ผงะคนไทยมีหนี้เกือบ50%
น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลในปีนี้จะเพิ่มอยู่ระดับ 3.2-3.5% ต่อสินเชื่อรวม จากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 3.12% โดยที่ยังต้องติดตามคือความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด โควิด-19 ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามปกติ โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่คาดว่าเอ็นพีแอลสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.97% จากสิ้นปี 63 เอ็นพีแอลรายย่อย 2.84% ซึ่งการเพิ่มขึ้นอาจไม่ได้มากหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ต่าง ๆ เข้ามาชะลอ
นอกจากนี้สินเชื่อรายย่อยที่น่ากังวลเรื่องคุณภาพหนี้ คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ยิ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีมูลค่าสูงถ้าลูกหนี้ผ่อนจ่ายคืนไม่ไหว และเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารไม่ทัน ก็จะเป็นมูลหนี้ที่ใหญ่ที่อาจตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลไป และช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวค่อนข้างมาก จากไตรมาสแรกที่ผ่านมาขยายตัวถึง 7.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งรวมทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐแล้ว มาจากฐานที่ต่าในปีก่อนขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมาเกิดโควิดระบาด ทำให้คนไทยทำงานจากบ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮมจนหลายคนขยับขยายซื้อที่อยู่อาศัยที่กว้างขึ้นเพราะอยู่บ้านนานขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้ต้องเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากเท่าไร และเป็นคนมีรายได้ปานกลางถึงระดับบน มีรายได้ประจำ รวมทั้งธนาคารจับมือกับผู้ประกอบการจัดทำแคมเปญสนับสนุนเพื่อล้างสต๊อกคงเหลือ
”กลัวลูกหนี้รายย่อย บ้าน บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลว่าจะตกชั้นเป็นหนี้เสีย ซึ่งสินเชื่อรถยนต์ไม่ได้กลัวเท่าไรนัก เพราะสินเชื่อประเภทนี้ ผู้ประกอบการมีวิธีดูแลเอ็นพีแอล และบริหารจัดการได้ง่าย แต่บ้านมีมูลค่าสูง ถ้าลูกหนี้ผ่อนไม่ไหว ปรับโครงสร้างหนี้ไม่ทันก็เป็นก้อนใหญ่ และไม่แน่ใจโควิดจะลากยาวแค่ไหน”
น.ส.กาญจนา กล่าวว่า โควิด-19 ยังทำให้คนไทยมีภาระหนี้ต่อรายได้ (ดีเอสอาร์) หนักขึ้น เพราะดีเอสอาร์ในเดือนมิ.ย.64 ขยับขึ้นเป็น 46.9% จาก 42.8% ในเดือนมี.ค.64 หรือคนไทยมีหนี้เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้แล้ว ส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นเพราะคนก่อหนี้เพิ่มเท่าไร แต่มาจากเงินเดือนลด โบนัสลด โอทีลด ชั่วโมงทำงานลด ทำให้รายได้ ลดลง ซึ่งระดับที่คนไทยควรมีหนี้คือ 40% ของรายได้ เนื่องจากสถานการณ์ปกติหากเกินระดับนี้ก็เริ่มก่อหนี้ใหม่ยากแล้ว แต่เชื่อว่าปัญหาและความเสี่ยงต่าง ๆ จะเริ่มคลายลงถ้าเศรษฐกิจปี 65 ฟื้นและกิจกรรมเศรษฐกิจต่าง ๆ เริ่มเดินได้ ความมั่นคงตามมา จะส่งผลให้ครัวเรือนดีขึ้น
ทั้งนี้คาดการณ์หนี้ครัวเรือนไทยสิ้นปี 64 จะเกิน 90% ต่อจีดีพี มูลหนี้ 14.6 ล้านล้านบาท บนพื้นฐานจีดีพีที่ 1.8% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 14.02 ล้านล้านบาท และเริ่มทยอยปรับขึ้นในไตรมาสแรกแล้ว 14.09 ล้านล้านบาท แม้หนี้ครัวเรือนเพิ่มแต่ก็ยังเพิ่มน้อยกว่าช่วงสถานการณ์ปกติไม่มีโควิด-19 โดยเฉพาะโครงการรถคันแรกหรือบ้านหลังแรก ดังนั้นจะเห็นว่าเศรษฐกิจยังไม่โต ครัวเรือนก็ก่อหนี้ช้าลงในบางประเภท
”ส่วนเรื่องวิตกกังวลการใช้จ่ายนั้น เชื่อว่าการระบาดโควิด-19 รอบสาม คนไม่ได้ตกใจเหมือนกับโควิดรอบแรกเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะคนเริ่มนำเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น ต่างจากโควิดรอบแรกที่โยกเงินลงทุนกลับมาฝากไว้ที่เงินฝากธนาคารทำให้สภาพคล่องขยับขึ้นสูงจนทำให้ธนาคารลดแคมเปญเงินฝากลง เพื่อบริหารต้นทุน”.
Reference: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์