ออมสิน-ธกส.ให้กู้1หมื่น ธปท.ช่วยลดหนี้

15 May 2021 704 0

           กดรับสิทธิได้เย็นวันนี้ ‘สินเชื่อสู้ภัย’รายละ 1 หมื่นของออมสิน เกษตรกรกู้เพิ่มได้ที่ ธ.ก.ส. แบงก์ชาติไฟเขียวช่วยลูกหนี้รายย่อย 4 กลุ่ม

          ธปท.ออกมาตรการช่วยรายย่อยเฟส3

          เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง การระบาดในระลอก 3 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคธุรกิจบริการ โรงแรม ร้านอาหาร รถบริการรับส่งคน ซึ่งมีพนักงานและลูกจ้าง ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ทำให้รายได้หายไปหรือลดลง และมีสัญญาณว่าลูกหนี้รายย่อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้มากขึ้น จากการประเมินของสถาบันการเงินพบว่าลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเดิมยังคงต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่องและมีลูกหนี้ใหม่ที่ต้องการรับความช่วยเหลือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความเปราะบางที่สะสมมาตั้งแต่การระบาดระลอกแรก จำเป็นต้องช่วยเหลือเรื่องภาระหนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงินต่อไป

          น.ส.วิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธปท. กล่าวว่า จากเหตุดังกล่าว ธปท.ได้ร่วมกับผู้ให้บริการทางการเงินผ่านสมาคมและชมรมต่างๆ รวม 8 แห่งออกมาตรการช่วยเหลือ ลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 โดยยกระดับมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น มุ่งเน้นช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว มีทางเลือก มีความยืดหยุ่น และมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน

          ครอบคลุมสินเชื่อ4ประเภท

          น.ส.วิเรขากล่าวอีกว่า ความช่วยเหลือครั้งนี้ จะครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท คือ 1.บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น และจ่ายอัตราดอกเบี้ยลดลง 2.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด สำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผล กระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ 3.เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กำหนดแนวทางในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (Effective Interest Rate: EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม และปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยช่วงที่พักบนค่างวดที่พักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ และ 4.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน เพิ่มทางเลือกด้วยการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันไดตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยเปิดให้ลูกนี้แจ้งความประสงค์รับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม-31 ธันวาคมนี้ ผ่านช่องทางต่างๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน

          น.ส.วิเรขากล่าวว่า นอกจากนี้ ธปท.ยังมีช่องทางสนับสนุนการช่วยเหลือลูกหนี้ ได้แก่ 1. มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ สำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ได้ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ และจะเพิ่มการไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อในระยะต่อไป 2.โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ทาง www.bot.or.th/app/doctordebt/

          รบ.เสริมสภาพคล่อง2ล้านคน

          นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดตัวสินเชื่อสู้ภัย โควิด-19 สำหรับผู้มีรายได้ประจำ อาชีพอิสระ เกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 อนุมัติวงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท ผ่านการให้สินเชื่อของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.วงเงินธนาคารละ 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผ่อนคลายภาระทางการเงินเบื้องต้น ให้กับประชาชนได้กว่า 2 ล้านคน ออมสินเปิดให้สินเชื่อสู้ภัย โควิด-19 แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้มีรายได้ประจำ ไม่รวมผู้มีรายได้ประจำจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ ธ.ก.ส.เปิดให้กู้แก่เกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตร ผู้จะกู้จากทั้ง 2 ธนาคารนี้ ต้องมีสัญชาติไทย และอายุ 20 ปีขึ้นไป โครงการสินเชื่อ สู้ภัย โควิด-19 เป็นสินเชื่อไม่ต้องมีหลักประกัน (Clean Loan) อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก ระยะเวลาการขอกู้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564

          ธอส.เพิ่ม2มาตรการช่วยรายย่อย

          นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการแบ่งเบาภาระให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ คณะกรรมการธนาคาร โดยนายยุทธนา หยิมการุณ ประธานกรรมการธนาคาร จึงมอบหมายให้ธนาคารเร่งช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3 ของ ธปท.ในการยกระดับมาตรการให้รองรับสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น และสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม ด้วยการจัดทำเพิ่มอีก 2 มาตรการความช่วยเหลือผ่านโครงการ ธอส.รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564

          นายฉัตรชัยกล่าวว่า ได้แก่ มาตรการที่ 11 New Entry เลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน ระยะแรกเป็นระยะเวลา 3 เดือน (1 พฤษภาคม-31 กรกฎาคม 2564) สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของธนาคารมาก่อน มีสถานะบัญชีปกติ และไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ เปิดให้ลงทะเบียนเข้ามาตรการผ่านแอพพลิเคชั่น GHB ALL หรือ www.ghbank.co.th ตั้งแต่วันที่ 17-29 พฤษภาคมนี้

          เอสเอ็มอีเข้าโครงการได้ด้วย

          “ลูกค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการที่ 11 New Entry เรียบร้อยแล้ว เมื่อครบระยะเวลาความช่วยเหลือตามมาตรการจะสามารถทยอยผ่อนชำระดอกเบี้ยประจำงวดที่ตัดชำระไม่หมดในขณะที่เข้าร่วมมาตรการได้จนถึงวันก่อนที่ลูกค้าจะครบกำหนดตามสัญญาเงินกู้ หรือก่อนปิดบัญชีเงินกู้ต่อไป” นายฉัตรชัยกล่าว มาตรการที่ 12 เลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระหรือพักชำระหนี้ ในกลุ่มผู้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประเภทแฟลต โดยขยายความช่วยเหลือสำหรับลูกค้าเดิม แบ่งเป็น เลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่เกินเดือนตุลาคม 2564 หรือพักชำระหนี้ถึงเดือนตุลาคม 2564 ในกรณีที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ ยื่นคำขอเข้ามาตรการได้ที่สาขาทั่วประเทศโดยกลุ่มลูกค้าที่อยู่ระหว่างการรับความช่วยเหลือในมาตรการที่ 12 และจะครบกำหนดระยะเวลาความช่วยเหลือในเดือนพฤษภาคม 2564 สามารถยื่นคำขอเข้ามาตรการประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2564

          นายฉัตรชัยกล่าวว่า ส่วนลูกค้าที่จะครบกำหนดระยะเวลาความช่วยเหลือตามมาตรการในเดือนมิถุนายน 2564 แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 กรกฎาคม 2564 สำหรับลูกค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการที่ 12 เรียบร้อยแล้ว เมื่อครบระยะเวลาความช่วยเหลือตามมาตรการ จะสามารถทยอยผ่อนชำระหนี้ที่พักไว้ทั้งหมดภายใน 36 เดือน โดยเริ่มผ่อนชำระดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565

          ‘ออมสิน-ธ.ก.ส.’ลุยปล่อยกู้

          นายอนุชากล่าวว่า สำหรับธนาคารออมสินระยะแรกของโครงการเพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเริ่มบริการลูกค้าธนาคารเปิดใช้แอพพลิเคชั่น MyMo อยู่แล้วก่อนวันที่ 1 พ.ค.2564 มีกว่า 9 ล้านคน เริ่มจากลูกค้าได้รับผลกระทบพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรปราการ และเชียงใหม่ ยื่นกู้ได้ทางแอพพลิเคชั่น MyMo ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ระยะต่อไปจะขยายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะเริ่มในวันที่ 20 พ.ค.2564 ตามด้วยลูกค้ากลุ่มอื่นที่ไม่มีแอพพลิเคชั่น MyMo ขณะที่ ธ.ก.ส. เปิดให้ร่วมโครงการผ่าน LINE Official ดูรายละเอียดได้ที่ www.baac.or.th หรือสอบถามที่คอลเซ็นเตอร์ 0-2555-0555

          “รัฐบาลยังมีมาตรการด้านการเงินสำหรับประชาชนและภาคธุรกิจกลุ่มต่างๆ อาทิ พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 ประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” นายอนุชากล่าว

          ออมสินเพิ่มสิทธิช่วยลูกค้า6ล้านราย

          นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างเร่งขยายฐานผู้มีสิทธิขอสินเชื่อสู้ภัย โควิด-19 ลงระบบแอพพลิเคชั่น MyMo ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเร็วที่สุด สำหรับพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด จะขยายสิทธิเป็น 2 ล้านราย ให้สามารถกดขอสินเชื่อได้ในช่วงเย็นของวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 และขยายเพิ่มเป็น 6 ล้านรายทั่วประเทศ ภายในต้นสัปดาห์ถัดไป ซึ่งเร็วขึ้นกว่าแผนงานเดิม

          นายวิทัยกล่าวว่า ทั้งนี้ ผู้ที่เคยกู้สินเชื่อตามมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มาแล้ว ทั้งที่เป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 10,000 บาท/ราย และสินเชื่อเสริมพลังฐานรากวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท/ราย มีสิทธิขอกู้โครงการสินเชื่อสู้ภัย โควิด-19 ครั้งนี้ได้อีก โดยสามารถกดรับสิทธิได้ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 เช่นเดียวกัน จึงขอแจ้งให้ประชาชนโปรดติดตามและกดเข้าแอพพ์เพื่อตรวจสอบสิทธิของตนเองได้ตามกำหนดเวลาที่แจ้ง

          ชงครม.ลดเงินสมทบประกันตน

          นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกันสังคม หรือบอร์ดประกันสังคม มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. . ให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท เป็นเวลา 3 เดือน งวดเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 ส่วนงวดเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นไป ให้ส่งเงินสมทบอัตราเดิม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้าง 485,113 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,384 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,163 ล้านบาท

          หอค้าเชียร์เน็ตสู่สาธารณูปโภค

          นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ผลักดันอินเตอร์เน็ตให้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ว่าเห็นด้วยกับการผลักดันดังกล่าว เพราะในช่วงนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีความรุนแรงในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ต้องปรับตัวในการทำงานที่บ้านมากขึ้น รวมถึงเรื่องการศึกษาที่ต้องเรียนออนไลน์มากขึ้น แม้แต่โครงการหรือมาตรการของภาครัฐที่ออกมาก็ต้องใช้ระบบอินเตอร์เน็ตในการดำเนินการเช่นกัน ดังนั้น การผลักดันดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้

          “การกระทำดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนลดรายจ่ายลง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวไม่ได้ช่วยเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น หากทำสำเร็จจะช่วยให้ประชาชนในทุกกลุ่มลดรายจ่ายลงได้ จึงอยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินการในเรื่องนี้โดยด่วน” นายสนั่นกล่าว

          นายวีระ วีระกุล รองประธาน และประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับการให้อินเตอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่ก็มีความกังวลว่าเมื่ออินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกที่แล้ว แต่ประชาชนไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์อย่างเช่น สมาร์ทโฟนคุณภาพดี คอมพิวเตอร์ เป็นต้น บางคนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินจ่ายค่าบริการรายเดือน ค่าผ่อนอุปกรณ์ ก็อยากให้มีการแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาสนับสนุนอุปกรณ์ให้กับคนยากไร้จริงๆ ต้องใช้แนวคิดคนรายได้น้อยสามารถมีบ้านได้ (low income housing)

          จี้เร่งมาตรการกระตุ้นศก.ต่อเนื่อง

          นายสนั่นกล่าวว่า ส่วนในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น นอกจากจะเร่งผลักดันเรื่องการฉีดวัคซีนแล้ว รัฐต้องเร่งขับเคลื่อนโครงการ หรือมาตรการ อาทิ คนละครึ่ง เป็นต้น ให้เร็วกว่านี้อีกด้วย เพราะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2/2564 ถือว่าสาหัสมาก ต้องเร่งเยียวยาโดยด่วน ส่วนอีกเรื่องที่หอการค้าฯให้ความสนใจ และอยากให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการคือ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ทั้งนี้ ในช่วงต้นสัปดาห์หน้าทางหอการค้าฯจะมีการหารือเป็นการภายในกับสมาชิก เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปลดล็อกให้กับธนาคารต่างๆ เพื่อให้ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รวดเร็วและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นก่อนนำไปเสนอ ธทป.ต่อไป

          สอท.หนุนเน็ตโครงสร้างพื้นฐาน

          นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีแนวคิดให้การบริการอินเตอร์เน็ตเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่นเดียวกับน้ำไฟฟ้านั้น ถือเป็นเรื่องดี ขอสนับสนุน เพราะปัจจุบันอินเตอร์เน็ตมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้อินเตอร์เน็ตมีความสำคัญสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงอายุ กิจกรรมต่างๆ ทั้งการเรียนการสอน การทำงาน ความบันเทิง การทำธุรกรรมทางการเงิน การค้าขายต่างๆ ทุกกิจกรรมเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย เพิ่มช่องทางการทำงาน การค้าขาย ที่ประชาชนไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้ตามปกติ

          “เวลานี้ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ยังรอได้เป็นวัน แต่ถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ต หลายกิจกรรมต้องหยุดทันที โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานหรือเรียนที่บ้าน นอกจากนี้ในอนาคตอินเตอร์เน็ตจะเชื่อมโยงมากขึ้น ทั้งภาคอุตสาหกรรม บริการ การเงิน ดังนั้นหากไทยเตรียมการเวลานี้จะเป็นเรื่องดี” นายเกรียงไกรกล่าว

          นายเกรียงไกรกล่าวว่า นอกจากนี้อยากให้ภาครัฐกำหนดราคาในระดับต่ำ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึง และสร้างกลไกแข่งขันที่เป็นธรรม เสรี ไม่ผูกขาดเช่นเดียวกับบางรัฐวิสาหกิจ ที่สุดท้ายไม่เกิดประสิทธิภาพ กลายเป็นภาระของประชาชนในเวลาต่อมา

          ทีดีอาร์ไอแนะ3ข้อรัฐเร่งทำ

          นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า อินเตอร์เน็ตมีประโยชน์ และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่าการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล หรืออินเตอร์เน็ตนั้น นำมาซึ่งผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจที่สูง ทั้งนี้ต้องมาพร้อมกับความพร้อมของประชาชนด้วย มีอยู่สามประเด็นที่รัฐบาลต้องเร่งทำ คือ เมื่อประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้มากขึ้น มักจะเกิดปัญหาเรื่องของคนไม่มีความรู้เท่าทัน ทำให้โดนหลอกจากมิจฉาชีพได้ง่าย ประเด็นที่สองคือ ควรจะมีโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตหรือเทคโนโลยดิจิทัลที่เพียงพอ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดวิกฤตความเหลื่อมล้ำได้ เช่นในบางพื้นที่ยังไปไม่ถึง จะทำให้เกิดช่องว่างที่เรียกว่าความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) และประเด็นสุดท้ายคือการติดตั้งหรือสร้างโครงสร้างพื้นฐานอะไรต่างๆ ของภาครัฐ แม้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องมองในมุมของความคุ้มค่าด้วย เมื่อลงทุนผลักดันให้นโยบายนี้เกิดขึ้น จะต้องมีการประเมินถึงความคุ้มค่าว่ามีการแข่งขันทางการตลาดได้จริง มีคุณภาพการบริการที่ดีจริง และมีการกำหนดเงื่อนไข ทั้งส่วนของการลงทุน และการบริการต่างๆ ให้อย่างดีด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          เชียร์เน็ตฟรีกลุ่มรายได้น้อย

          นายนณริฏกล่าวว่า สำหรับเรื่องการที่จะผลักดันนโยบายให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยใช้อินเตอร์เน็ตฟรีนั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่เวลาที่ภาครัฐจะแจกอะไรให้ใช้ฟรี ก็ต้องคำนึงถึงมันจะมีปัญหาเรื่องความสามารถในการเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาคุณภาพ หรือพื้นที่ใช้งาน ควรต้องคำนึงถึงในแง่การปฏิบัติด้วยไม่ใช่แค่จะใส่อินเตอร์เน็ตฟรีไว้แค่ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือศูนย์กลางของพื้นที่อย่างเดียวแล้วเวลาคนใช้เราจะต้องวิ่งไป ที่นั้น แบบนี้ก็จะถือว่าไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

          ส.ภัตตาคารขอวัคซีนฉีดกลุ่มร้านอาหาร

          นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯได้ยื่นเรื่องไปยังรัฐบาล ขอรับวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับคนในอุตสาหกรรมร้านอาหาร โดยได้เปิดให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อแสดงความต้องการรับวัคซีน ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1 แสนคน จึงมองว่ารัฐบาลควรใช้โอกาสช่วงที่ธุรกิจร้านอาหารยังไม่สามารถเปิดนั่งทานที่ร้านได้ เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนเหล่านี้ก่อน เพื่อเรียกความ เชื่อมั่นกลับมาทั้งจากผู้ประกอบการ พนักงาน ลูกค้า จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้นได้

          “เข้าใจว่าวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ยังไม่มากพอ สมาคมฯไม่ได้ต้องการให้คนธุรกิจอาหารที่ลงทะเบียนทั้ง 1 แสนคนได้รับการฉีด แต่อยากให้นำร่องก่อนแบ่งเป็นจำนวนเท่าใดก็ว่ากันไป” นางฐนิวรรณกล่าว

          นางฐนิวรรณกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนไม่น้อยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการต้องปิดกิจการ และหลายรายต้องปิดกิจการไปแล้วตามที่ปรากฏให้ได้ทราบในสื่อต่างๆ เพราะยอดขายที่หายไป เนื่องจากรายได้หลักของร้านอาหาร 80% มาจากรายได้เปิดนั่งรับประทานในร้าน ที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการควบคุมการระบาดด้วยดีมาตลอด แต่ผู้ประกอบการทั้งระบบแทบไม่ได้ออกมาเรียกร้องการเยียวยาใดๆ ทั้งสิ้น แม้มาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ กลุ่มธุรกิจร้านอาหารจะเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือได้น้อยมากในทางปฏิบัติ แต่วิกฤตรอบ 3 นี้ ภาคธุรกิจร้านอาหารมีข้อเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐมาเป็นระยะๆ เพราะเมื่อต้องหยุดให้บริการนั่งรับประทานในร้าน ทำให้รายได้หายไป เมื่อรวมกับวิกฤตที่เจอมาในช่วงแรกจึงสะสมจนแบกไว้ไม่ไหว หลายร้านต้องปิดตัวลงถาวร และอีกหลายร้านต้องปิดชั่วคราว รวมถึงอีกหลายร้านกำลังจะเจ๊ง (อ่านรายละเอียด น.2)

          สัปดาห์หน้ารู้ลดค่าส่งอาหาร

          จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์รายงานกรณีผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร (Food Delivery) มีการเรียกเก็บค่า Gross Profit (GP) หรือค่าคอมมิสชั่น จากผู้ประกอบร้านอาหาร ในอัตราที่สูงถึง 30-35% ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด โควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติและต้องพึ่งการขายผ่านบริการรับส่งอาหารอย่างเดียว ทำให้ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นจากค่า GP ในอัตราที่สูงนั้น

          นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สนข.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เชิญผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร จำนวน 5 ราย ได้แก่ Grab, Lineman, Gojek, Foodpanda และ Robinhood เข้าร่วมหารือผ่านทางออนไลน์เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย โดยให้การเรียกเก็บค่า GP และค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากผู้ประกอบการร้านอาหารในอัตราที่เป็นธรรม และห้ามมีพฤติกรรมทางการค้าที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

          นายสมศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจ 4 ราย คือ Grab, Lineman, Gojek, Foodpanda เรียกเก็บค่า GP สูงสุดในอัตราไม่เกิน 30% (ไม่รวมแวต หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม) และ Robinhood ไม่เก็บค่า GP และประเด็นที่สำคัญได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกรายพิจารณาแนวทางการปรับลดอัตราค่า GP รวมทั้งมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 โดยขอรับทราบผลจากผู้ให้บริการธุรกิจแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารภายในสัปดาห์หน้าแจ้งให้ สนข.ทราบ

Reference: