รวมหนี้ข้ามแบงก์ดอกเบี้ยลด 15% ธปท.ดึงธนาคารรัฐร่วมเฟส 2
ธปท.เปิดมาตรการช่วยลูกหนี้ เพิ่มเติม เปิดให้”รวมหนี้”ข้ามแบงก์ โดยใช้ หลักประกันจากสินเชื่อบ้าน ช่วยลดภาระดอกเบี้ยเหลือไม่เกิน 10% จากเดิม 25% หวังช่วยลูกหนี้รอดวิกฤติ พร้อมสั่งห้ามแบงก์คิดค่าธรรมเนียมโปะหนี้เอื้อรีไฟแนนซ์
นางสาวอรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ให้ความสำคัญมากกับการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการออกมาตรการต่อเนื่อง ทั้งมาตรการระยะสั้น ต่อเนื่องไปถึงมาตรการระยะยาว เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนภายใต้วิกฤติโควิด-19
ทั้งนี้หากมองไปข้างหน้าภายใต้เศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากโควิด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี “มาตรการต่อเนื่อง” เพื่อให้ ลูกหนี้เดินไปข้างหน้าได้อย่างตัวเบา ในแง่ ภาระหนี้
ล่าสุด ธปท.ได้มีการออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้มีภาระหนี้ลดลง และสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤติที่ ยังมีความไม่แน่นอน ผ่านโครงการ “รวมหนี้” โดยเป็นการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อ รายย่อยประเภทอื่น เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ที่มีประวัติชำระหนี้ดี และลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ จากโควิด-19 โดยการนำหลักประกันของสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ ในการช่วย ลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดในระยะยาวให้กับลูกหนี้
รวมหนี้ดอกเบี้ยลด 15%
โดยครั้งนี้ ธปท.ได้ขยายมาตรการ “รวมหนี้” ให้สามารถครอบคลุมและช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น โดยได้ขยายขอบเขตให้สามารถรวมหนี้ “ข้ามสถาบันการเงิน”หรือผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นๆได้ จากเดิมที่กำหนด ให้การรวมหนี้ สามารถทำได้เฉพาะหนี้ที่เกิดจากสถาบันการเงินหรือแหล่งเดียวกันเท่านั้น
นอกจากนี้ธปท.ได้ดำเนินการลดข้อจำกัด การทำรีไฟแนนซ์(Refinance)หนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงิน ในการรวมหนี้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย
โดยประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับจากการรวมหนี้ คือ “อัตราดอกเบี้ย” ลดลง จากเดิม ที่ลูกหนี้อาจต้องจ่ายดอกเบี้ยจากสินเชื่อ เช่นสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ไม่เกิน 33% สินเชื่อบุคคล 25% สินเชื่อบัตรเครดิตไม่เกิน 16% แต่เมื่อรวมหนี้ อัตราดอกเบี้ย ที่กำหนด จะเปลี่ยนไป โดยกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยได้ ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัยบนสัญญาเดิมแทน
เช่น หากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเดิม เคยคิดที่ 6% และบวกได้อีกไม่เกิน 2% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้หลังการส่งเสริมการขาย รวมแล้วต้องคิดดอกเบี้ยจะเหลือไม่เกิน 10% ซึ่งลดลงจากภาระดอกเบี้ยเดิมที่เคยจ่ายสูงถึง 25%
”เมื่อรวมหนี้แล้ว ภาระดอกเบี้ยต้องลดลง จริงๆ เพราะความเสี่ยงแบงก์ต่ำลง เพราะมีบ้านมีหลักประกัน ซึ่งการรวมหนี้ต้องไม่เกินมูลค่า หลักประกันที่จ่ายไปแล้ว อีกด้านเราก็สนับสนุนผ่าน รีไฟแนนซ์ ซึ่งเดิมเมื่อเกิดรีไฟแนนซ์ แบงก์จะจ่ายเงิน ให้ลูกหนี้ไปจ่ายคืนบัตร แต่ครั้งนี้ แบงก์จะต้องมีหลักฐานการโอนเงินว่าจ่ายหนี้บัตรแล้วจริงด้วย เพื่อให้เกิดการแก้หนี้ที่ตรงตามวัตถุประสงค์”
ห้ามคิดค่าต๋งโปะหนี้ก่อนกำหนด
นอกจากนี้ เพื่อให้การ “รวมหนี้”เกิดขึ้นรวดเร็ว และไม่เป็นภาระต่อลูกหนี้ กรณี “รีไฟแนนซ์หนี้”ธปท.ได้ห้ามสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงิน ห้ามเรียบเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด สำหรับ สินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับและสินเชื่อรายย่อยเพื่อ การประกอบอาชีพภายใต้กำกับชั่วคราว จนถึง 31 ธ.ค. 2566 ด้วย
จากเดิมที่กำหนด การห้ามเรียกค่าไถ่ถอนสินเชื่อ ก่อนกำหนด เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อ บุคคลดิจิทัล สินเชื่ออุปโภคบริโภค เช่นสวัสดิการ สินเชื่อที่มีหลักประกันอื่นๆ รวมถึงสินเชื่อ ที่อยู่อาศัย ที่ห้ามเรียกเก็บค่าถอนสินเชื่อก่อนกำหนด หากผ่อนชำระไปแล้ว 3 ปีขึ้นไป
จูงใจแลกลดการกันสำรอง
ทั้งนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจ สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงิน เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านมาตรการรวมหนี้ ธปท.ได้ให้อินเซ็นทีฟ กับผู้ให้บริการ โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์การ กำกับดูแล ทั้งการจัดชั้นหนี้ การกันสำรอง และการดำรงเงินกองทุน เพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบัน การเงินได้เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ได้เต็มที่
ทั้งนี้การรวมหนี้ดังกล่าว ระยะข้างหน้า จะมีการขยายครอบคลุมไปสู่การรวมหนี้ จากแบงก์รัฐด้วย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง ดังนั้นคาดว่าจะเห็นการรวมหนี้จากแบงก์รัฐได้เร็วๆนี้
ปล่อยกู้ฟื้นฟูแล้ว 1.2 แสนล้าน
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท.กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้า ในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการทางการเงิน จากผลกระทบโควิด-19 มีทั้งมาตรการแก้หนี้เดิม การเติมเงินใหม่ การช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง โดยพบว่า การแก้หนี้เดิม ทั้งลูกหนี้ธุรกิจ และรายย่อยปัจจุบันการช่วยเหลือของแบงก์และนอนแบงก์รวมอยู่ที่ 6.69 ล้านบัญชี หรือ 3.82 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการช่วยเหลือผ่าน แบงก์พาณิชย์ นอนแบงก์ 2.72 ล้านบัญชี หรือ 2.24 ล้านล้านบาท ขณะที่เป็นการช่วยเหลือจากแบงก์รัฐ 3.97 ล้านบัญชี หรือ 1.58 ล้านล้านบาท
ขณะที่มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ล่าสุด มีจำนวนผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 178 ราย มูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 2.5 หมื่นล้านบาท ทั้งธุรกิจโรงแรม โรงงาน สปา เป็นต้น
ส่วนการเติมเงินใหม่ ผ่านสินเชื่อฟื้นฟู ปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 50% หรือได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 1.26 แสนล้านบาท ของยอดวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการดังกล่าวที่ 2.5 แสนล้านบาท โดยมีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 3.9 หมื่นราย วงเงินเฉลี่ยที่ได้รับการช่วยเหลือ 3.2 ล้านบาทต่อราย
แบงก์อุ้มโรงแรม-ท่องเที่ยว 3 แสนล้าน
สำหรับการเข้าไปปล่อยสินเชื่อในธุรกิจ ท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ที่พักแรม กิจกรรมนำเที่ยว ขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ตั้งแต่ มี.ค.ปีก่อน ถึงต.ค. 2564 พบว่าเพิ่มขึ้น 1.25 แสนล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แบงก์มีการเข้าไปปล่อยกลุ่มนี้มากพอสมควร โดย 84% เป็นเม็ดเงินจากสถาบันการเงิน ขณะที่ 16% เป็นเม็ดเงินที่มาจากสินเชื่อภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซอฟท์โลน ที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 9พันราย หรือคิดเป็นสินเชื่อราว 2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้หากเจาะลึกไปดูไส้ในสำหรับการให้ความช่วยเหลือในด้านสภาพคล่อง สำหรับธุรกิจโรงแรม พบว่า ปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยว มีพอร์ตสินเชื่อจากแบงก์ 4.5 แสนล้านบาท กลุ่มนี้ได้รับการช่วยเหลือจากแบงก์แล้ว 64% หรือคิดเป็น ยอดสินเชื่อเกือบ 3 แสนล้านบาท โดย 62% เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่ 33% การช่วยเหลืออื่นๆ เช่นพักชำระหนี้ และ 5% เป็นการช่วยเหลือผ่านมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ที่ช่วยเหลือยาว 5ปี
“เราติดตามทุกมาตรการที่ออกไป ไม่ใช่ว่าออกไปแล้วสำเร็จแล้วจบ แต่เราพยายามมอนิเตอร์ ให้สถาบันกันการเงินสามารถทำหน้าที่ได้รอบนี้เราพยายามดูแลให้แบงก์มั่นคง ในการช่วยเหลือลูกหนี้ตลอดวิกฤติ”
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ