รื้อใหญ่ ภาษีที่ดิน 2567 เผือกร้อนวัดใจรัฐบาลใหม่ รีดทั่วหน้า เศรษฐี-เกษตรกรจำแลง

03 Apr 2023 226 0

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

          แม้จะผ่านการบังคับใช้มากว่า 3 ปี แต่ยังคงมีประเด็นฮอตให้เกาะติด ต่อเนื่องทุกปี สำหรับ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” โดยในปี 2566 รัฐบาลประกาศลดอัตราจัดเก็บจากปี 2565 เก็บ 100% เหลือ 75% แถมขยายเวลาการชำระให้ 2 เดือน ช่วยบรรเทาภาระผู้เสียภาษีที่ปีนี้เจอหลายเด้ง ทั้งราคาประเมินที่ดินปรับขึ้นถึง 8% และถูกชาร์จเพิ่ม 0.3% หากปล่อยที่ดินร้างเกิน 3 ปี

          ลุ้นรัฐบาลใหม่เคาะอัตราปี‘67

          แต่ดูเหมือนความระทึกยังไม่คลี่คลาย เนื่องจากอัตราที่รัฐบาลประกาศใช้ปัจจุบันจะบังคับใช้ถึงปีนี้ ดังนั้นเท่ากับว่าในปี 2567 กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ยังต้องลุ้นจะมีการทบทวนอัตราภาษีใหม่หรือไม่ ภายใต้การเปลี่ยนผ่านสถานการณ์การเมืองสู่รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าทิศทางลมจะพัดไปทางไหน หลังสแกนนโยบายที่หาเสียงกันปาวๆ ในช่วงเลือกตั้ง ยังไม่มีพรรคไหนแตะเรื่องภาษีที่ดิน

          สถานะตอนนี้จึงอยู่บนพื้นฐานมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะคงหรือลดอัตราเดิมหรือเขย่าอัตราใหม่ให้ชนกับเพดานที่กฎหมายกำหนด โดยอัตราเพดานที่ดินเกษตรกรรมไม่เกิน 0.15% บ้านพักอาศัยไม่เกิน 0.3% ที่ดินอื่นๆ และรกร้างว่างเปล่าไม่เกิน 1.2%

          เมื่อย้อนดูไทม์ไลน์ของกฎหมายในมาตรา 94 กระทรวงการคลังจะต้องทบทวนอัตราภาษีใหม่ หลังจัดเก็บครบ 2 ปี (2563-2564) แต่ด้วยวิกฤต โควิด-19 ในรอบปี 2565-2566 รัฐบาลประกาศคงอัตราเดิม แต่ไม่ได้ปรับลด 90% เหมือน 2 ปีแรก

          ในทางคู่ขนานกระทรวงการคลังส่งสัญญาณเตรียมจะรีวิวกฎหมายภาษีที่ดินใหม่ภายในปี 2567 หลังบังคับใช้ครบ 5 ปี แต่ยังไม่ทันใจเอกชนและหน่วยงานท้องถิ่น ที่ต้องการให้ปรับแก้กฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว หลังพบสารพันปัญหาและยังมีช่องโหว่ให้เจ้าของที่ดินเลี่ยงภาษีได้แบบถูกกฎหมาย

          จี้เก็บ50%ทบทวนภาษีสต๊อกบ้าน-คอนโด

          อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเห็นว่า กฎหมายบังคับใช้กว่า 3 ปีแล้ว คงถึงเวลาต้องทบทวนใหม่ สมาคมจะขอให้รัฐทบทวนอัตราภาษีบริการสาธารณะในโครงการจัดสรร เช่น ถนน ซุ้มโครงการ สโมสร จากเดิมจ่ายอัตราเดียวกับที่ดินประเภทอื่นๆ ในอัตราล้านละ 3,000 บาท เป็นล้านละ 200 บาทเท่ากับที่อยู่อาศัย ขณะที่บ้านและคอนโดมิเนียมที่ยังขายไม่ได้ ถูกเก็บในอัตราประเภทอื่นๆ จะขอให้เก็บอัตราเดียวกับที่อยู่อาศัย เพราะไม่ได้มีไว้เพื่อประกอบกิจการ

          ทั้งนี้ ภาษีที่ดินเป็นเรื่องใหม่คนอาจยังไม่คุ้นเคย ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัว เช่น ที่ดินถือเป็นแลนด์แบงก์ระยะยาว หากไม่ต้องการเสียภาษีแพง สามารถให้เกษตรกรเช่าระยะยาว เพื่อเสียภาษีอัตราเกษตรล้านละ 100 บาท หรือลดขนาดโครงการ และกำหนดเวลาการพัฒนาให้สอดรับกับการ ลดหย่อนภาษี เช่น คอนโดจะได้ลดหย่อน 3 ปี นับจากได้ใบอนุญาตก่อสร้าง เพราะหากปล่อยร้าง ในทุก 3 ปี จะถูกชาร์จเพิ่ม 0.3% ไปเรื่อยๆ จากล้านละ 3,000 บาท จนถึงล้านละ 30,000 บาท

          สำหรับแนวโน้มภาษีที่ดินในปี 2567 “อิสระ” ประเมินรัฐบาลใหม่ คงไม่ปรับอัตราภาษีเพิ่ม เพราะเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว และปีนี้เจ้าของที่ดินมีภาระเพิ่มอยู่แล้วจากราคาประเมินที่ดินและจ่ายเพิ่มอีกเท่าตัว หากที่ดินยังไม่ใช้ประโยชน์จากล้านละ 3,000 บาท เป็นล้านละ 6,000 บาท ซึ่งรัฐควรปรับลดอัตราตามสภาพเศรษฐกิจ โดยลดให้บางธุรกิจที่ยังฟื้นไม่เต็มที่ เช่น โรงแรมขนาดเล็ก

          ด้าน ขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ ซีอีโอบริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) เสนอให้รัฐบาลทบทวนอัตราภาษีที่ดิน ในส่วนของบ้านและคอนโดมิเนียม ยังขายไม่ได้ ให้เก็บอัตราเดียวกับที่อยู่อาศัย เพราะเป็นสินค้าคงคลัง ที่พัฒนาแล้ว แต่ถูกเก็บในอัตราเป็นธุรกิจ

          ขณะที่ อธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและ พีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย แม้มองคนละมุม แต่มี จุดหมายเดียวกัน โดย “อธิป” มองว่า รัฐควรเก็บภาษีที่ดินเป็นขั้นบันไดจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่ โดยปี 2567 ควรเก็บ 50% คงต้องรอดูนโยบายรัฐบาลใหม่จะยอมลดหรือกลับมาเก็บ 100% หรือปรับอัตราเพิ่มขึ้น เพราะอัตราปัจจุบันใช้ได้ถึงปีนี้ ขณะที่ “พีระพงศ์” ขอให้เก็บภาษีที่ดินอัตราเดียวกันทุกประเภท เพราะที่ดินแต่ละประเภทถูกกำหนดโดยราคาประเมินอยู่แล้ว

          กทม.พบสารพันปัญหาเชียร์ปรับยกแผง

          ฝั่งของท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) แหล่งข่าวระบุว่า เพื่อให้ การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลควรปรับแก้กฎหมายใหม่ โดยเฉพาะ กฎระเบียบที่ยุ่งยาก ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น เช่น ข้อยกเว้นต่างๆ ที่ทำให้เก็บภาษีไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม หากปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ตามที่กำหนด จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าเสียล้านละ 3,000 บาท จะเสียในอัตราเกษตรกรรมล้านละ 100 บาท จึงทำให้ 3 ปีนี้มีปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ดินในเมืองมีปลูกกล้วยและมะนาว เพื่อให้เสียภาษีถูกลง

          แม้กฎหมายจะให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีได้แต่แหล่งข่าวระบุว่า ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่ง กทม.เตรียมจะออกข้อบัญญัติ เก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมเต็มเพดาน 0.15% หรือเพิ่ม 15 เท่า จากล้านละ 100 บาท เป็นล้านละ 1,500 บาท ในพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรม สีน้ำตาลที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก สีม่วงที่ดินอุตสาหกรรม และสีเม็ดมะปรางที่ดินประเภทคลังสินค้า หลังมีการนำที่ดินกลางเมืองไปทำเกษตรกันมาก แต่กระทรวงการคลังไม่อนุมัติ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ล่าสุด กทม.ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้ว

          ’ชัชชาติ’ ลุยรีดที่ดินเกษตรจำแลง

          ขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หลังคลังเซย์โน ยังคงเดินหน้าต่อ หวังดัดหลัง เกษตรกรจำแลง แกล้งทำเกษตรกรรม โดยเตรียมหอบข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลใหม่ให้ช่วยผลักดันอีกแรง

          ”สิ่งที่เราอยากทำ ถ้าที่ดินเกษตรกรรมอยู่ในผังเมืองสีแดง ขอให้เก็บแพงขึ้น เพราะดูแล้วเป็นเกษตรจำแลง ไม่ใช่เกษตรตัวจริง แต่ไม่อยากจะปรับขึ้นทั้งหมด เพราะเกษตรตัวจริงก็มี เลยขอปรับเฉพาะพื้นที่สีแดง แต่คลังไม่ให้ จะนำข้อมูลที่ กทม.เก็บได้ทั้งหมดหารือรัฐบาลใหม่ ถ้าทำได้ กทม.จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กทม.เสียรายได้จากส่วนนี้ไป 800 ล้านบาท” ชัชชาติกล่าวย้ำพร้อมอธิบายว่า ปัญหาตอนนี้ที่ดินในเขตเมืองเก็บได้น้อยลง แต่เขตชานเมืองเก็บได้มากขึ้น เช่น เขตทวีวัฒนา ก่อนมีภาษีที่ดินเก็บได้ 100 ล้านบาท ตอนนี้เก็บได้ 150 ล้านบาท เพราะมีที่ดินเปล่ามาก กลายเป็นว่าคนมีที่ดินเปล่าโดนหนัก เพราะเสียภาษี แต่ที่ดินในเมืองเดิมเก็บโดยภาษีโรงเรือนจะจ่ายตามรายได้ในอัตรา 12.5% ต่อปี เมื่อเป็นภาษีที่ดินจะจ่ายถูกลงกว่าเดิมมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า เพราะคิดตามมูลค่าอาคารและที่ดิน เมื่ออาคารเสื่อมราคา มูลค่าจะเหลือไม่มาก หรือหอพักหากเจ้าของเข้าไป พักอาศัย จะเสียอัตราที่อยู่อาศัย ไม่ใช่ประเภทอื่นๆ หากมูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท จะได้ยกเว้น ซึ่งรัฐบาลต้องทบทวนจริงๆ แล้วว่าภาษีที่ดินลดความเหลื่อมล้ำได้ตรงเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่

          เป็นคำถามดังๆ ที่ยังรอคำตอบจาก “รัฐบาลใหม่” จะใจกล้า รับไม้ต่อหรือพอแค่นี้!!

Reference: