อสังหาฯ ภาคอีสานจ่อฟื้นตัวครึ่งหลังปี65 บ้านแฝด-ทาวน์เฮาส์ ตอบโจทย์กำลังซื้อยุคโควิด

22 Sep 2021 558 0

          ศูนย์ข้อมูลฯประเมิน ตลาดอสังหาฯภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มเห็นสัญญาณบวกที่จะฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2565 หากสามารถกระจายวัคซีนได้ทั่วถึง จะทำให้สถานการณ์ที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้น ส่องดีมานด์เริ่มถดถอยจากพิษ โควิด แรงซื้อบ้านเดี่ยวแผ่ว หันมองบ้านแฝด และทาวน์เฮาส์ คาดหน่วยเหลือขายปี 65 ปรับขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 12,619 หน่วย มูลค่ารวม 43,080 ล้านบาท ปัจจัยจากผู้ประกอบการเติบซัปพลายใหม่

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ได้รายงานถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม) พบว่า ในครึ่งปีแรก 64 ภาพรวมตลาดมีการชะลอตัวอย่างมากในด้านอุปทานของหน่วยเปิดขายใหม่ มีโครงการเข้าสู่ตลาดน้อย โดยมีเพียง 1,583 หน่วย หรือ ลดลงร้อยละ -24.4 และมีมูลค่ารวม 4,861 ล้านบาท หรือ ลดลงร้อยละ -20.6 ส่งผลให้อุปทานที่อยู่อาศัยทั้งหมดที่มีการขายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนรวม 13,701 หน่วย หรือ ลดลงร้อยละ -11.1 และมีมูลค่ารวม  47,000  ล้านบาท หรือ ลดลงร้อยละ -12.9

          โดยหน่วยขายได้ใหม่ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายอยู่ในตลาดประมาณ 11,560 หน่วย และมีมูลค่ารวมประมาณ 40,526 ล้านบาท

          ”ภาพรวมตลาดอสังหาฯแต่ละจังหวัด โครงการแนวราบ จะได้รับความนิยมและจะมีสินค้ารอขายที่รวมแล้วค่อนข้างสูง อย่างเช่น ทาวน์เฮาส์ที่เป็นสินค้ารอขายใน จ.นครราชสีมา จะมีติดอยู่ในมือของบริษัทอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ในสัดส่วนที่สูงร้อยละ 58.2 บ้านเดี่ยวมีอยู่ในมือร้อยละ 16 ซึ่งผู้เล่นหลักยังคงเป็นบริษัทอสังหาฯ ในพื้นที่ ส่วนที่ จ.ขอนแก่น จะพบเห็นเรื่องกำลังซื้อ ทาวน์เฮาส์จะขายได้ดี เนื่องจากกำลังซื้อถดถอยจากเดิมมองที่บ้านเดี่ยว แต่ด้วยราคา จึงขยับลงมาดูบ้านแฝด และมาที่ ทาวน์เฮาส์ ขณะที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นในขอนแก่น มีความเข้มแข็งและทำโครงการต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ จ.อุดรธานี ที่กำลังซื้อในตลาดบ้านเดี่ยวลดลง แต่บ้านแฝดและทาวน์เฮาส์เป็นที่ต้องการ ซึ่งจะพูดได้ชัดเจนว่า เทรนด์ทั่วประเทศ บ้านแฝดมาแรง เนื่องจากบ้านเดี่ยวมีราคาแพงจากราคาที่ดินที่สูง ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และผู้ประกอบการลดขนาดโครงการเพื่อให้เหมาะกับกำลังซื้อ ซึ่งบ้านแฝดตอบโจทย์กลุ่มผู้ซื้อในตอนนี้” ดร.วิชัยกล่าว

          หากมองภาพรวมทั้งปี 2564 คาดว่าจะมีหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 3,597 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 10,847 ล้านบาท มีหน่วยรอการขายสะสมประมาณ 12,487 หน่วย และในปี 2565 คาดว่า หากมีการกระจายวัคซีนได้ทั่วถึง จะทำให้สถานการณ์ที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลให้มีหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 4,022 หน่วย และจะส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายสะสมอยู่ในตลาดโดยมีจำนวนหน่วยประมาณ 12,619 หน่วย หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปี 2564

          สำหรับแนวโน้มปี 2565 ศูนย์ข้อมูลฯ คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะเข้าสู่ตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4,022 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 11,847 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี 65 อัตราการขยายตัวของหน่วยโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ จะเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ถึงร้อยละ 22.0 และ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3.8 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ในขณะที่มูลค่าในครึ่งแรกของปี 2565 จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 19.7 และเริ่มชะลอการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังปี 2565

          ในส่วนของหน่วยขายได้ใหม่ ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2565 จำนวนประมาณ 4,243 หน่วย มูลค่ารวม 13,511 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2565 ตลาดที่อยู่อาศัยจะมียอดขายลดลงร้อยละ -2.9 และลดลงอีกร้อยละ -0.1 ในช่วงครึ่งหลังของปี 65 เนื่องจากในปี 2564 คาดว่าสถานการณ์ยอดขายจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก จึงทำให้ในปี 2565 ยอดขายชะลอตัวลงมาเล็กน้อย  ในขณะที่มูลค่าในครึ่งแรกของปี 2565 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.0 ในช่วงครึ่งหลังปี 2565 โดยเป็นผลมาจากการคาดการณ์ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยสามารถกระจายวัคซีนได้ทั่วถึง ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นในระดับที่สูงกว่าปี 2564 และคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0

          ทั้งนี้ หากพิจารณาในส่วนของหน่วยเหลือขาย ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่า ในครึ่งหลังปี 2564 จะมีหน่วยเหลือขายในตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนประมาณ 12,487 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 43,085 ล้านบาท และในปี 2565 คาดการณ์ว่าจะมีหน่วยเหลือขายในตลาดจำนวนประมาณ 12,619 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 43,080 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ศูนย์ข้อมูลคาดว่า จะเห็นสัญญาณที่ฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป

Reference: