สินเชื่อดิจิทัล ฮอตปรอทแตก ช้อปปี้-ทรู-BTS ปล่อยกู้คึกคัก
สมรภูมิ “สินเชื่อดิจิทัล” เดือดพล่าน หน้าเก่า-หน้าใหม่ ตบเท้าร่วมวงคึกคัก ชี้เหตุผลตอบแทนสูง-ต้นทุนปล่อยกู้ต่ำ แบงก์ชาติเผยล่าสุดอนุมัติ “ซีมันนี่” เครือช้อปปี้ และ “แอสเซนด์ นาโน” กลุ่มทรูปล่อยกู้ “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” แล้ว ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา “อิออน” จับมือบีทีเอสเปิดตัว “แรบบิท แคช” สู้ศึกเจาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ด้าน “LINE BK” ชูธงนำ คาดปีนี้พอร์ตแตะ 1 หมื่นล้านบาท
”ช้อปปี้-ทรู” ร่วมวงปล่อยกู้
นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วย ผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อดิจิทัล (digital lending) มีทิศทางการเติบโตต่อเนื่อง ทั้งนี้ การปล่อยกู้สินเชื่อดิจิทัลมี 2 ส่วน คือส่วนของธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ที่หันมาให้บริการปล่อยกู้ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ภายใต้ใบอนุญาต “สินเชื่อส่วนบุคคล” โดยเป็นการมุ่งไปที่การใช้ข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การปล่อยสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพ แม่นยำ และรวดเร็วขึ้น
อีกส่วนคือ ธปท.ได้เปิดให้ขออนุญาตประกอบธุรกิจ “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” (digital personal loan) เป็นการปล่อยกู้วงเงินขนาดเล็ก ไม่เกิน 2 หมื่นบาท ชำระคืนภายใน 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25% เปิดให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเข้ามาปล่อยสินเชื่อโดยการใช้ข้อมูลทางเลือกมาใช้ในการให้บริการ
โดยขณะนี้ได้อนุมัติผู้ประกอบการไปแล้ว 2 ราย ได้แก่ บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด และบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด ได้เริ่มปล่อยสินเชื่อไปแล้วในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท.จะเริ่มเห็นปริมาณธุรกรรมว่ามีมากน้อยระดับใดภายในเดือน พ.ค. เนื่องจากบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินธุรกิจจะต้องมีการรายงานธุรกรรมที่เกิดขึ้นกับ ธปท.ทุกเดือน และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติอีก 3 ราย และมีการยื่นเข้ามาเพิ่มเติมอีก 2 ราย ซึ่งมีบริษัทลูกของธนาคารยื่นเข้ามาด้วย
สำหรับบริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด เป็นบริษัทในเครือ SEA GROUP บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้” และบริษัท การีน่า ผู้ให้บริการเกมออนไลน์รายใหญ่ ขณะที่บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด เป็นหนึ่งในธุรกิจการเงินในเครือทรู มันนี่
หน้าเก่า-หน้าใหม่ ตะลุมบอน
นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปล่อยสินเชื่อดิจิทัลถือเป็นธุรกิจที่มีผลตอบแทนค่อนข้างสูง หรือเป็น high margin lending ของสถาบันการเงิน ประกอบกับแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อดิจิทัลได้รับความสนใจจากตลาดมากขึ้น เพราะเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายด้วยต้นทุนที่ต่ำลงกว่าช่องทางปกติ จะเห็นว่ามีทั้งผู้เล่นหน้าเก่าในชื่อใหม่ หรือผู้เล่นหน้าใหม่กระโดดเข้ามาแข่งขันในตลาดสินเชื่อออนไลน์มากขึ้น
จากผู้เล่นที่เข้ามามากขึ้น ทำให้ภาพการแข่งขันในสินเชื่อออนไลน์จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นตลาดที่สถาบันการเงินทุกรายต้องเข้าไป เพราะถ้าไม่ไปจะตกขบวนหรือไล่ตามคู่แข่งไม่ทัน ทั้งธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่-กลาง และเล็กทยอยทำไปก่อนหน้านี้ รวมถึงน็อนแบงก์ และผู้ประกอบการในเซ็กเตอร์ อื่น ๆ ที่เริ่มจะขยายเข้ามาสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น เพื่อหารายได้เพิ่มเติม
”สินเชื่อดิจิทัลเป็นธุรกิจที่ทุกคนต้องเล่นและต้องไปหมด เพราะจะปล่อยสินเชื่อแค่ช่องทางเซลล์อย่างเดียวไม่น่ารอด เพราะลูกค้าไปอยู่บนออนไลน์หมด แบงก์ใหญ่ ๆ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทยเริ่มทยอยทำมาแล้ว 3-4 ปี แบงก์กลางก็เริ่มแล้ว หรือธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาก็เพราะต้องการหารายได้เพิ่ม และขยายช่องทางเข้าถึงลูกค้า ซึ่งใครมีฐานข้อมูลเยอะและใช้ให้เป็นจะเป็นประโยชน์มาก แต่การมีผู้เล่นมากขึ้นย่อมหนีไม่พ้นการแข่งขันในด้านราคาที่อาจจะต้องปรับลดลง”
สินเชื่อ LINE BK พุ่ง
นายธนากล่าวต่อไปอีก สำหรับในส่วน LINE BK ซึ่งเป็น “โซเชียลแบงก์” ให้บริการผ่านช่องทางไลน์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ง่ายขึ้น มีการเติบโตต่อเนื่องโดยมีลูกค้าเข้ามาผูกบัญชีกับ LINE BK กว่า 2.2-2.3 ล้านราย เป็นลูกค้าสินเชื่อราว 2 แสนราย วงเงินปล่อยสินเชื่อรวม 5,000-6,000 ล้านบาท คาดสิ้นปี 2564 ยอดสินเชื่อจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 2 ยังคงอยู่ในโหมดระมัดระวัง เราคงไม่กระตุ้นการปล่อยสินเชื่อมาก เพราะต้องเฝ้าระวังเศรษฐกิจ ตอนนี้คงเฝ้าดูพอร์ตที่ปล่อยไปแล้ว 5,000-6,000 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างเยอะ ว่าสถานการณ์ลูกหนี้เป็นอย่างไร ขณะนี้ลูกค้าใหม่ลดลงเล็กน้อยจากเฉลี่ย 2-3 หมื่นรายต่อวัน เหลือ 1-2 หมื่นรายต่อวัน แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจกลับมาได้ใน Q4 ก็พร้อมจะรุกต่อ
อิออนจับมือ BTS บุก
นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนทรัพย์ (ไทยแลนด์) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ร่วมทุนกับ “แรบบิท กรุ๊ป” ในเครือบีทีเอส และ “ฮิวแมนิก้า” ตั้งบริษัท “แรบบิท แคช” เพื่อปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเบื้องต้นทำตลาด 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หรือธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีรายได้ไม่ชัดเจน และกลุ่มพนักงานองค์กรที่มีรายได้ประจำ
โดยกลุ่มพ่อค้าแม่ค่าออนไลน์จะทำธุรกิจภายใต้ใบอนุญาต “สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะสามารถยื่นขออนุญาตภายในเดือน เม.ย.นี้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้วงเงินจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1 แสนบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 33% ขณะที่กลุ่มพนักงานองค์กร จะเป็นโปรดักต์การปล่อยสินเชื่อสวัสดิการอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยผ่านบัญชีเงินเดือน (payroll) ของฮิวแมนิก้า
”ความร่วมมือครั้งนี้อิออนจะช่วยดูเรื่องการปล่อยสินเชื่อและการเก็บหนี้ ส่วนทางกลุ่มบีทีเอสจะรับผิดชอบเรื่องของการตลาดทั้งหมด ซึ่งยอมรับว่าครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่อิออนหันมาทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ โดยแรบบิท แคช จะมีการทำเครดิตสกอริ่งใหม่ทั้งหมดเพื่อปล่อยสินเชื่อดิจิทัลเลนดิ้ง”
เคแบงก์ชี้ต้นทุนต่ำ
ด้านนายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของเคแบงก์ในปี 2564 ธนาคารมุ่งเน้นปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการวิเคราะห์จากข้อมูลลูกค้าของธนาคารและคู่ค้า ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 14,385 ล้านบาท เติบโต 164% โดยรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้อยู่ระดับต่ำ อย่างไรก็ดี พอร์ตสินเชื่อดิจิทัลยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร โดยในปี 2563 ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลแล้ว 5,454 ล้านบาท เอ็นพีแอลอยู่ที่ 3-4%
”สินเชื่อดิจิทัลเป็นช่องทางหนึ่งในการให้สินเชื่อที่มีต้นทุนต่ำ และลูกค้าก็จะได้รับความสะดวกรวดเร็วในการขอสินเชื่อ สถาบันการเงินหลายแห่งจึงมุ่งมาที่ช่องทางนี้ แต่การให้สินเชื่อดิจิทัลจะมีความแม่นยำมากขึ้นก็ขึ้นอยู่กับ data ที่นำมาวิเคราะห์ ธนาคารจึงพัฒนา data ที่จะนำมาวิเคราะห์ในหลายมิติมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการอนุมัติให้มากขึ้น และรักษาคุณภาพหนี้ให้ดีขึ้น”
SCB สินเชื่อดิจิทัลโต 20%
ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อเอสเอ็มอี ผ่านแอปพลิเคชั่น SCB EASY อยู่ที่ 8.8 หมื่นล้านบาท โดยในไตรมาส 1 การปล่อยสินเชื่อ digital lending เติบโตกว่า 20% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการที่ธนาคารใช้แบบจำลองเลือกกลุ่มเป้าหมายที่แม่นยำ และปรับ customer journey ของลูกค้าให้ง่ายที่สุด นอกจากนั้น ธนาคารยังได้นำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งแบบใหม่ ๆ มาใช้
โดยในไตรมาส 1/2564 จำนวนใบสมัครเพิ่มขึ้นกว่า 300% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลต่อผู้กู้อยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นบาท ขณะที่แนวโน้มหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1% และอยู่ในกรอบเป้าหมาย เนื่องจากธนาคารมีแบบจำลองและระบบการบริหารจัดการลูกหนี้สำหรับกลุ่มดิจิทัล ให้มีการเฝ้าติดตามสถานะอย่างใกล้ชิดและให้สามารถปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการลูกหนี้ได้อย่างทันท่วงที
”ลูกค้าจะมีทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลมีผู้เล่น nonbank เข้ามาเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และน่าจะช่วยลดสัดส่วนการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบให้น้อยลง จุดแข็งของธนาคารคือความสามารถในการพิจารณาสินเชื่อโดยใช้ข้อมูล big data จากฐานลูกค้ามากกว่า 15 ล้านราย และข้อมูลจากพันธมิตรทางธุรกิจ ทำให้สามารถสร้างแบบจำลองสำหรับปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มใหม่ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเงินเดือนประจำ”
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ