หอค้าแจงผลบวก ไม่กังวลบาทอ่อน
ส่งออก-ลงทุน-ท่องเที่ยว โกยอื้ออานิสงส์’ค่าเงิน’ แนะจัดทัพรับ’ต่างชาติ’ ‘ธอส.’ตรึงดบ.ถึงสิ้นปีนี้
หอการค้าฯชี้’บาทอ่อน’ส่งผลดีมากกว่าเสีย เกษตร-ส่งออก-ท่องเที่ยวรับอานิสงส์ แบงก์ ซีไอเอ็มบีฯประเมินไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยขยับใกล้ช่วงก่อนโควิด แต่ธุรกิจฟื้นแบบกระจุกตัว
บาทอ่อนไม่เสียเปรียบแข่งขัน
เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าเกินกว่า 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สะท้อนว่ามีเงินทุนไหลออก แต่เป็นการไหลออกจากการลงทุน ถือเป็นเรื่องปกติ ขณะเดียวกัน ความต่างจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐยังดึงดูดเม็ดเงินจากประเทศต่างๆ ไหลเข้าสหรัฐ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าลงนี้ยังถือว่าไม่อ่อนเกินไปหากเทียบกับหลายประเทศ และไทยไม่ได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันเท่าไรนัก เพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่เงินอ่อนค่าลงเช่นกัน ทั้งนี้ ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพราะมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ โดยคาดว่าดอกเบี้ยจะขึ้นไปถึงประมาณ 4.5% ซึ่งจะกดดันให้ค่าเงินของประเทศต่างๆ อ่อนค่าลงอีกรวมถึงไทยด้วย
“บ้านเรายังมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เหลืออีก 2 ครั้งเช่นกัน คือในเดือนกันยายนและพฤศจิกายน คาดว่าจะมีการขยับดอกเบี้ยขึ้นประมาณ 0.5% แน่นอนว่าภาคเอกชนและประชาชนจะต้องปรับตัว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็สามารถใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือควบคุมไม่ให้บาทอ่อนจนเกินไป เชื่อว่าปลายไตรมาสที่ 4 ค่าเงินบาทจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในกรอบ 36.5-37.0 บาท” นายสนั่นกล่าว
‘บาทอ่อน’เป็นบวกมากกว่าลบ
นายสนั่นกล่าวว่า ค่าเงินบาทขณะนี้เคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด เชื่อว่า ธปท.จะดูแลอย่างใกล้ชิดและมีแนวทางรับมือที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการนำเข้า จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีก ดังนั้น ภาคเอกชนต้องหาวิธีบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ในขณะที่ราคาน้ำมันทรงตัวประมาณ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือว่าไม่สร้างแรงกดดันมากนัก ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมในระยะปานกลางควรอยู่ในระดับ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ดีต่อการส่งออก และไม่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าเพิ่มมากเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินไม่ให้มีความผันผวน
“แม้ค่าเงินบาทอ่อนจะกระทบต่อภาคการ นำเข้า แต่กลับเป็นโอกาสดีของไทยในเรื่องการลงทุนจากต่างชาติ ในขณะเดียวกัน ภาคการ ส่งออก ภาคเกษตร และภาคการท่องเที่ยวจะได้รับอานิสงส์ด้วย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่หนีอากาศหนาวมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งในช่วงปลายปีรัฐบาลจีนอาจจะเริ่มผ่อนคลายให้ นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้มากขึ้น เชื่อว่านักท่องเที่ยวทั้งปีน่าจะถึง 10 ล้านคน หรืออาจมากถึง 12 ล้านคน เงินบาทอ่อน โดยสุทธิแล้วจะยังเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย” นายสนั่นกล่าว
แนะเร่งพร้อมรับต่างชาติเที่ยว
นายสนั่นกล่าวด้วยว่า ไทยต้องเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาแรงงานในภาคท่องเที่ยวและโรงแรมรวมถึงสายการบินลดลงไปมาก ขณะที่ภาครัฐควรมี นโยบายในการเปิดประเทศที่ชัดเจน รวมทั้งเตรียมความพร้อมของสายการบินแห่งชาติและสายการบินเอกชนอื่นๆ ให้มีความเข้มแข็ง นอกจากนั้น การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก็เป็นสิ่งต้องเร่งดำเนินการเพื่อแข่งขันกับเวียดนามที่กำลังได้รับความสนใจของต่างชาติอย่างมาก ดังนั้น ไทยต้องมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนของต่างชาติ เพื่อเป็นปัจจัยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หากมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามา 1 ล้านคน จะทำให้มีเงินหมุนเวียนจากการ จับจ่ายใช้สอยประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ต่อปี ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวได้ประมาณ 2-3%
“ที่ผ่านมาภาคธุรกิจเผชิญกับต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้น อาทิ ราคาพลังงาน วัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน รวมไปถึงปัญหาเงินเฟ้อ ช่วงเวลาต่อจากนี้อาจจะต้องเตรียมใจรับกับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นเพิ่มเติม แต่ก็เชื่อว่าช่วงเวลาการขึ้นดอกเบี้ยเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศพร้อมแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางธุรกิจต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีในเรื่องสภาพคล่อง ดังนั้น หอการค้า ไทยจะร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้กลุ่มเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนมากขึ้น” นายสนั่นกล่าว
6ปัจจัยเสี่ยงฉุดศก.ไตรมาส4
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สำนักวิจัยปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2565 เป็น 3.2% จาก 3.1% โดยคาดว่าไตรมาส 3 และ 4 จะฟื้นตัวต่อเนื่องที่ราว 4% จากปีก่อน ขณะที่ในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตปีที่ 3.4% ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงจากปัญหาเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยไตรมาส 4 มี 6 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจฉุดให้การเติบโตต่ำกว่าคาด ได้แก่ 1.เศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ทั่วถึง 2.เงินเฟ้อลดลงช้า
3.เสียโอกาสการลงทุน 4.วิกฤตพลังงานในยุโรป 5.สหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ย และ 6.เงินหยวนอ่อนค่า เนื่องจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐและจีนจะกว้างขึ้น เพราะสหรัฐกำลังขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง สวนทางกับจีนที่มีโอกาสลดดอกเบี้ยเพื่อฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อเงินเฟ้อของจีนยังต่ำมีผลให้เงินหยวนอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐได้อีก ส่งผล ให้ค่าเงินในภูมิภาคโดยเฉพาะเงินบาทที่มีความเคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับเงินหยวนอย่าง ใกล้ชิดอ่อนค่าตามได้
“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 แม้ใกล้จะฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนโควิด แต่ขาดการกระจายตัวและอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ มีเพียงกลุ่มท่องเที่ยว ฟื้นได้เร็ว ส่วนปัญหาเงินเฟ้อยังรุนแรงต่อ เพราะแม้เงินเฟ้อจะลดลงแต่ราคาสินค้าและบริการหลากหลายหมวดเริ่มขยับขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตอั้นต้นทุนต่อไปไม่ไหว ด้านการเมืองไทยอาจเห็นรัฐบาลยุบสภาช่วงไตรมาส 4 ถึง ต้นปีหน้า มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ต่างชาติที่เตรียมย้ายฐานมาไทยและการลงทุนภาครัฐโครงการใหม่อาจชะลอออกไปก่อนมีรัฐบาลใหม่” นายอมรเทพกล่าว
ไทยเสี่ยงต่ำเศรษฐกิจถดถอย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารกสิกรไทยจัดงานสัมมนา ดอกเบี้ยขึ้น Recessino และการรับมือกับตลาดที่ผันผวน โดยนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและ ตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การปรับดอกเบี้ยของเฟดที่เร่งขึ้น 0.75% เป็นการปรับขึ้น 3 ครั้งติดต่อกันสู่ระดับ 3.00-3.25% ส่งผลให้อาจเกิดความเสี่ยงสู่ภาวะถดถอยในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย เนื่องจากปี 2564 การเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ระดับต่ำ และปีนี้ เป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากฐานที่ต่ำมาก จึงมีโอกาสน้อยที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น กรณีอินเดียอาจไม่มีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะเศรษฐกิจปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวต่ำเช่นเดียวกับไทย เป็นต้น
นายกอบสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้ความต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐกว้างขึ้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้ามาทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่แนวโน้ม ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าคาดว่าเงินเหรียญสหรัฐอาจอ่อนค่าลง โดยภายใน 1 เดือนจะมีโอกาสเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 36.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และอาจทดสอบแนวต้านที่ 38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วงปลายปีนี้ค่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวจะเข้ามาเสริมให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
ชี้ต่างชาติใช้เงินเที่ยวเท่าเดิม
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทถือว่าส่งผลเชิงบวกกับภาคการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ แลกเงินได้มากขึ้น แม้ใช้เงินจำนวนเท่าเดิม แต่เป็นบวกในระยะสั้นๆ เท่านั้น และอาจไม่ได้ช่วยในแง่ของการตัดสินใจมาเที่ยวไทยมากนัก เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่จะวางแผนการเดินทาง และเตรียม งบประมาณในการท่องเที่ยวไว้แล้ว อาทิ ตั้งงบ ไว้ที่ 1,000 เหรียญสหรัฐ ก็จะอยู่ในกรอบที่ตั้งไว้ หากสามารถแลกเงินได้มากขึ้นก็จะส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น หรือจะพำนักอยู่ในประเทศไทยยาวขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีด้วยเช่นกัน
“สำหรับคนไทยกับการออกเที่ยวต่างประเทศ กรณีค่าเงินบาทอ่อนค่า คงต้องดูค่าเงินของประเทศปลายทางเป็นสำคัญ หากค่าเงินบาทแข็งกว่า หมายถึงใช้เงินบาทน้อยลง อาทิ ญี่ปุ่น แต่ก่อนเคยใช้ 30 บาทแลก 100 เยน ตอนนี้ใช้ 25 บาท ก็แลกได้ 100 เยน แบบนี้อาจทำให้คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังโควิดคนอยากเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ไม่ว่าอย่างไรก็ตัดสินใจไปอยู่ดี หากค่าเงินไม่ผันผวนมากนัก แต่จะให้ความสำคัญ เลือกไปประเทศที่มีข้อจำกัดในการเข้าประเทศน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย” นายยุทธศักดิ์กล่าว
ธอส.ยันอั้นดอกเบี้ยถึงสิ้นปี
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.ยืนยันจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับลูกค้าจนถึงปลายปี 2565 เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล แม้จะทำให้ธนาคารรายได้หายไปกว่า 1,900 ล้านบาท ก็ตาม สำหรับปี 2566 ธนาคารจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับตลาด โดยจะทยอยปรับตารางผ่อนในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2566 คาดว่าหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ลูกค้าของธนาคารจะได้รับผลกระทบหลักพันบัญชี แต่หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.50% จะมีลูกค้าได้รับผลกระทบหลักหมื่นบัญชี
นายฉัตรชัยกล่าวว่า เมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจะมี 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.ลูกค้าใหม่ที่จะกู้ได้วงเงินน้อยลง เนื่องจากต้องเสียดอกเบี้ยมากขึ้น 2.ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่แล้ว และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจจะมีภาระการผ่อนมากขึ้น และ 3.กลุ่มลูกหนี้ปัจจุบันที่อาจจะมีภาระการผ่อนชำระหนี้มากขึ้น เพราะเงินงวดไม่พอตัดต้นกับดอกเบี้ย
บะหมี่ซื่อสัตย์-นิสชินได้ขึ้นราคา
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้กรมได้อนุมัติให้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีก 2 ยี่ห้อ คือ ซื่อสัตย์และนิสชิน ขึ้นราคาขายปลีกซองมาตรฐานอีก 1 บาทต่อซอง จาก 6 บาทต่อซอง เป็น 7 บาทต่อซอง เท่ากับมาม่า ไวไว ยำยำ ที่กรมอนุมัติไปก่อนหน้านี้ สาเหตุที่ซื่อสัตย์และนิสชินได้รับอนุมัติช้ากว่ารายอื่น เนื่องจากเพิ่งทำเอกสารยื่นขอปรับราคาเข้ามา
“กรมได้ติดตามต้นทุนการผลิตบะหมี่ กึ่งสำเร็จรูปอย่างต่อเนื่อง พบว่ายังทรงตัวอยู่ในระดับสูง เพราะวัตถุดิบที่ใช้ผลิต อย่างแป้งสาลียังไม่ปรับตัวลดลง แต่ตามเงื่อนไข หากต้นทุนปรับลดลง ผู้ผลิตต้องปรับราคาขาย ลงด้วย” นายจักรากล่าว
นายจักรากล่าวว่า จากสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าในขณะนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนสินค้าที่มีการนำวัตถุดิบเข้ามา แต่ยังไม่มีผู้ผลิตสินค้าเสนอขอปรับแต่อย่างใด
ปลื้มยอดจองรถอีวีทะลุ1.7หมื่นคัน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี เมื่อวันที่ 22 กันยายน ได้ติดตามความคืบหน้าด้านต่างๆ ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ผ่านเงินสนับสนุนรัฐบาลไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อคัน และมาตรการภาษี หรือแพคเกจอีวี พบว่าปัจจุบันมียอดจองรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ขอรับสิทธิดังกล่าว รวม 17,068 คัน นอกจากนี้ ยังรับทราบแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 30@30 หรือผลิตบีอีวี 30% ภายในปี 2573 พร้อมผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันไทยมีจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ จำนวน 2,572 หัวจ่าย จาก 869 สถานี และจะเร่ง ผลักดันให้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค
“บอร์ดอีวียังเตรียมส่งเสริมให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ โดยเริ่มนำร่องจากรถตุ๊กตุ๊ก อีวี มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแนวทางการสนับสนุน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์การติดตั้งสถานีชาร์จในคอนโดมิเนียมหรือที่พักอาศัยให้ประชาชนได้รับทราบ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
หนุนติดมิเตอร์ชาร์จที่บ้าน
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า บอร์ดอีวียังรับทราบการกำหนดแนวทางการขอมิเตอร์ตัวที่ 2 สำหรับที่อยู่อาศัยเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงรับทราบการขออนุญาตประกอบกิจการพลังงานของกับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างดำเนินการออกประกาศเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบ ขั้นตอนที่ชัดเจนต่อไป พร้อมทั้งรับทราบการจัดทำมาตรฐานชิ้นส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งได้จัดทำมาตรฐาน แล้วเสร็จ 123 เรื่อง
“นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในมาตรการต่างๆ เร่งกระตุ้นและประชาสัมพันธ์ในรายละเอียดการสนับสนุนมาตรการแก่ประชาชนภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชนในอนาคต” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
เก็บตก’คนละครึ่ง’อีก2.46แสนสิทธิ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันที่ 23 กันยายน เป็นวันแรกของการเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ของโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ที่กระทรวงการคลังนำสิทธิคงเหลือประมาณ 3.09 ล้านสิทธิ มาเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนอีกครั้ง โดยเมื่อเวลา 12.00 น. วันนี้ มีประชาชนลงทะเบียนสำเร็จแล้วทั้งสิ้น 246,809 ราย และยังคงมีสิทธิคงเหลืออีกประมาณ 2.84 ล้านราย จึงขอเชิญชวนประชาชนมาลงทะเบียนได้จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง หรือ www.คนละครึ่ง.com ระหว่างเวลา 06.00-22.00 น.
นายพรชัยกล่าวว่า ประชาชนที่ลงทะเบียนและได้รับสิทธิจะได้รับวงเงินสนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และบริการขนส่งสาธารณะในอัตรา 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 800 บาทต่อคน สามารถ ใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม-31 ตุลาคม
Reference: หนังสือพิมพ์มติชน