อาคม ชู ขาดดุล ปลุกเศรษฐกิจฟื้น

08 Apr 2022 608 0

           นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลนั้น เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยก็ต้องกู้เงินเช่นเดียวกับ 2 ครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ วิกฤติค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2553 ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ซึ่งได้รับผลกระทบทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ทั่วโลกก็จำเป็นต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเช่นเดียวกัน และตลอดที่ผ่านมาไทยดำเนินนโยบายขาดดุลมาโดยตลอด มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ที่ดำเนินนโยบายสมดุล

          ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายการขาดดุลนั้น เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาประเทศ และเชื่อมถนนจากเมืองสู่ชนบทเพื่อขนส่งสินค้าไปจำหน่ายและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็จะปรับขยายเพดานเช่นเดียวกัน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวก็ปรับลดเพดานลงเพื่อประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

          นายอาคม กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่จำเป็นต้องทำ และในอดีตไม่มีการทำ คือการปรับโครงสร้างรายได้ของประเทศ ทั้งการปรับโครงสร้างภาษีการขยายภาษีมีแต่การปรับลดภาษีลง โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ปรับลดลง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ และกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อมีการลดภาษีลงย่อมกระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐ ขณะที่รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการต่างๆ ได้แก่ การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างรายได้และขยายฐานภาษีขอย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้มีการใช้จ่ายเกินตัว และในปีงบประมาณ 66 ได้ตั้งงบประมาณขาดดุลลดลง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าต่อไปการขาดดุลยังมีอยู่แต่จะต้องลดขนาดของการขาดดุลลง ทั้งนี้ นโยบายการคลังและการเงินจะต้องสอดคล้องกันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการคงดอกเบี้ยนโยบายถือเป็นเรื่องที่ดี

Reference: