รัฐแจก3.5พัน/2เดือน คนละครึ่ง ให้อีก1ล้านสิทธิ์

13 Jan 2021 596 0

          ทุ่มกว่า2แสนล้านสู้โควิด ลดค่าน้ำ-ค่าไฟก.พ.-มี.ค. ชะลอหนี้บ้าน-รถยนต์3ด.

          รัฐบาลเห็นชอบสารพัดโปรเจกต์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากโควิด-19 แจกเงินภายใต้ชื่อโครงการ “เราชนะ” แจก คนละ 3,500 บาท 2 เดือน คาดจ่ายร่วม 30 ล้านคน ใช้เงิน 210,000 ล้านบาท ครม.สั่งกระทรวงการคลังทำรายละเอียด ให้พิจารณาสัปดาห์หน้า พร้อมเปิดลงทะเบียนเก็บตก “คนละครึ่ง” อีก 1 ล้านสิทธิ์ วันที่ 20 ม.ค.นี้ เปิดรายละเอียดลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ตามใบแจ้งหนี้ เดือน ก.พ.-มี.ค.64 คาดช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน 9,000 ล้านบาท

          จากการที่รัฐบาลประกาศควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา2019 (โควิด-19) ในการระบาดรอบใหม่ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 ต่อเนื่องจนถึง ม.ค.2564 และอาจลากยาวไปถึงเดือน ก.พ. ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชน ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ต่างเดือดร้อนในการทำมาหากินถ้วนหน้า

          ครม.ลดค่าน้ำ–ไฟ ก.พ.–มี.ค.

          ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงหลังการประชุม ครม.ถึงมาตรการเยียวยาประชาชนและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ว่า ได้หารือนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องแรกมาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน ค่าไฟฟ้ามีส่วนลดให้ 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้เดือน ก.พ.-มี.ค.64 ส่วนค่าน้ำประปาให้ส่วนลดร้อยละ 10 สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นระยะเวลา 2 เดือน ตามใบแจ้งหนี้เดือน ก.พ.-มี.ค. รวมถึงอินเตอร์เน็ต ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกันว่าจะเพิ่มความเร็วความแรงเน็ตบ้าน มือถือเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้ใช้อินเตอร์เน็ตได้ดีขึ้น เพื่อสนับสนุนเวิร์กฟอร์มโฮม รวมทั้งให้โหลดแอปพลิเคชันหมอชนะฟรีไม่คิดค่าดาต้า เป็นเวลา 3 เดือน

          จัดสารพัดมาตรการช่วยเหลือ

          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า โครงการคนละครึ่งจากการติดตามประเมินผล ส่งผลให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ด้วยดีจะให้เปิดลงทะเบียนใหม่อีก 1 ล้านสิทธิ ประมาณปลายเดือน ม.ค.สำหรับแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ เกษตรกร จะช่วยเหลือเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นเวลา 2 เดือนไปก่อน ให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า ส่วนการช่วยเหลือเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเสริมสภาพคล่องของธนาคารรัฐ ที่ยังมีเงินเหลืออยู่ 2 แสนกว่าล้านบาท ได้ให้กระทรวงการคลังประสานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยเหลือเรื่องหนี้สินโดยเร็ว รวมถึงได้สั่งการอนุมัติไปแล้วคือขยายเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากปีที่ผ่านมา โดยลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์เหลือร้อยละ 0.01 โดยให้กระทรวงการคลังกับมหาดไทย เร่งเสนอกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องต่อ ครม.ต่อไป

          เร่ง ก.พ.–ก.พ.ร.จัดสอบบรรจุ ขรก.

          นายกฯกล่าวอีกว่า ส่วนการช่วยเหลือประชาชนแรงงานในระบบประกันสังคม เช่น ลดหย่อนเงินสมทบนายจ้าง ผู้ประกันตน เยียวยาผู้ว่างงานให้ผู้ประกันตนเข้ารับการตรวจรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงินสำรอง ส่วนการจ้างงานได้มอบหมายกระทรวงแรงงานไปแล้ว ประชาสัมพันธ์ไปแล้วโดยเฉพาะส่งเสริมการจ้างงานใหม่ ผู้จบการศึกษาใหม่ ในภาครัฐ เอกชน ต้องเร่งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงดูแลแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมทั่วไปด้วย ขณะที่การสอบข้าราชการประจำปีได้เร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดสอบเร็วขึ้นจากทุกครั้งทดแทนที่เกษียณอายุไป มีสอบ 2 ส่วน ได้แก่ การสอบทั่วไปจำนวนหนึ่ง อีกส่วนสอบเฉพาะคุณสมบัติตามวิชาชีพ ให้รอฟังประกาศจาก ก.พ.และ ก.พ.ร.

          อัดฉีดงบฯ กห.–สธ.สู้โควิด

          ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบวงเงิน 473,150,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายของพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) จำนวน 22,248 คน ระยะที่ 5 (1 ต.ค.-30 พ.ย.63) โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเบิกจ่ายงบฯ 64 งบกลางในรายการค่าใช้จ่ายบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19 ครม.ยังอนุมัติกรอบวงเงิน 5,816,363,100 บาท จากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ใช้ในโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการของหน่วยงานส่วนภูมิภาคกระทรวงสาธารณสุข รองรับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ประกอบด้วย ค่าสิ่งก่อสร้างไม่เกิน 389,307,100 บาท และค่าครุภัณฑ์ไม่เกิน 5,427,056,000 บาท นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบในหลักการรายการค่าใช้จ่ายสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ วงเงินไม่เกิน 429,617,100 บาท

          “เราชนะ” แจกเงิน 3.5 พัน 2 เดือน

          ต่อมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงมาตรการต่างๆที่รัฐบาลจะออกมาเยียวยาประชาชนในครั้งนี้ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการโครงการแจกเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “เราชนะ” โดยวงเงินที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งจะนำเสนอรายละเอียดให้ ครม.อนุมัติในสัปดาห์หน้า โดยประชาชนที่ผ่านเกณฑ์ในเรื่องของการใช้สิทธิเยียวยาหรือบรรเทาความเดือดร้อนนั้น สามารถใช้เงินอย่างเร็วภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้หรือต้นเดือน ก.พ.เป็นอย่างช้า โดยมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนนี้จะครอบคลุมทุกกลุ่ม และต้องลงทะเบียนผ่านโครงการเราชนะ ซึ่งจะแจ้งวันลงทะเบียนให้ชัดเจนอีกครั้งเมื่อ ครม.อนุมัติในสัปดาห์หน้า โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นจะคัดกรองผู้ที่ไม่ควรได้รับสิทธิเงิน 3,500 บาทต่อเดือนนี้ก่อน เช่น เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม และผู้มีรายได้สูง โดยจะพิจารณาจากเงินฝากในบัญชีธนาคาร เป็นต้น ส่วนผู้ที่เคยได้รับเงินช่วยเหลืองวดที่แล้ว ทั้งอาชีพอิสระ เกษตรกร หากยังคงเดือดร้อนก็จะได้รับความช่วยเหลือ โดยจะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เราชนะ” หรือเว็บไซต์ ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนอยู่ระหว่างการหารือ

          20 ม.ค. เก็บตก “คนละครึ่ง”

          นายอาคมกล่าวอีกว่า มาตรการคนละครึ่งนั้น สามารถกระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศได้ ซึ่งระยะแรกเปิดให้ลงทะเบียนแล้ว 10 ล้านคน ระยะที่ 2 อีก 5 ล้านคน รวม 15 ล้านคน แต่เนื่องจากมีผู้มาใช้สิทธิคนละครึ่งราว 14 ล้านคน ดังนั้น เพื่อให้มีผู้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งครบ 15 ล้านคน กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันที่ 19 ม.ค. เมื่อ ครม.อนุมัติก็จะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 20 ม.ค. หลังจากนั้นจะตรวจสอบสิทธิเพื่อให้เริ่มใช้สิทธิได้ภายในวันที่ 25 ม.ค.นี้ ซึ่งโครงการคนละครึ่งนั้นจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 50,000 ล้านบาท

          7 แบงก์รัฐช่วยเสริมสภาพคล่อง

          นายอาคมกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงินและลดภาระหนี้นั้น ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือให้ไปแสดงตนที่ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งแต่ละธนาคารพร้อมให้ความช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐ ทั้งพักเงินต้น พักเงินต้นและดอกเบี้ย ยืดหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะการเข้ารับความช่วยเหลือจาก 7 สถาบันการเงินของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน, ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

          คาดใช้เงินเยียวยา 2.1 แสนล้านบาท

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปจัดทำรายละเอียดโครงการเราชนะ ในเบื้องต้นคาดว่าจะมอบเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ ไม่ได้จำกัดเฉพาะจังหวัดที่มีการระบาดหนัก รวมประมาณ 30 ล้านคน โดยจะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 210,000 ล้านบาท โดยยังไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม ทั้งนี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังเหลือที่ยังไม่ได้ใช้อยู่ 469,000 ล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของวงเงินที่ใช้เยียวยาจากทั้งหมด 550,000 ล้านบาท ยังเหลืออยู่ 209,000 ล้านบาท และเงินในส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ยังเหลืออยู่ 260,000 ล้านบาท ส่วนอีก 45,000 ล้านบาท เป็นวงเงินที่กันไว้ใช้ทางด้านสาธารณสุขและจัดหาวัคซีน

          ช่วยลดค่าน้ำ-ไฟฟ้า 2 เดือน

          เลขาธิการ สศช. กล่าวต่อไปด้วยว่า ครม.เห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สำหรับประชาชนและผู้ประกอบการขนาดเล็กในระยะเร่งด่วน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำ เดือน ก.พ. และ มี.ค.2564 กรณีบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ฟรี 90 หน่วยแรก กรณีเกิน 150 หน่วยต่อเดือนให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า คือ 1.กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน ธ.ค.2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง 2.กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน ธ.ค.2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ โดยกรณีไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน ธ.ค.2563 ส่วนกรณีมากกว่า 500 หน่วย แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน ธ.ค.2563 บวกด้วยหน่วยที่ใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน ธ.ค.ในอัตราร้อยละ 50 และกรณีมากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน ธ.ค.2563 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน ธ.ค.2563 ในอัตราร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และสำหรับกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก

          ใช้เงินกู้จ่ายแทน 9 พันล้านบาท

          ส่วนค่าน้ำประปา ให้ลดร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าประปาประจำเดือน ก.พ. และ มี.ค.2564 คาดว่าจากการลดค่าน้ำค่าไฟจะทำให้ผู้บริโภคประหยัดเงินในกระเป๋าได้ 9,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะใช้เงินกู้ในส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจ่ายให้แทน นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและ กสทช.ได้ขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายระบบโทรคมนาคมพิจารณามาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ตของครัวเรือน ดูแลระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้มีเสถียรภาพสูงสุดเพื่อรองรับการทำงานที่บ้านได้อย่างเต็มที่

          “สุพัฒนพงษ์” ชี้ไม่ต้องกู้เพิ่ม

          ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาครั้งนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนในช่วงนี้ไปได้ ส่วนวงเงินที่ใช้รัฐบาลมีเพียงพออย่างแน่นอนแม้ว่าจะใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งการระบาดในรอบใหม่นี้หนักกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ด้วยประสบการณ์ความร่วมมือทุกคนในการดูแลมาตลอดระยะเวลา และได้ปรับแผนทำงานเชิงรุก เห็นทิศทางบวก จึงอยากให้ทุกคนมั่นใจรัฐบาลว่าเตรียมตัวมาดีและฝึกซ้อมเตรียมตัวรับเรื่องนี้มาอย่างดี โดยมาตรการต่างๆ ที่ทำมาแต่เดิมและรอบใหม่นี้ จะเข้าตามกลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อนโดยตรง และให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 5 จังหวัด อย่างไรก็ตาม หากมีการระบาดอีกรอบใหม่เพิ่มขึ้นอีก การเยียวยาแต่ละครั้งต้องใช้เงินมหาศาล จำเป็นต้องกู้เพิ่ม จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจระยะต่อไปด้วย

          แบงก์ชาติยืดเวลาช่วยลูกหนี้

          ในส่วนของการช่วยเหลือลูกหนี้ธนาคารต่างๆ นั้น นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน แถลงว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ธุรกิจ ธปท.ยังจะใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในลักษณะเดิมที่ทำมาก่อนหน้านี้ ทั้งการอนุญาตให้มีการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย มาตรการการลดวงเงินการผ่อนชำระ และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.64 เพื่อให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ ทั้งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เพิ่มเติมได้

          เลื่อนจ่ายหนี้บ้าน-รถ 3 เดือน

          สำหรับมาตรการแบ่งเป็นในส่วนของลูกหนี้รายย่อย หากได้รับผลกระทบหรือไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ในขณะนี้ให้ติดต่อกับเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.64 โดยจะได้รับความช่วยเหลือ ดังนี้ 1.ในส่วนของหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สามารถขอยืดเวลาการชำระหนี้ หรือปรับหนี้เป็นหนี้ระยะยาวเพื่อลดวงเงินในการผ่อนส่งรายเดือนลง โดยเจ้าหนี้จะลดดอกเบี้ยให้เป็นจ่ายไม่เกิน 12 เปอร์เซ็นต์ สำหรับบัตรเครดิต และไม่เกิน 22 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสินเชื่อบุคคล 2.สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวดหรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ให้ลดวงเงินผ่อนชำระลงอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ และให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22 เปอร์เซ็นต์ 3.สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในทุกวงเงินสินเชื่อ ให้พิจารณาเลื่อนการชำระค่างวดเงินต้น และดอกเบี้ยได้ 3 เดือน หรือขยายเวลาการชำระหนี้ 4.สินเชื่อบ้านในทุกวงเงิน ให้เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ 3 เดือนเช่นกัน หรือลดวงเงินผ่อนชำระตามความเหมาะสม นอกจากนั้น ยังให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาในส่วนของการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ และให้สินเชื่อใหม่ โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือให้นายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการโดยรวม และปล่อยต่อให้ลูกหนี้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง

          ต่อพักหนี้เอสเอ็มอีครึ่งปี

          ลูกหนี้ธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ มาตรการช่วยเหลือ ธปท.ขอความร่วมมือให้สถาบันเจ้าหนี้เร่งช่วยเหลือตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ จำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น การเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้น และ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น ให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้เอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน (soft loan) นอกจากนั้น หากลูกหนี้ต้องการขอเลื่อนเวลาการชำระหนี้ของลูกหนี้ธุรกิจ หรือการพักหนี้ ซึ่งเดิมจบมาตรการไปแล้วในวันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น หากลูกหนี้ธุรกิจที่ยังไม่เคยเข้าโครงการขอพักหนี้ หรือมีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มเติม หรือได้รับผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ ธปท.อนุญาตให้สถาบันเจ้าหนี้พักหนี้ต่อให้ได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.64 หรือตามความเหมาะสม

          สินเชื่อฉุกเฉินขยายรับคำขอ

          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สถาบันการเงินของรัฐหลายแห่งต่างออกมาตรการช่วยเหลือ โดยนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินได้ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และสินเชื่อฉุกเฉินรายละ 10,000 บาท และ 50,000 บาท สำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ได้ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึง 30 มิ.ย.2564 เนื่องจากยังมีวงเงินคงเหลือให้กู้อีก 12,700 ล้านบาท ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ได้ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.2564 เช่นกัน ทั้งสินเชื่อฉุกเฉิน สินเชื่อเพียงพอเลี้ยงชีพ สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด และสินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ โดย ธ.ก.ส. มีวงเงินคงเหลือรวมกันราว 121,000 ล้านบาท

          ขณะที่ ธอส.มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน ผ่านโครงการ ธอส.รวมไทย สร้างชาติปี 2564 ด้วย 4 มาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ ซึ่งตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย เป็นเวลานาน 6 เดือน เช่น แบ่งจ่าย 25Pu% ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกชำระตามความต้องการของลูกค้าได้ และโครงการ ธอส.ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ ซึ่งลูกค้าที่ต้องการรับความช่วยเหลือจากธนาคาร สามารถติดต่อธนาคาร หรือลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน GHB ALL สำหรับ บสย.นั้นได้ออกมาตรการค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งมีทั้งโครงการค้ำ ประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ไทยสู้ภัยโควิด วงเงิน 5,000 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร (Micro) ไทยสู้ภัยโควิด 5,000 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 54,000 ล้านบาท ส่วนเอสเอ็มอีแบงก์ได้เปิดรับคำขอโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด วงเงิน 5,900 ล้านบาท จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564

Reference: