อัดสินเชื่อฟื้นฟู7.2หมื่นล.ต่อลมผู้ประกอบการ23,687ราย

20 Jul 2021 454 0

          นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และในฐานะประธานกรรมการ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงร.) เปิดเผยภายในงานสัมมนา “SMEs ไทยไปต่ออย่างไร ด้วยกลไกความช่วยเหลือของ ธปท. - แบงก์รัฐ” ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อย่างหนัก คือ ภาคธุรกิจการส่งออกและภาค การท่องเที่ยว รวมถึงภาคเอสเอ็มอี

          ”ภาครัฐโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมถึงออกมาตรการ ช่วยเหลือภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ปัจจุบันผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีประมาณ 15 ล้านราย มูลค่าการส่งออก ของภาคเอสเอ็มอีอยู่ที่ 12% จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมดที่ 7 ล้านล้านบาท” นายฉัตรชัย กล่าว

          สำหรับมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟูภาคธุรกิจ เพื่อรักษาสภาพคล่อง กรณีกระทบไม่มากยังชำระหนี้ได้ โดยช่วยเหลือผ่านโครงการ พักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีสินทรัพย์สินที่สามารถตีโอนชำระหนี้ได้และมีศักยภาพ ให้ไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว มีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต ไม่ถูกกดราคาทรัพย์สิน

          กลไกในการช่วยเหลือในโครงการ พักทรัพย์ พักหนี้ ธปท. จะสนับสนุนอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อสนับสนุนการรับตีโอนทรัพย์ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้าร่วม คือ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยมีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในไทย เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินนั้นอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มีนาคมและไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ส่วนทรัพย์ที่ใช้ตามมาตรการ เป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินนั้นก่อนวันที่ 1 มีนาคม

          และมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีศักยภาพ ประคับประคองกิจการรักษาการจ้างงาน เอื้อให้ธุรกิจฟื้นกิจการได้ไว ไม่กระทบศักยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยที่มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในไทย กรณีลูกหนี้เดิม มีวงเงินสินเชื่อ กับสถาบันการเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท และไม่เป็นลูกหนี้ NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562

          และกรณีลูกหนี้ใหม่ ไม่มีวงเงินสินเชื่อ กับสถาบันการเงินทุกแห่ง โดยไม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เว้นแต่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เอ็มเอไอ และไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ทางการเงิน สำหรับวงเงินสินเชื่อที่ผู้ประกอบการจะ ได้รับ ในส่วนของลูกหนี้เดิม ขอกู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงิน ในแต่ละสถาบันการเงิน แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท ลูกหนี้ใหม่ ขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยให้นับรวมวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน

          ในส่วนของระยะเวลาสินเชื่ออยู่ที่ 5 ปี หรือตามที่สถาบันการเงินกำหนด อัตราดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รัฐชดเชยดอกเบี้ย ระยะเวลา 2 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ระยะเวลา 5 อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี และหลังจาก 5 ปี อัตราดอกเบี้ยตามที่สถาบันการเงินกำหนด โดยเงื่อนไขการค้ำประกัน ต้องได้รับการค้ำประกัน โดยบรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)ทุกราย อัตราการชดเชยไม่น้อยกว่า 40% ของพอร์ตสินเชื่อ ค่าธรรมเนียม 1.175% ต่อปี

          สำหรับความคืบหน้าของสินเชื่อฟื้นฟู อนุมัติไปแล้ว 72,391.7 ล้านบาท ได้รับความช่วยเหลือ 23,687 ราย วงเงินเฉลี่ย 3.1 ล้านบาทต่อราย และในส่วนของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการ 959 ล้านบาท โดยได้รับความช่วยเหลือแล้ว 14 ล้านราย ผู้ประกอบการ ที่จะเข้าร่วมสามารถติดต่อผ่านทางธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง ระยะเวลา ขอสินเชื่อภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก. มีผล บังคับใช้ตั้งแต่ 10 เมษายน 2564

          น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการ อาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่าสัปดาห์นี้ กรมสรรพากรน่าจะประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการภาษีสนับสนุนการโอนทรัพย์สินหลักทรัพย์เพื่อชำระหนี้ ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เชื่อว่าหาก สิทธิประโยชน์ทางภาษีมีผลบังคับใช้ จะทำให้ ยอดการขออนุมัติตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่อยู่ระหว่างเจรจาทยอยเข้าสู่มาตรการเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเข้าร่วมมาตรการ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล สปา และโรงงานแปรรูปต่าง ๆ

          ”ยืนยันว่ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ได้มีการออกแบบอย่างยืดหยุ่น โดยเฉพาะระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการที่กำหนดไว้ยาวถึง 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564-9 เมษายน 2566 แต่หากสถานการณ์ต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น ก็สามารถขยายระยะเวลาออกไปได้อีก 1 ปี และยังสามารถขยายระยะเวลาการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ได้เพิ่มจาก 5 ปีด้วย ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะออกมาตรการเพิ่มหากจำเป็น”

Reference: