังกฤษติดลบ 0.6% ขณะที่จีนเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่ ถ้าดูปลายปีที่แล้วตัวเลขไม่ค่อยดี และหลังจากปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายทำให้ประมาณการเศรษฐกิจของปีนี้ดีขึ้นเป็น 5% จากปีที่แล้วที่คิดไว้แค่ 4.4% ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีต่อเศรษฐกิจโลก
ส่วนกรณีของประเทศไทย ช่วงฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากโควิดมีความล่าช้ากว่าหลายประเทศ จากการรับวัคซีนที่ค่อนข้างช้า ความพร้อมในการเปิดประเทศมีน้อยกว่า ฉะนั้นไทยก็ค่อย ๆ ขยับ และคาดว่าปีนี้จะขยับขึ้นมาได้อยู่ที่ 3.7% แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องจับตาดูแบงก์ชาติ หรือหน่วยงานสภาพัฒน์ ที่จะมีการอัพเดตตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนก.พ.นี้
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องระมัดระวัง แม้ว่าเฟดมีการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี่ย 0.25% เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะที่เงินเฟ้อจากที่ปรับลดลงมาจาก 8.8% ลงมาเหลือ 6% ถือว่าเป็นข่าวดี แต่ว่า 6% ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และเป็นการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างดื้อ ซึ่งมองว่า อัตราเงินเฟ้ออาจจะปรับลดลงมาได้ไม่ง่าย และคาดว่า อาจมีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะทิ้งระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี่ยนานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ขณะที่ช่วงเดือนม.ค. ที่สินทรัพย์เสี่ยงมีการปรับขึ้นมากเกินไป ยังต้องมีความระมัดระวังเช่นกัน
นายประสาร กล่าวว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ อาจจะส่งผลกระทบ โดยตรงต่อเศรษฐกิจเพิ่มแรงกดดันต่อภาคการผลิต การแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน และการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจในตลาดโลก ยังมีความต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาถึง ปีนี้ ซึ่งสงครามในยูเครนก็บ่งบอกให้เห็นว่า ไม่ได้มีการสู้รบกันแค่นั้น
ดร.ประสาร กล่าวต่อไปว่า สินทรัพย์ต่าง ๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทย -3.5% หุ้นโลกที่ -19.5% พันธบัตรรัฐบาล -3.7% ทองคำ -0.4% และอสังหาริมทรัพย์ -3.9% ขณะที่การเติบโตในตลาดหุ้นไทยปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 127,636 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ 137,274 ล้านบาท
นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทย มีการปรับตัว และเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ในการลงทุน ซึ่งมีหลากหลายธุรกิจหลายเซกเตอร์ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม การท่องเที่ยวเป็นต้น และยังให้ความสำคัญกับ ESG ปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนไทยมีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนสู่ระดับโลกเข้าดัชนี DJSI สูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 9 ปี จำนวน 26 บริษัท ที่เป็นมาตรฐานที่ดี รวมถึงพัฒนา Data Platfrom ให้เป็นมาตรฐาน และ ESG Academy ที่เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาบุคคลใหม่ ๆ กับอาชีพใหม่ ๆ ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย ต่าง ๆ ในการเปิดหลักสูตรรองรับ และ Climate Care Platform กับการ บูรณาการลดโลกร้อน
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ