เซ็นทรัลพัฒนา บุกธุรกิจโรงแรม ปลุกทราเวลอีโคซิสเต็ม

10 Jun 2022 415 0

          ผลกระทบจากโควิด-19 สร้างแรงสั่นสะเทือนธุรกิจเดิมๆ และพฤติกรรมการทำงานของผู้คน ทำงานจากที่ไหนก็ได้ เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยเฉพาะ White collar ขณะเดียวกันมีการขยายตัวของเมือง! สร้างโอกาสธุรกิจให้ยักษ์ใหญ่ “เซ็นทรัลพัฒนา” มองเทรนด์การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มการเดินทางทุกรูปแบบจากนี้จะขยายตัวมากขึ้น วางยุทธศาสตร์มุ่งบุกเบิกเศรษฐกิจการเดินทาง (Travel Ecosystem) โดยเตรียมงบกว่า 10,000 ล้านบาทขยายเครือข่าย “ธุรกิจโรงแรม” หนึ่งในพอร์ตธุรกิจใหม่

          วัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีศักยภาพรองรับการเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เป็นโอกาสในการต่อยอดโครงการมิกซ์ยูสของ เซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งจะมุ่งขยาย “ธุรกิจโรงแรม” วางแผน 5 ปี (2565-2569) เปิดบริการ 37 แห่ง ใน 27 จังหวัด รวมกว่า 4,000 ห้อง มูลค่าลงทุน กว่า 10,000 ล้านบาท

          รองรับดีมานด์ไม่เฉพาะกลุ่มคนที่มาท่องเที่ยว แต่รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่มาทำธุรกิจในต่างจังหวัดเป็นทางเลือกให้กับนักธุรกิจที่ต้องเดินทาง และตอบสนองวิถีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนไปตามเทรนด์ ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere)

          ”นับเป็นการทลายความคิดในการทำโรงแรมที่เคยมุ่งเน้นทัวร์ริสต์ที่มาจากต่างประเทศเท่านั้น วันนี้ไม่ใช่แล้ว สิ่งเหล่านี้ เปลี่ยนไป วันนี้เรากำลังพูดถึงหลักคิดของ การทำโรงแรมแบบใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน และเซ็นทรัลพัฒนาจะเป็นผู้บุกเบิกเศรษฐกิจการเดินทาง (Travel Ecosystem) โดยซินเนอร์ยีธุรกิจในเครือและต่อยอดมิกซ์ยูสที่เป็นเรือธง”

          ทางด้าน ภูมิ จิราธิวัฒน์ Head of Hotel Property ขยายความต่อว่า จากประสบการณ์ในต่างประเทศเทรนด์การพัฒนาโรงแรมเปลี่ยนไป! กล่าวคือหันขยายในหัวเมือง ต่างจังหวัดมากขึ้น  ยิ่งวิกฤติโควิด-19 กลายเป็น “ตัวเร่ง” ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนเร็วขึ้น โดยเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต ออกเดินทาง ท่องเที่ยว มากขึ้น ทั้งเที่ยวในจังหวัดบ้านเกิดตัวเอง (Staycation) ทำงานไปด้วยเที่ยวไปด้วย (Workcation ) เลือกได้ว่าจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ ภาพเหล่านี้จะเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ จากนี้

          เซ็นทรัลพัฒนา มองเห็นโอกาสที่เข้าไป บุกเบิกตลาดในต่างจังหวัดภายใต้แนวคิดใหม่ เพื่อขยายธุรกิจโรงแรมด้วยการต่อยอดโครงการมิกซ์ยูสของเซ็นทรัลพัฒนาเพื่อยกระดับการพัฒนาโรงแรมที่มีมาตรฐานระดับสากลทั่วประเทศ “ไม่ใช่” การรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นหลัก เพราะปัจจุบันกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยเพิ่มจำนวนขึ้นมาก “ไม่ใช่” แค่เที่ยวแต่รวมถึงการทำงาน

          โดย 2 ปีแรกนำร่อง 10 โรงแรม ปักหมุด จ.อุดรธานี  อุบลราชธานี นครราชสีมา อยุธยา โซนอีอีซี อย่าง ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

          สำหรับ กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ทั้งนักธุรกิจที่มาทำงาน หรือกลุ่มคนที่มาเที่ยว ในจังหวัดที่เป็น เมืองอุตสาหกรรม ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงาน หรือกลุ่มลูกค้า Workcation อาจนิยมไปอยุธยา ระยอง จากการสำรวจข้อมูลยังพบว่า หลังโควิดการเข้าพักในโรงแรมของ ลูกค้าทั่วประเทศนานขึ้น 3-5 วันจากเดิม 2-3 วัน

          ”ตลาดท่องเที่ยวในประเทศยังโตอยู่ อัตราเข้าพักโตขึ้น10% ทุกปี เป็นโอกาสที่ดี และเป็นตลาดที่ฟื้นตัวเร็ว ตลาดนี้กำลังโต เพราะไลฟ์สไลต์คนเปลี่ยน แทนที่จะรอกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามา ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นเท่าปี 2562 ที่มี นักท่องเที่ยวสูงถึง 40 ล้านคน น่าจะเป็นปี 2568”

          ทั้งนี้ โครงการศูนย์การค้าส่วนใหญ่ของ เซ็นทรัลพัฒนา มีทำเลใจกลางเมืองเป็น “Center of Town” ใกล้สนามบิน ถือเป็น “จุดแข็ง” และมีบริษัทในเครือ “เซ็นทารา” ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงแรม5 ดาวที่มีชื่อเสียงในหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น  กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา หัวหิน ทำหน้าที่บริหารโรงแรมมาตรฐานนานาชาติให้เซ็นทรัลพัฒนา ประกอบด้วย 3 แบรนด์หลัก “Centara”  แบรนด์ระดับ Upscale “Centara One” แบรนด์ Lifestyle  Midscale ทั้งสองแบรนด์ได้นำคอนเซปต์ Bleisure คือ Business + Leisure ตอบโจทย์ การพักผ่อนและการทำงาน อีก “Go! Hotel” แบรนด์ระดับ Premium Budget

          เกมรุกของดีเวลลอปเปอร์ยักษ์ใหญ่ครั้งนี่มีความพร้อมทั้งทุน โมเดลธุรกิจ ครบวงจร สร้างซินเนอร์ยีเขย่าคู่แข่ง ไม่น้อยเลยทีเดียว

Reference: