ลุ้นธปท.ออกมาตรการใหม่
เร่งลดเดือดร้อน ‘ดอกเบี้ย’ พุ่ง ย้ำดูแลรายได้น้อยเฉพาะกลุ่ม
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าการส่งผ่านนโยบายการเงินหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายยอมรับว่าธนาคารพาณิชย์อาจเริ่มขยับเพิ่มดอกเบี้ยบ้างแล้ว แต่เชื่อว่าไม่ได้เพิ่มมากเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว โดย ธปท. อยู่ระหว่างปรับปรุงมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น สินเชื่อฟื้นฟูมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวเพื่อดูแลประชาชนในกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง และธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีต้นทุนสูงขึ้น คาดว่าจะออกมาในเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้มาตรการปรับเปลี่ยนเป็นการดูแลแบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้นเพื่อให้ครัวเรือนรายได้น้อยไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการขึ้นดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนทางการเงินครัวเรือนเพิ่มขึ้นอาจมีบางเฉพาะจุดที่ต้องทำเพิ่มเติมขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยที่กู้ยืมแบบไม่มีหลักประกัน ต้องให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยต้องรอและจะมีการออกมาตรการด้านการเงินแบบแพ็กเกจออกไปด้วย
สำหรับการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงข้างหน้า คาดว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ โดยในไตรมาส 4 ปีนี้คาดว่ามีต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย 3 หมื่นคนต่อวัน คาดทั้งปี 6 ล้านคนและตลาดแรงงานมีการฟื้นตัวดีขึ้น ดูได้จากการปรับตัวของข้อมูลผู้ว่างงาน และเสมือนการว่างงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงปรับดีขึ้น รวมทั้งมีคนรายได้น้อย ปานกลาง และรายได้สูง มีรายได้ที่ปรับดีขึ้นเช่นกันทั้งปีนี้และปี 66
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในปี 66 ที่กว่า 4%และเงินเฟ้อได้สูงขึ้นในปัจจุบันทำให้ กนง. มีมุมมองที่จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อและลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจไทย ยอมรับว่าการดำเนินนโยบายถอนคันเร่งด้านดอกเบี้ยได้หารือกันภายในมาสักระยะไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ประชุม กนง. ครั้งล่าสุด กนง. มองว่าอาจถึงเวลาแล้วที่ต้องสื่อสารเพื่อให้เห็นความชัดเจนมากขึ้นมั่นใจการขึ้นดอกเบี้ยไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดและต้นทุนเงินเฟ้อสูงกว่าต้นทุนดอกเบี้ย 7-8 เท่าหากขึ้นดอกเบี้ย 1%
”รอบการประชุม กนง. ที่เว้นห่าง เพื่อต้องการข้อมูลที่มากขึ้นมองว่า 3 ครั้งที่เหลือของปียังอยู่ในจังหวะที่เหมาะสมจะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากหรือน้อยอยู่ที่ กนง. บางประเทศมีการประชุมน้อยกว่าไทย ถ้าจำเป็นจริงก็มีประชุมนอกรอบได้ แต่ตอนนี้วางไว้เหมาะสมกับสภาวะทั่วไปและในเวลานี้ยังมองว่าเหมาะสมอยู่ รวมทั้งยังไม่มีเหตุผลที่จะปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ปัจจุบันอยู่ที่ 1-3% เห็นว่าเหมาะสมอยู่ แต่รอบปกติที่ผู้ว่าการ ธปท.กับ รมว.คลัง จะคุยกันคือในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้”
นายปิติ กล่าวอีกว่า ส่วนเงินบาทอ่อนค่าตอนนี้กระทบต้นทุนนำเข้าสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีภาระต้นทุนสูง ซึ่งเงินบาทมีความสำคัญที่ กนง.พิจารณาใกล้ชิด
Reference: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์