ลดดอกเบี้ย-ยืดชำระแก้เอ็นพีแอล

23 Jun 2020 737 0

          ดีเดย์ 1 ส.ค.นี้ แบงก์ชาติเยียวยาลูกหนี้บัตรเครดิตเช่าซื้อ เฟส 2 ทั้งลดดอกเบี้ยทุกประเภท ขยายเวลาผ่อนทั้งต้น-ดอก ตั้งเป้ายื้อหนี้เสียให้น้อยที่สุด กำชับสถาบันการเงินเลี่ยงการยึดทรัพย์ และห้ามคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

          นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่ามาตรการช่วยเหลือประชาชนเป็นหนี้บัตรเครดิตและเช่าซื้อ โดยลดเพดานดอกเบี้ยมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป โดยหนี้บัตรเครดิตลดลง 18% เหลือ 16% ต่อปี สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน ลดลงจาก 28% เหลือ 25%

          สินเชื่อส่วนบุคคลผ่อนชำระเป็นงวด ลดลงจาก 28% เหลือ 25% และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดลงจาก 28% เหลือ 24% ส่วนเรื่องการขยายวงเงิน สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลจะมีผล 1 ส.ค. แต่เป็นมาตรการชั่วคราวถึงสิ้นปี 2564 และเปิดให้ลูกหนี้แสดงความจำนงได้ตั้งแต่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค. 2563

          ลูกหนี้บัตรเครดิตการผ่อนชำระขั้นต่ำเหมือนเดิมในอัตรา 5% ในปี 2563-2564 และปรับขึ้นเป็น 8% ในปี 2565 ปรับเป็น 10% ในปี 2566 ส่วนมาตรการเพิ่มเติมจะให้ลูกหนี้สามารถเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตเป็นระยะยาว 48 เดือน ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ คิดดอกเบี้ย 12% ต่อปี

          สินเชื่อส่วนบุคคล แยกเป็นสินเชื่อหมุนเวียน จะไม่กำหนดอัตราผ่อนขั้นต่ำตายตัว โดยให้ลดอัตราการผ่อนขั้นต่ำตามความสามารถ  ในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ส่วนการเปลี่ยนประเภทหนี้ ให้เปลี่ยนประเภทหนี้เป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา 48 เดือน แต่ดอกเบี้ยให้คิดที่ไม่เกิน 22%

          สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จะมีทางเลือกคือให้ลดค่างวด 30% โดยคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อครั้งนี้ไม่จำกัดวงเงินเป็นการเช่าซื้อยานพาหนะทุกวงเงิน แต่ให้เลื่อนชำระค่างวดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน (เหมือนระยะที่ 1) และให้ลดค่างวดด้วยการขยายเวลาการชำระหนี้ โดยต้องดูความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้

          สินเชื่อบ้านสิ่งที่ต่างจากระยะแรกให้เลื่อนชำระค่างวด ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน เลื่อนชำระเงินต้นเป็นเวลา 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยตามความเหมาะสม

          มาตรการที่ทำในระยะ 2 ถือว่าเป็นการช่วยลูกหนี้ให้มีการวางแผนการชำระหนี้ดีขึ้น ไม่ถือว่าเป็นหนี้เสีย ไม่ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่สามารถคิดค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ เช่น ค่าผิดนัดชำระหนี้ และที่เน้นคือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องชะลอการยึดทรัพย์

Reference: