รัฐมั่นใจกระตุ้นอสังหาฯ 2มาตรการดันเม็ดเงินใหม่สะพัด

24 Jan 2022 469 0

           นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ความคืบหน้ามาตรการสนับสนุนและบรรเทาภาระแก่พี่น้องประชาชน โดยการลดหย่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนและจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2564 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อช่วยบรรเทาภาระของพี่น้องประชาชน ช่วยสร้างโอกาสและหลักประกันความมั่นคงในที่อยู่อาศัย

          โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 กระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งกำหนดให้มีการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ และการลดค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อบรรเทาภาระแก่พี่น้องประชาชนผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และเป็นการส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

          นายธนกรกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีมาตรการแบ่งเบาภาระผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว โดยคาดว่าการผ่อนคลายมาตรการในครั้งนี้ จะช่วยดึงเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสำคัญและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง คิดเป็นกว่า 9.8% ของ GDP และมีการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน โดยนายกฯ สั่งการอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดมาตรการดังกล่าว เชื่อมั่นว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระแก่พี่น้องประชาชนผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยของตนเอง แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงเป็นการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

          มีรายงานแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ประกาศกระทรวงมหาดไทย รวม 4 ฉบับ ซึ่งกำหนดให้มีการลดค่าการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% และค่าจดทะเบียนจำนองจาก 1% เหลือ 0.01%

Reference: