สร้างสะพานเกียกกายหมื่นล.ปั่นราคาที่ดินพุ่งตร.ว.3แสน
บิ๊กโปรเจ็กต์สะพานเกียกกายหมื่นล้าน ปั่นที่ดินฝั่งธนบุรี หลังบิ๊กตู่ ไฟเขียว พ.ร.ฎ.เวนคืน ผ่ากลาง 3 ชุมชนใหญ่ ยันฮี โดนกวาดที่จอดรถ-ศูนย์ผู้สูงอายุ เปิดหน้าดินใหม่ ตั้งแต่ ชุมชน จรัญฯ93/1 วิ่งไปชน สถานีรถไฟบางบำหรุ นักวิเคราะห์ ระบุราคาที่ดินพุ่ง 3 เท่า ติดถนนจรัญฯ3 แสนบาท/ตร.ว.ในซอย บอกขายที่1แสนอัพ ชาวบ้านโวยขอปรับแนว-สะพานกลับรถ
ฝั่งธนบุรีกลายเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญมีทั้งตึกสูงและบ้านแนวราบเกิดขึ้นหนาแน่น เมื่อมีโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ เข้าพื้นที่ทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ส่งผลให้ราคาที่ดินถนนจรัญสนิทวงศ์ ขยับร้อนแรงมาแล้ว
คืนชีพสะพานเกียกกาย
ล่าสุด ถนนจรัญสนิทวงศ์ เกิดแรงกระเพื่อมอีกครั้งเมื่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ฟื้นคืนชีพ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกายและถนนเชื่อมต่อ โดยอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืน ในท้องที่ 5 เขต ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)ระยะทางรวมประมาณ 10 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ ไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท หลังโครงการเงียบหายไปกว่า 10 ปีจากกระแสต่อต้านจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชน สงวนทรัพย์ ชุมชน ชินศรีและชุมชน วัดฉัตรแก้ว
กวาดอาณาจักร “ยันฮี”
“ฐานเศรษฐกิจ” ลงพื้นที่สำรวจ แนวเส้นทาง บนถนนจรัญสนิทวงศ์ เริ่มตั้งแต่ ที่ดินแปลงใหญ่ ติดคลองบางอ้อ แขวงบางอ้อเขตบางพลัด ปัจจุบันเป็นลานจอดรถของผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลยันฮี ซ่อนตัวอยู่บริเวณ ด้านหลัง ของอาคารศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ หรือร้านอาหาร หัวปลาหม้อไฟช่องนนทรีเดิม รวมเนื้อที่ราว 10 ไร่ บริเวณนี้ จะถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างเป็นจุดขึ้น-ลง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานเกียกกาย ทั้งเข้าและออกเมือง
ชนดะชุมชน เปิดหน้าดินใหม่
แนวสายทางมุ่งหน้า ข้าม ฝั่งของถนนจรัญสนิทวงศ์ ลอดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ไปยัง จรัญสนิทวงศ์ซอย 93/1 เข้าพื้นที่ชุมชนสงวนทรัพย์ สภาพเป็นบ้านปลูกสร้างเองบนที่ดินเช่าเก่าแก่ อายุกว่า 50 ปี ชุมชนนี้ถูกเวนคืนยกเวิ้งไม่ต่ำกว่า 80-100 หลังคาเรือนจาก 167 หลัง ทั้งนี้ชุมชนสงวนทรัพย์เป็นที่ดินตาบอด พื้นที่ด้านหลังชุมชนถูกปล่อยให้เป็นที่รกร้าง แต่มี 1-2 แปลงเป็นบ้านเก่าถูกนายทุนซื้อไว้ในราคา 1 แสนกว่าบาทต่อตารางวา
เจ้าของร้านนิตยาเสริมสวย ถูกเวนคืนครึ่งหลังคาเรือนระบุว่า ไม่แน่ชัดว่า จะเวนคืนที่ดินบริเวณนี้ เพื่อทำจุดกลับรถหรือไม่ หรือจะตัดทะลุ ไปชนกับทางรถไฟ สถานีบางบำหรุ รถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่เปิดให้บริการในขณะนี้ หากทำเฉพาะทางกลับรถ จากที่ลงสะพานมาแล้ววนไปเส้นทางสายหลักปกติ ก็จะช่วยลดผลกระทบได้บ้าง แต่ที่ผ่านมา จะตัดตรงไปถึงทางรถไฟ ซึ่งที่ดินส่วนหนึ่งจะกลายเป็นที่ดินถนน แม้ระยะทางจาก ชุมชนถึงบางบำหรุ ประมาณ 2-3 กิโลเมตร แต่ราคาที่ดินไปไกลแน่ เพราะเส้นจรัญฯ ราคาที่ดินแพงจากรถไฟฟ้า อยู่ก่อนแล้ว
จ่ายหลังละ 3 หมื่น
สอดคล้องกับ นายประยูร แก้วไทรค้วน รองประชุมชนสงวนทรัพย์ ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 93/1 ระบุว่าที่ผ่านมา กทม.ได้เจรจา ตกลงกันล่วงหน้า ก่อนออกพรฎ.เวนคืน ขณะนี้ จ่ายเงินหลังละ30,000 บาท กว่า 10 หลังคาเรือน และขนย้ายออกจากพื้นที่แล้ว เนื่องจากเป็นที่ดินเช่า ขณะชาวบ้านที่เหลื ต้องการอยู่ที่เดิม หากซื้อบ้านอยู่ใหม่ แม้ชานเมืองย่อมมีราคาแพงไม่มีกำลังผ่อนไหว
ซื้อที่ดินเก็งกำไรอื้อ
นางสาวบังอร นุชเนื่อง ประธานชุมชน ชินศรี จรัญสนิทวงศ์ 91/1 เปิดเผยว่าชุมชนกระทบจากการเวนคืน โครงการดังกล่าว และ ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ที่ฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาหลังเงียบหายไป กว่า 10 ปีโดยในช่วงนั้น กทม.ได้กำหนดราคาเวนคืนแล้วอยู่ที่40,000บาทต่อตารางวา แต่ปัจจุบัน ในซอยราคาประเมินน่าจะอยู่ที่ 60,000 บาทต่อตารางวา โดยบริเวณชุมชนจะถูกเปลี่ยนเป็นถนน ใครที่ยังมีที่ดินเหลือจากการเวนคืนจะเป็นผลดี มีที่ดินติดถนน ล่าสุด บอกขายกว่า1 แสนบา ต่อตารางวา
“สะพานเกียกกาย สร้างผลกระทบ ให้กับชุมชนเก่าแก่ การหาที่อยู่ใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย”
ที่ดินพุ่ง 2-3 เท่า
นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์นพร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ดินย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ก่อนจะมีรถไฟฟ้า ราคาที่ดิน ติดถนนไม่เกิน 1 แสนบาทต่อตารางวา สภาพส่วนใหญ่เป็นชุมชนเก่าแก่ ต่อมาเมื่อมีรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ผู้ประกอบการมักซื้ออาคารพาณิชย์เก่ารวมแปลงขึ้นคอนโดมิเนียม ปัจจุบันราคาที่ดินติดถนจรัญฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อตารางวา ในซอยราคา 1.5 แสนบาทต่อตารางวา หากมีการตัดถนนใหม่ อย่างสะพานเกียกกายและถนนเชื่อมต่อ กรณีเป็นถนนระดับดินราคาจะขยับ2-3 เท่าตัว
เปิดเส้นทางปี 67
แหล่งข่าวจากกทม.ระบุว่า คาดว่า พ.ร.ฎ.เวนคืนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เวนคืน รวม 5 เขตในเร็วๆนี้ ได้แก่ ท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงจตุจักร แขวงจอมพล เขตจตุจักร ตลอดแนว มีสิ่งปลูกสร้าง 284 หลังคาเรือน ที่ดินจำนวน 405 แปลง ตามที่เคยสำรวจไว้เดิม พื้นที่กระทบมากที่สุดจะอยู่ในเขตบางพลัด ส่วนเขตอื่นมักเป็นการขยายถนน สำหรับระยะเวลาเวนคืนไม่เกิน 1 ปี โดยปี 2565 น่าจะเริ่มก่อสร้างและเปิดใช้เส้นทางปี 2567
ทั้งนี้แนวเส้นทาง สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกายและถนนต่อเชื่อมจะ ผ่านตลาดบางอ้อ เป็นอีกจุดที่จะสร้างทางต่างระดับขึ้นลงจากถนนจรัญสนิทวงศ์แนวจะตรงไปตัดกับแนวทางด่วนบางซื่อ-สะพานพระราม 6-ถนนบรมราชชนนี โดยจะมีทางต่างระดับขึ้นลงเชื่อมกับถนนโลคัลโรดและทางด่วศรีรัช จากนั้นจะลดระดับลงพื้นดิน ตวัดไปด้านซ้าย คู่ขนานไปกับถนนนครอินทร์ เชื่อมกับถนนราชพฤกษ์และถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ