รื้อกฎใหม่ปลดล็อกคอนโด-ตึกสูงในเมือง

08 Aug 2021 825 0

          กรมโยธาฯ-กทม.เร่งยกร่างกฎกระทรวงใหม่ ตามความในพรบ.ควบคุมอาคาร ใส่ขนาดช่องจราจร เข้าไป เพิ่มทางเลือกเพื่อความยืดหยุ่น ไม่เจาะจงเฉพาะ ความกว้างหน่วยเป็นเมตรเพียงอย่างเดียว ชี้ช่วยลดผลกระทบฟ้องร้อง-ศาลสั่งรื้อถอนอาคาร สูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน-เสียโอกาสทางธุรกิจ ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น

          คำสั่งศาลปกครองให้รื้อถอนอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่สร้างขัดต่อพระราชบัญญัติ (พรบ.) ควบคุมอาคารพ.ศ 2522ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร กำลังกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดเขตทางความกว้างของถนนในซอยและถนนสายหลัก

          ซึ่งเป็นสาธารณะ ต้องมีขนาดความกว้างตามพรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนด ดังเช่น อาคารดังที่ต้องคำพิพากษาของศาลชี้ขาดให้รื้อถอนหากมีใครร้องเรียน อย่างโรงแรมเอทัชในซอยร่วมฤดี (เพลินจิต ) มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท และ โครงการคอนโดมิเนียมหรูแอซตัน อโศก มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท ที่พบเขตทางความกว้างของถนนไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

          แม้การรื้อถอนหรือทุบทิ้งอาคารดังกล่าวจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติอาจจะส่งผลเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นเข้ามาลงทุน เพราะการทุบทิ้งบางส่วนที่ผิดกฎหมาย ใช่ว่าจะใช้อาคารที่เหลือต่อไปได้ อาจต้องทำลายทั้งหลังเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้เข้าใช้อาคาร

          ทั้งนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าว กำลังจะมีทางออก ทั้งการขออนญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายและเจ้าของอาคารสามารถอยู่รอดได้

          คลอดกฎใหม่อุ้มตึกสูง

          แหล่งข่าวจากกรุงเทพ มหานคร (กทม.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองได้แจ้งมายังกทม.โดยระบุขณะนี้ อยู่ระหว่าง ยกร่างกฎกระทรวง ออกตามความในกฎหมายควบคุมอาคารใหม่ เรื่อง การกำหนดเขตทางความกว้างของถนนในซอยเชื่อมโยงถนนสายหลักที่เป็นสาธารณะ โดยจะเพิ่มทางเลือก เพื่อยืดหยุน ลดการตีความข้อกฎหมายลง เช่น เพิ่ม ขนาดช่องจราจร เช่น สร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตร (เกิน 8 ชั้น) ได้ หากตั้งอยู่ติดถนนขนาด 2 ช่องจราจรหรือ ขนาดความกว้าง ที่กำหนดเป็นเมตร เป็นต้น เพราะที่ผ่านมา ยอมรับว่าที่ผ่านมาจะพิจารณาจากขนาดความกว้างเพียงอย่างเดียว หากเกิดเหตุ สุดวิสัยเช่น เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีการทับถมของดิน ทำให้เขตทางแคบลง ก็จะมีปัญหา นอกจากนี้ การบุกรุกของชุมชนสร้างอาคารรุกล้ำเขตทาง ทำให้ถนนแคบลง จึงเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ หากเกิดการไม่ชอบใจใครเป็นการส่วนตัวสามารถถือตลับเมตร เข้ามารังวัดสอบเขตและยื่นฟ้องร้องกันได้ อย่างไรก็ตามกทม.ในฐานะผู้ถือปฏิบัติข้อกฎหมายจะต้องเข้าร่วมประชุมและเข้าชี้แจงในเรื่องนี้ร่วมกับกรมโยธาฯด้วย เพราะเห็นด้วยที่มีการยืดหยุ่น

          ”กรมโยธากำลังออกกฎกระทรวง เรื่องขนาดถนนซอย 10 เมตรในกทม. โดยจะยืดหยุ่น เช่นอาคารสูงนอกจากตั้งอยู่บนเขตทางกว้างไม่เกิน 10 เมตรแล้ว อาจตั้งอยู่บนเขตทางถนน 2 ช่องจราจร แต่ต่อมาภายหลังพบว่าเขตทางของถนน กว้างไม่ถึง 10 เมตร ให้ยึดเกณฑ์เขตทาง 2 ช่องจราจรได้ เป็นต้น เพื่อป้องกันเขตทางหาย เช่นหายครึ่งเซ็นติเมตรเพียง จุดเดียวเท่ากับทั้งเส้นผิดหมดเลยสร้างอาคารสูงไม่ได้ กรมโยธาฯกำลังหาทางออกช่วยอยู่ เพื่อยืดหยุ่นให้เกิดการพัฒนาตามความเจริญของเมือง ไม่เช่นนันจะต้องเจอคดีรื้อถอนอาคารไม่สิ้นสุด ซึ่งมีทั้งเอกชนลักไก่ และกลุ่มที่ไม่เจตนา”

          ยื้อ 6 ปี รื้อเอทัช

          ขณะความคืบหน้าการรื้อถอนโรงแรมดิเอทัส บางกอก 24 ชั้น และ เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ดิเอทัส เรสซิเดนซ์ 18 ชั้น ใน ซ.ร่วมฤดี (เพลินจิต) สำนักงานเขตปทุมวันและกทม. ได้มอบเจ้าของอาคาร บริษัท ลาภประทาน จำกัด และ บริษัท ทับทิมทร จำกัด ออกค่ารื้อถอนวงเงิน 160 ล้านบาทว่าจ้างบริษัท ทำเลไทยธรรมชาติจำกัด เตรียมเข้ารื้อถอนอาคารโรงแรมจาก 24 ชั้นและเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ดิเอทัส เรสซิเดนซ์ 18 ชั้นให้เหลือ ไม่เกิน 8 ชั้น รวมทั้งต้องลดขนาดความกว้าง พื้นที่ใช้สอยอาคารจากเกิน 10,000 ตารางเมตรให้ต่ำกว่า 10,000 ตารางเมตร

          ทั้งนี้ รวมเวลา 6 ปี นับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัย ยืนตามศาลปกครองกลาง ให้รื้อถอนอาคารส่วนที่เกินออกแต่เอทัช ยังต่อสู่คดี และยังเปิดให้บริการลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยยอมเสียค่าปรับวันละ 30,000 บาท เมื่อเลยกำหนดวันรื้อถอนในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด -19

          ย้อนรอยคดีตึกดัง

          ย้อนเหตุการณ์รื้ออาคารเอทัช เกิดเมื่อปี 2551 ชาวบ้านในชุมชน ซอยร่วมฤดี (เพลินจิต) จำนวน 24 รายรวมตัวกันยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ผู้บริหารกทม. บริษัท ลาภประทาน จำกัด และ บริษัท ทับทิมทร เจ้าของโรงแรมเอทัช ว่า ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารผิดกฎหมายขัดต่อพรบ.ควบคุมอาคาร โดยใช้ตลับเมตรวัด เขตทางของถนนในซอยร่วมฤดี บริเวณจุดก่อสร้างอาคาร พบว่าความกว้างของถนนซอยกว้างเพียง 9 เมตรเศษ ไม่ถึง 10 เมตร

          ทั้งนี้การต่อสู้ของชาวบ้าน ใช้เวลา 6 ปี โดยปี 2557 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเอทัช จำนวน 2 อาคาร เนื่องจากสร้างสูงเกิน 23 เมตร ตัวอาคารเกิน 10,000 ตารางเมตร ไม่ชอบด้วยกฎหมายปี 2558 ศาลปกครองสูงสุดยืนคำพิพากศาของศาลปกครองกลางสั่งรื้อถอนถือเป็นที่สุด แต่มีการอุทธรณ์กลับของเอทัชเป็นระยะโดยเฉพาะปี 2563 ศาลปกครองยกฟ้องเอทัช กรณียื่นฟ้องกทม.และเขตปทุมวัน อนุญาตอาคารในซอบแปลง ที่ 99 และ 100 สร้างลุกล้ำเขตทาง

          ส่วนตำนานห้างนิวเวิล์ดบางลำพู ห้างหรูมีลิฟท์แก้วรายแรกๆ ปัจจุบันมีสภาพเป็นอาคารร้าง หลังจากทุบเหลือเพียง 4 ชั้น ตั้งอยู่บนที่ดินสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ด้วยความที่ค่าเช่าแพง เนื่องจากเป็นที่ดินกลางใจเมือง แต่ความสูงของอาคารมีเพียง 4 ชั้น ทำให้นักลงทุนมองว่าไม่คุ้มค่า

          ห้างหรูนิวเวิลด์บางลำพู เหลือเพียงตำนาน เกิดจาก บริษัท แก้วฟ้าช้อปปิ้งอาเขต จำกัด ออกแบบก่อสร้างอาคารสูง 4 ชั้นและได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายควบคุมอาคารปี 2522 ในเวลาต่อมา ปี 2527 บริษัทแก้วฟ้าขออนุญาตต่อเติมอาคารพร้อมลิฟท์แก้ว แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากกทม. กลับกันได้ฝ่าฝืนลักลอบต่อเติมอาคารจากชั้น 5 ไปจนถึงชั้น 11 กทม.สั่งฟ้องรื้อถอน ตั้งแต่ชั้น 5-ชั้น 11 ปี 2547 ศาลฏีกามีคำพิพากษาสั่งรื้อถอนอาคารส่วนต่อเติมดังกล่าว

Reference: