รายงาน: จับตา 'ตลาดรับสร้างบ้าน' ไตรมาส 2 มาตรการรัฐดัน 'กำลังซื้อ-ยอดสั่งสร้าง' ฟื้นตัว

07 May 2024 180 0

 

         

          ตลาดที่อยู่อาศัยเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ความเคลื่อนไหวของการซื้อขายตลาดที่อยู่อาศัยจึงมีผลต่อการหมุนเวียนของเงินในระบบเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของ GDP การเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาค อสังหาริมทรัพย์ ที่มีมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 นับเป็นการส่งสัญญาณในทางบวกต่อธุรกิจรับสร้างบ้าน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงผู้บริโภคได้มีบ้านเป็นของตัวเองง่ายขึ้น

        นายวรวุฒิ กาญจนกูล กรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA: Home Builder Association) กล่าวว่า จากมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดรับสร้างบ้านในไตรมาส 2 ปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากแรงกระตุ้นของมาตรการภาครัฐ ส่งผลให้ยอดขายเริ่มกลับมาฟื้นตัว ภายหลังจากภาวะยอดขายชะลอตัวไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโดยรวม อัตราดอกเบี้ย ขาขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง และความเข้มงวดในการปล่อย สินเชื่อของธนาคาร ส่งผลให้ตลาดรับสร้างบ้านไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ในสภาวะค่อนข้างซึม

        “จากการกระตุ้นการรับรู้และสร้างยอดขายในงาน “รับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2024” ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ใหญ่ ครบ จบที่เดียว” พร้อมโปรโมชันตลอด 9 วัน ระหว่างวันที่ 17-25 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 8 เมืองทองธานี เพื่อดึงความสนใจผู้บริโภคที่สนใจสร้างบ้าน แต่ก็พบว่ายังมีผู้บริโภคจำนวน ไม่น้อยที่ชะลอการตัดสินใจออกไปก่อน เนื่องจากรอสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เป้าหมายยอดสั่งสร้างบ้านภายในงานไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ “นายวรวุฒิกล่าว

         ทั้งนี้  นับเป็นครั้งแรกของตลาดรับสร้างบ้านที่ได้รับมาตรการลดหย่อนภาษีปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง โดยมาตรการ “สร้างบ้านลดหย่อนภาษี ล้านละหมื่น” เป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ปลูกสร้างบ้านขึ้นใหม่ ไม่เกินหนึ่งหลังตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านที่บริษัทรับสร้างบ้านได้เสียอากรแสตมป์ โดยวิธีการชำระอากรผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Online) ไว้กับสรรพากร

         โดยต้องเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ค่าก่อสร้างตามสัญญาจะเป็นเท่าไรก็ได้ แต่ผู้บริโภคจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ล้านละหนึ่งหมื่นบาท แต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท ตามที่จ่ายจริง ดูจากใบกำกับภาษีที่ได้รับจากบริษัทรับสร้างบ้าน โดยผู้บริโภคจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปีภาษีถัดไป จากปีที่ก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ

          สำหรับข้อดีของมาตรการสร้างบ้านลดหย่อนภาษี “ล้านละหมื่น” จะส่งผลดีกับ 4 กลุ่ม ได้แก่

         ”ผู้บริโภค” ที่วางแผนปลูกสร้างบ้านบนที่ดินตัวเองจะสามารถลดภาระลง โดยสามารถนำเงินที่ว่าจ้างก่อสร้างมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะช่วยให้ตัดสินใจเร็วขึ้น จากเดิมที่มีบางส่วนชะลอการตัดสินใจไปเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

         ”ร้านค้า บริษัทวัสดุก่อสร้าง” กับยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากภาพรวมของยอดสั่งสร้างบ้านที่มีแนวโน้มจะขยายตัวดีขึ้น

         ”ภาษีเข้ารัฐ” การนำเงินจ้างก่อสร้างที่อยู่อาศัยมาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในจำนวนล้านละ 10,000 บาทและโดยรวมไม่เกิน 100,000 บาท ส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ จาก VAT 7% ทั้งในรูปแบบของการซื้อวัสดุก่อสร้างต่างๆ และ “ผู้รับจ้างสร้างบ้าน” เป็นต้น

          เร่งกลยุทธ์ตลาดเสริมทัพรับข่าวดี

         ในขณะที่มาตรการสร้างบ้านลดภาษี “ล้านละหมื่น” จะเริ่มมีผล 9 เมษายน 2567 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ดังนั้น การเร่งสร้างโอกาสทางการตลาดและวางกลยุทธ์ที่ถูกต้อง จะเป็นอีกตัวเร่งให้ตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2 ขยายตัวมากขึ้น ช่องทางการตลาดมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะสร้างการรับรู้ของบริษัทรับสร้างบ้านต่อกลุ่มเป้าหมาย เช่น การนำเสนอแบบบ้านใหม่ และบริการ เป็นต้น

       การสนับสนุนผ่านงบประมาณของสมาคมฯ ให้กับสมาชิกรายกลางและรายเล็ก ที่อาจจะไม่มีทุนมากพอได้มีช่องทางการออกบูทให้มากขึ้น เป็นการกระตุ้นที่เกิดประโยชน์ ทั้งภาพรวมของงานที่มีสีสันและดึงความสนใจของผู้เข้าชมงานได้ ขณะที่ผู้บริโภคที่วางแผนสร้างบ้านจะมีทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งแบบบ้านและระดับราคา

      นอกจากนี้ การพัฒนาแคมเปญการตลาดและโปรโมชัน ส่งเสริมการขายที่ดึงดูด จะสร้างการรับรู้ในกลุ่มเป้าหมายให้ กว้างขึ้น รวมถึงการวางแผนใช้สื่อในช่องทางที่หลากหลาย ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ จะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภค และการพิจารณาสถานที่จัดงานที่เหมาะสม และง่ายต่อการเดินทางไปร่วมงาน

        รีโนเวต ตลาดใหม่มีแววรุ่ง

       อย่างไรก็ดี อีกกลยุทธ์สำคัญ ต้องมองหาตลาดใหม่ กำลังซื้อกลุ่มใหม่ เข้ามาเสริมฐานลูกค้าเดิม นายวรวุฒิ กล่าวว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านนอกจากรับสร้างบ้านใหม่บนที่ดินตัวเองให้กับลูกค้าแล้ว อีกแนวทางที่น่าสนใจอย่างมาก ก็คือตลาดรีโนเวต ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และกระจายอยู่ในหลายทำเล ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด

      ข้อดีของการรับงานรีโนเวต อยู่ที่ไม่ใช้งบลงทุนเยอะ ทำเสร็จเร็ว เก็บเงินได้เร็ว ช่วยหารายได้เข้าบริษัทได้อีกทางหนึ่ง และมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมากตามดีมานด์ของตลาดบ้านมือสอง คุมต้นทุนก่อสร้างบ้าน

      นอกจากกลยุทธ์ทางการตลาดแล้ว อีกปัจจัยสำคัญของธุรกิจรับสร้างบ้าน ก็คือต้นทุน ที่ควรดำเนินการอย่างรัดกุม โดยเฉพาะคอนกรีตและเหล็ก ที่ปรับราคาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับแรงงานที่วันนี้มีเพียงพอต่อการรับยอดสั่งสร้างบ้านที่เพิ่มขึ้น

    “ราคาน้ำมันสูงขึ้น วัสดุเหล็กเส้นปรับราคา ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ธุรกิจต้องรับมือให้ได้ โดยเฉพาะต้นทุนวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น เหล็กขึ้นราคาไปแล้ว 5-10% ซึ่งบริษัทรับสร้างบ้านพยายามรักษาระดับราคาเดิมเอาไว้ ไม่ปรับขึ้น แม้จะมีปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนสร้างบ้านเพิ่มขึ้นก็ตาม”

     สุดท้ายนี้ นายวรวุฒิ กล่าวว่า มาตรการภาครัฐ ออกมา กระตุ้นช่วยให้เศรษฐกิจ ธุรกิจเอกชน และผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น ซึ่งดำเนินการไปพร้อมกันกับการเสริมกลยุทธ์การตลาดและส่งเสริมการขายของสมาคมฯ นับเป็น 2 ตัวเร่งที่ส่งผลให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในไตรมาส 2 รวมถึงอีก 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ขยายตัวเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้.

 

Reference: