สินเชื่อ ไตรมาสแรกพุ่ง4.1% ธปท.ชี้ ภาคธุรกิจ แห่กู้แบงก์ เหตุตลาดเงินผันผวน

19 May 2020 796 0

       

         ”แบงก์ชาติ” เผยสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรกโต 4.1% สวนทาง ภาวะเศรษฐกิจ เหตุภาคธุรกิจหันพึ่งเงินกู้จากแบงก์แทนการออกหุ้นกู้ หลังตลาดเงินผันผวนหนัก ขณะ “เอ็นพีแอล” พุ่งแตะ 3.05% มั่นใจฐานะแบงก์ยังแกร่ง สะท้อนผ่านเงินกองทุนสำรองที่อยู่ระดับสูง

          ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลง ตัวเลขผลดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไทยไตรมาสแรกปี 2563 โดยธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรสุทธิรวม 5.29 หมื่นล้านบาท ลดลง 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การปล่อยสินเชื่อช่วงไตรมาสแรก พบว่า ขยายตัวถึง 4.1% สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

          นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการ อาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า สินเชื่อ ของธนาคารพาณิชย์ช่วงไตรมาสแรกที่เติบโต 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากได้แรงสนับสนุนจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่หันมาใช้บริการสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์แทนการออกหุ้นกู้

          การขอสินเชื่อของภาคธุรกิจรายใหญ่ มาจากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งการขอสินเชื่อเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ ลงทุนใน ภาคอสังหาริมทรัพย์ ใช้ในธุรกิจลิสซิ่ง โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นการขอสินเชื่อระยะ ยาว หรือเทอมโลน ซึ่งคาดว่าการใช้สินเชื่อ น่าจะคงอยู่กับแบงก์ไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น ในระยะข้างหน้า จะเห็นการเบิกใช้สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

          สำหรับภาพรวมสินเชื่อธุรกิจ ไตรมาสแรก เติบโตอยู่ที่ 3.3% สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวชะลอลง มาอยู่ที่ 5.6%  ซึ่งเป็นการชะลอลงในทุกหมวดสินเชื่อ ยกเว้น สินเชื่อบุคคล ที่เกี่ยวกับเงินหมุน ที่ขยายตัวสูง โดยเฉพาะ คาร์ฟอร์แคช โฮมฟอร์แคช  ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยคุณภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ ภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 อยู่ที่ 4.96 แสนล้านบาท  หรือ 3.05% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ 2.98% โดย แบ่งเป็นเอ็นพีแอลของภาคธุรกิจอยู่ที่ 2.97% จาก 3.01% แต่สินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 3.23% จาก 2.90% โดยเอ็นพีแอลกลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภค ปรับขึ้นทุกประเภท โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยขึ้นมาอยู่ที่ 4.04% จากสิ้นปี ที่ 3.71% สินเชื่อ บัตรเครดิต เอ็นพีแอลขึ้นมาอยู่ที่ 3.50% จาก 2.41% และสินเชื่อรถยนต์ 2.09% จาก 1.86% สินเชื่อบุคคล 2.61% จาก 2.33%

          ”การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะแบงก์เป็นภาพสะท้อนภาวะเศรษฐกิจ เวลาเศรษฐกิจแผ่วลงก็เป็นไปได้ที่จะเห็นเอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ามาตรการช่วยเหลือจะมีมากน้อยแค่ไหนด้วย ทั้งจากภาครัฐ จากแบงก์ ว่ามีประสิทธิภาพในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ด้วย”

          ขณะที่ด้าน สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อ สินเชื่อรวม หรือ Stage 2  อยู่ที่ 7.70%  ปรับ เพิ่มขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 2.79% เนื่องจาก ภายใต้ Stage 2 การนับถือว่ามีความกว้างกว่า สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ซึ่งสินเชื่ออาจไม่ได้เป็นหนี้ด้อยคุณภาพทั้งหมด เพราะในนี้อาจมีลูกหนี้ดี แต่ถูกจับตาใกล้ชิดรวมอยู่ด้วย ดังนั้นการเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม(SICR) ถือว่าไม่ได้สูงกว่าที่คาดไว้

          สำหรับ ภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของระบบธนาคารพาณิชย์ ถือว่า มีความมั่นคงสูง มีความสามารถในการหารายได้ทรงตัว สินเชื่อเติบโตได้ดี มีระดับเงินกองทุนสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความต้องการสินเชื่อและ ความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับ ผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ได้ ซึ่งระยะข้างหน้า แบงก์ต้องรักษากันชนเหล่านี้ให้อยู่ในระดับสูงต่อไป เพื่อรองรับความไม่แน่นอน  และรักษาความแข็งแกร่งฐานะการเงิน และสภาพคล่องให้ดี เพื่อรองรับความผันผวนระยะถัดไป สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ออกโดยธปท.ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีส่วนช่วยลูกหนี้ได้จำนวนมาก เช่นการปรับโครงสร้างหนี้ การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย การเลื่อนการชำระหนี้ ซึ่งมียอดหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 4.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13 ล้านราย ขณะที่ซอฟท์โลน พบว่า มียอดขอสินเชื่อแล้ว 4.3 หมื่นล้านบาท จาก 2.5 หมื่นลูกหนี้

Reference: