ยกระดับมาตรฐาน รับสร้างบ้าน ดันตลาดโตยั่งยืน
หลายสำนักทำนายการฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศในปีนี้ว่าเริ่มเห็นสัญญาณที่ดี แต่ในทางกลับกันยังมีปัจจัยเสี่ยงท้าทายรอบด้านต้องเฝ้าระวัง อย่างภาวะสงคราม ปัจจัยภายนอกชนวนทำให้เกิดความผันผวนของราคาพลังงาน น้ำมัน ต้นทุนภาคขนส่ง ราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะขยายวงไปมากกว่าสองประเทศหรือไม่รวมถึงเศรษฐกิจโลกถดถอย สัญญาณเตือนที่น่าจับตาและจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่สองเป็นต้นไป
ขณะปัจจัยภายในประเทศ การขาดแคลนแรงงาน ผลพวงจากสถานการณ์โควิดทำให้ไม่มีการแข่งขันต่อรองเรื่องค่าแรง อีกทั้งยังส่งผลให้การส่งมอบบ้านช้าลง ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่คาดว่าปลายปีนี้ จะปรับขึ้นไปที่2% ซึ่งล้วนมีผลต่อต้นทุนการพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์โดยเฉพาะธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่ประเมินว่าในไตรมาสที่สองของปีนี้จะถูกผลักให้บ้านปรับราคาสูงขึ้น5-10% หลังจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้แบกรับต้นทุนมาอย่างต่อเนื่องดังนั้นไตรมาสแรกจึงเป็นโอกาสทองสำคัญสำหรับคนที่ต้องการมีบ้าน ที่ภาคอสังหาฯทั้งระบบจะจัดกิจกรรม ทำแคมเปญลดแลกแจกแถม ชิงลูกค้า รวมถึงสมาคมรับสร้างบ้านมีแผนจัดงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2023 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 8-12 มีนาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกที่ผู้บริโภคจะมองหาบ้านที่ยืนราคาต้นทุนเดิม และอาจได้แคมเปญส่วนลดอีกต่อ
นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA : Home Builder Association) เปิดเผยภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดใหม่ในวาระ 3 ปี (2566-2568) ว่ามีแผนผลักดันให้ตลาดรับสร้างบ้านขยายตัวต่อเนื่องโดยเพราะภูมิภาค ที่มีกำลังซื้อสูง นอกจากตลาดในกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล อย่างไรก็ตาม ก่อนจะขยายตลาดไปสู่การแข่งขันทั้งระบบ สมาคมฯ มีแผนเพิ่มจำนวนสมาชิกบริษัทรับสร้างบ้าน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จาก 73บริษัทเพิ่มเป็น 85 บริษัทจากการขยายฐานสมาชิกในภูมิภาคเข้าสู่ระบบทำคู่มือแนวทางปฏิบัติ เพื่อยกระดับให้มีมาตรฐานน่าเชื่อถือสร้างความแตกต่างกับผู้รับเหมาที่อาจเสี่ยงทิ้งงาน ทำให้ต้นทุนบานปลาย
ขณะข้อได้เปรียบบริษัทรับสร้างบ้าน มีสถาปนิก วิศวกร ที่รับผิดชอบ และมีความผิดหากเกิดการทิ้งงาน โดยสมาคมฯได้ยกระดับจัดอบรม มาตรฐานก่อสร้าง การตลาด การสร้างแบรนด์ เพื่อให้เป็นรับสร้างบ้านตัวจริง ในทางกลับกันสมาคมฯได้รับเรื่องร้องเรียนหากใครมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ สำหรับสมาชิกที่ขยายฐานเพิ่มไปยังภูมิภาค ปัจจุบันภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี ภาคอีสานมีปริมาณบริษัทรับสร้างบ้านเข้ามาเป็นสมาชิกมากที่สุด ขณะภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง ฯลฯ และภาคเหนือรายแรกคือ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มีที่ดินค่อนข้างมาก ดำเนินธุรกิจในหลายแฟลทฟอร์ม ขณะภาคตะวันตก อยู่ที่กาญจนบุรี
”รับสร้างบ้านต่างจังหวัด ต้องการเพิ่มมาตรฐานการก่อสร้าง มีโลโก้ โดยสมาคมฯการันตี ลูกค้าจะเชื่อมั่น โดยราคาไม่ต้องแข่งขัน กับผู้รับเหมา”
โดยในภูมิภาคตลาดรับสร้างบ้านเติบโตสูงขึ้น ราคาบ้านมีหลายระดับราคา หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท ส่วนราคา10ล้านบาทอัพส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ที่ท้าทายรอบด้านในปัจจุบันทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ภาวะดอกเบี้ยและต้นทุนขาขึ้น รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญสำหรับการสร้างบ้าน ส่งผลค่อนข้างมากต่อราคาบ้านทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยทางสมาคมฯ เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ดังนี้
1. การยกระดับมาตรฐานธุรกิจรับสร้างบ้านให้เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือในระดับประเทศ มุ่งตอกย้ำและสร้างความเชื่อมั่นอย่างสูงสุด เพื่อให้สมาคมฯ เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค รวมทั้งมุ่งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพสมาชิกให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนสมาคมฯ สู่การเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ
2. กลยุทธ์เดินหน้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ให้ครบทุกมิติและทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดของสมาชิก และกระตุ้นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของสมาคมฯ ให้ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น
3. การขยายฐานความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน และการขยายฐานบริษัทสมาชิกให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยช่วยเสริมความแข็งแกร่งของสมาคมฯ ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ส่วนปัญหาของต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ต้นทุนในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ยังแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นนี้อยู่ หากปัญหานี้ยังไม่คลี่คลายอาจจะนำไปสู่การปรับขึ้นราคาบ้านในที่สุด โดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นราคาบ้านในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ประมาณ 5-10%
อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากสถานการณ์เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ทำให้เกิดความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้างอย่างหนัก เนื่องจากแรงงานที่มีอยู่ก่อนหน้านี้บางส่วนเปลี่ยนอาชีพ และบางส่วนเข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่น เช่น ภาคบริการ การท่องเที่ยว เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันธุรกิจรับสร้างบ้านขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ซึ่งทางสมาคมฯ มีข้อมูลว่า แรงงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่หนังสือเดินทาง (Passport) หมดอายุ และวีซ่า (VISA) สิ้นสุด มีแรงงานจำนวนมากที่ไม่ได้ไปดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ทำให้แรงงานเหล่านี้กลายเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทางสมาคมฯ ขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานในประเทศอีกรอบ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน
รวมถึงข้อจำกัดของการทำธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่มาจากขั้นตอนการขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐยังคงมีความซับซ้อน นายโอฬาร กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าวนำมาสู่การหาแนวทางรับมือให้ก้าวข้ามภาวะวิกฤตต่างๆ ไปให้ได้ โดยสมาคมฯ ได้หารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการขออนุญาตก่อสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน รวมถึงเป็นการสร้างความโปร่งใสในการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ