สินทรัพย์ดิจิทัล โตเร็ว อาคม ยันจำเป็นต้องคุม

25 Mar 2022 690 0

           กลต.เร่งออกเกณฑ์ คุ้มครองนักลงทุน

          “อาคม” ชี้  สินทรัพย์ดิจิทัล เติบโตเร็ว ยันจำเป็นต้องกำกับดูแล เผย ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการออกเกณฑ์ หวังคุ้มครองผู้ลงทุน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลการลงทุน-ต้องดูแลเสถียรภาพของระบบ

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประกอบธุรกิจและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า ในช่วงปี 2563-2564 ผู้ประกอบการ ที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นจาก 9 ราย เป็น 14 ราย มูลค่าการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาท เป็น 4.8 พันล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 9.6 พันล้านบาท เป็น 1.14 แสนล้านบาท

          ขณะที่จำนวนบัญชีการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนราย เป็น 2 ล้านราย ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

          ทั้งนี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและเข้าใจในเรื่องของการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล แต่การเติบโตจะต้องเติบโตอย่างระมัดระวัง แต่คำถามคือ การเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นโอกาสและประโยชน์อะไรบ้างแน่นอนที่สุด โดยเป็นทางเลือกในการระดมทุน ซึ่งมีประเด็นเรื่องสตาร์ทอัพ เราก็ยกเว้นภาษีให้กรณีเวนเจอร์แคปมาลงทุน ทำให้เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น

          นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ในระหว่างการยกร่าง กฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามนโยบายในการกำกับ คือ จะต้องยึดประโยชน์ของผู้ลงทุนและคุ้มครองผู้ลงทุนไม่ให้เกิดความเสียหาย

          ”เราไม่ปฏิเสธเรื่องพัฒนาการและให้ความสำคัญการเติบโต แต่อีกด้านนั้น คือการกำกับดูแล ก็จำเป็น มี 2 หน่วยงาน ที่สำคัญ คือ สำนักงาน ก.ล.ต.ซึ่งใช้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นแนวทางในการกำกับดูแล ในเวลาเดียวกันภาคการเงินนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เป็นหน่วยงานกำกับดูแล” นายอาคม กล่าว

          นอกจากนี้ ยังฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลในเรื่องความเสี่ยงของการลงทุน โดยจะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ลูกค้าที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และรวมถึง การดูแลด้านเสถียรภาพของระบบ เช่น Token จะต้องมีฐานะการเงินที่มั่นคง เป็นต้น

          ส่วนกรณี ก.ล.ต.ได้ออกเกณฑ์กำกับการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าหรือบริการนั้น เขากล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยมีระบบเงินตราอยู่แล้ว และหลายประเทศก็ไม่ยอมรับการชำระเงินด้วยระบบนี้ เพราะเป็นเรื่องความมั่นคง เสถียรภาพของสกุลและเงินตรา ซึ่งอาจจะกระทบต่อระบบการเงินของประเทศไทยและของโลกได้

          นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าในประเทศไทย ประชาชนมีการตื่นตัวมากในการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล สะท้อนการเปิดบัญชีที่เติบโตขึ้นรวดเร็ว โดยเพิ่มจาก 7 แสนบัญชี ในปี 2563 เป็น 2.2 ล้านบัญชี ในปี 2564

          รวมทั้งยังพบว่าคนไทยมีสัดส่วน การถือครองคริปโทเคอร์เรนซี หากเทียบกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งประเทศถึง 20% ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลกซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่เพียง 10% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจการเงินในกลุ่มธนาคารก็ให้ความสนใจในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้น

          ดังนั้น ธปท.อยากเห็นสมดุลในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล จึงกำหนดราวกั้นในช่วงแรก แต่จะมีประตู ให้มีทางออกและค่อยๆขยับรั้วออกไปในที่สุดคือให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่นบริษัทในเครือ หรือโฮลดิ้ง สามารถเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนรวมของแบงก์ หรือของโฮลดิ้งทั้งหมด เพื่อมุ่งหวังให้การลงทุนค่อยเป็นค่อยไปเน้นคุณภาพมากกว่าเร่งเข้าไปเพราะกลัวตกขบวน

          สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มี หน่วยงานกำกับ ที่ให้ลงทุนได้ไม่เกิน 3%ของเงิน กองทุนแต่มีกลไก ให้ออกจากราวกั้นตัวนี้ได้ หาก สามารถยกระดับมาตรฐาน 6 ด้านสำคัญ เช่น ธรรมาภิบาล การดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี ภัยไซเบอร์ฯลฯ ส่วนบริษัทที่ไม่อยู่ภายใต้กำกับที่มองเห็นความเสี่ยงไม่ชัดเจนเช่น การเข้าไปในโลกของเมตาเวิร์สไม่ห้าม แต่ให้ทดลองระดับเล็กในระดับแซนด์บ็อกซ์ก่อน ว่าเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ และค่อยพิจารณาให้ออกหรือไม่

Reference: