ประมูลมาบตาพุดเฟส2-ผุดศูนย์ธุรกิจอีอีซี

24 Mar 2022 678 0

         กนอ. เดินหน้าเปิดประมูล โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 2 วงเงิน 7,500 ล้านบาท คาด ม.ค.ปีหน้าเซ็นสัญญากับผู้ชนะได้ พร้อมสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว-ก๊าซ LNG คลังสินค้า-โลจิสติกส์ เอกชนขอความชัดเจนสิทธิประโยชน์ BOI เว้นภาษี 6 ปี พ่วงสิทธิประโยชน์ ครม.อนุมัติโปรเจ็กต์ใหม่ศูนย์กลางธุรกิจอีอีซี ลงทุนเฟสแรก 1,900 ล้าน

          หลังจากที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ลงนามในสัญญากับ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล ผู้ชนะ ประมูลโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 จังหวัดระยองเป็นสัญญาร่วมทุนรูปแบบ public private partnership (PPP) net cost ให้เอกชนได้สิทธิ ประกอบกิจการบนพื้นที่ 200ไร่ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้ภาครัฐไปแล้วนั้น

          ล่าสุด กนอ.เดินหน้าเตรียมเปิดประมูล โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 2 ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลัก หรือ EEC project list ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน อู่ตะเภา, โคงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3

          กัลฟ์-บี.กริม-PTTGC สนใจเฟส 2

          นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 2 ได้ขายเอกสารคัดเลือกเอกชนไปแล้ว (28 ก.พ.-11 มี.ค. 2565) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้เอกชนจัดทำข้อเสนอและยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนภายใน 18 พ.ค. 2565 คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ในม.ค. 2566

          ”มีนักลงทุนสนใจเข้ามา มีทั้งที่เป็นเอกชนรายเดี่ยวต่างชาติ และที่เป็นบริษัทร่วมทุนกับไทยอย่าง กัลฟ์, บี.กริม, บริษัทจากเนเธอร์แลนด์ที่เคยทำกับ พีทีที แทงค์ฯ และ PTTGC กนอ.จะพาลงพื้นที่ไปดูของจริงเพราะมีหลายแปลง ใครสนใจก็ยื่นซองมา เราจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินค่าเช่าที่ ค่าธรรมเนียม สินค้าผ่านท่า อายุสัมปทาน 25 ปี เมื่อสิ้นสุดโครงการต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้ กนอ. ส่วนคลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไม่ต้องโอน แต่ต้องรื้อทรัพย์สินออกจากแปลงที่ดิน” นายวีริศกล่าว

          ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวอีก 19 ล้านตัน/ปี จากเดิมที่ขนถ่ายได้ 16 ล้านตัน/ปี เป็น 35 ล้านตัน/ปี และให้มีท่าเทียบเรือสาธารณะให้บริการเพิ่มมากขึ้น แบ่งเป็นช่วงที่ 1 ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนงานขุดลอกและถมทะเล (550 ไร่) งานสาธารณูปโภคและท่าเรือก๊าซ เปิดประมูล ต.ค. 2561 ปรากฏผู้ชนะประมูลและ ทำสัญญากับ กนอ. คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล เมื่อ 1 ต.ค. 2562

          ส่วนการเปิดประมูล โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนบนพื้นที่ถมทะเลเพื่อใช้เป็นท่าเรือสินค้าเหลว รวมทั้งคลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดย กนอ.กำลังขออนุมัติหลักการการให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนจาก BOI อยู่

          สำหรับประมาณการการลงทุนโครงการช่วงที่ 2 แบ่งเป็น วงเงินลงทุนแรก 4,300 ล้านบาทก่อสร้างท่าเทียบเรือและติดตั้งอุปกรณ์ขนถ่าย โดยเอกชนจะลงทุนโครงสร้างหลักของท่าเทียบเรือ (ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า พื้นที่ 200 ไร่ และท่าเทียบเรือบริการ) ระบบไฟส่องสว่าง พื้นที่วางถัง ผนังท่าเรือ อาคารบริหาร-อาคารซ่อมบำรุง ส่วนอุปกรณ์ต้องลงทุนระบบ power supply ระบบขนถ่ายสินค้าเหลว และอุปกรณ์ที่ใช้ในท่าเทียบเรือ โดยจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบการใช้พื้นที่และค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านท่า เมื่อสิ้นสุดสัญญา (อายุ 25 ปี) ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้กับ กนอ.

          ส่วนเงินลงทุนต่อมาอีก 3,200 ล้านบาทเป็นการก่อสร้างคลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง พื้นที่ 150 ไร่ เช่น ธุรกิจ โลจิสติกส์, คลังเก็บสินค้า, คลังเก็บสารเคมี, โรงไฟฟ้า, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, โรงกำจัดของเสีย/ขยะ, โรงผลิตน้ำดิบ โดยเอกชนเลือกลงทุนในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือทั้งหมดก็ได้ การจ่ายผลตอบแทนให้กนอ.ในรูปแบบการใช้พื้นที่และค่าใช้บริการสาธารณูปโภค เมื่อสิ้นสุดอายุสัญญาไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้ แต่ต้องรื้อทรัพย์สินออกจากแปลงที่ดินต่อไป

          กังวลสิทธิประโยชน์ BOI

          นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงสิทธิประโยชน์โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 2 ว่าได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้พิจารณา “ปรับสิทธิประโยชน์การลงทุนในพื้นที่โครงการใหม่” เนื่องจากพบว่า ทางยุโรปได้มีข้อกังวลกรณีบริษัทที่ผลิตสินค้าในไทยแล้วส่งออกไปยุโรป มีความได้เปรียบเรื่องภาษีจากสิทธิประโยชน์การ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลของ BOI เนื่องจากการ “ยกเว้น” ภาษีจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทถูกกว่า “อาจเข้าข่ายการทุ่มตลาดหรือไม่เมื่อส่งสินค้าเข้าไปยังยุโรป” ซึ่งหมายถึง อาจมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับสินค้าไทยด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าก็ได้ กนอ.ต้องกลับมาหารือ BOI อีกครั้ง

          อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า ในส่วนของการลงทุนในท่าเทียบเรือสินค้าเหลวและการติดตั้งอุปกรณ์การขนถ่าย น่าจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในหมวด “กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า” หมวดนี้ผู้ขอรับส่งเสริมการลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้วยการ “ยกเว้น” อากรขาเข้าเครื่องจักร กับ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 6 ปี โดยภาคเอกชนที่กำลังจะเข้ายื่นประมูลโครงการต้องการที่จะได้รับการ “ยืนยัน” ว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ (ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 6 ปี) ในภายหลัง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลชุดต่อ ๆ มาก็ตาม รวมถึง กนอ.ต้องระบุรายละเอียดของการได้รับสิทธิประโยชน์ไว้ใน TOR อย่างชัดเจนว่า ผู้ประมูลจะได้รับสิทธิประโยชน์แบบใด รายการใด เมื่อไหร่ และอย่างไร เพื่อป้องกันมิให้ “ปฏิเสธ” คำขอรับส่งเสริมการลงทุนได้ในภายหลัง

          นอกจากนี้ ผู้ชนะการประมูลยังมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมถึงมาตรการกระตุ้นการลงทุน หากยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2565 ได้ด้วย

          ครม.อนุมัติศูนย์กลางธุรกิจอีอีซี

          รายงานข่าวระบุว่าล่าสุด (22มี.ค.2565)คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ วงเงินลงทุนเฟสแรก 2.3 หมื่นล้านบาท ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

          ทั้งนี้ ศูนย์กลางธุรกิจอีอีซี อยู่ในรัศมี 30 กิโลเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภา ที่จะพัฒนาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก

          โดยเป้าหมายของเมืองใหม่และศูนย์ธุรกิจอีอีซี ได้รวบรวมที่ดิน ส.ป.ก. อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ไว้แล้ว 14,619 ไร่ ห่างจากสนามบินอู่ตะเภา 15 กิโลเมตร มีธุรกิจ 5 คลัสเตอร์ คิอ ศูนย์สำนักงานใหญ่ของบริษัทในภูมิภาคและสถานที่ราชการ ศูนย์การเงินอีอีซี ศูนย์การแพทย์แม่นยำเฉพาะด้าน ศูนย์การศึกษาวิจัย และธุรกิจพลังงานสะอาดและดิจิทัล แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนทุกกลุ่มรายได้ 3,000 ไร่ มีตำแหน่งงาน 2 แสนตำแหน่ง พื้นที่สีเขียว 30% และพื้นที่ใช้สอย 70% ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดในช่วง 10 ปี มูลค่า ประมาณ 1.34 ล้านล้าน ภาครัฐจะลงทุน 3% ที่เหลือเป็นรูปแบบการลงทุน PPP โดยผลการตอบแทนการลงทุนของรัฐจะมาจากค่าเช่าที่ดิน ค่าส่วนกลาง และส่วนแบ่งรายได้จากPPP

          สำหรับมูลค่าการลงทุนรวม ประกอบด้วยภาครัฐ 37,674 ล้านบาท, สำนักงานอีอีซี 28,541 ล้านบาท เช่น ค่าเวนคืนที่ดิน เตรียมโครงสร้างพื้นฐานของเมือง, ภาครัฐอื่น ๆ ลงทุน 9,133 ล้านบาท, การลงทุน PPP ในโครงการประเภทสาธารณูปโภคในเมือง ระบบขนส่งสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 131,119 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนจากเอกชนในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1,180,808 ล้านบาท ใน 3 ปีแรก ปี 2565-2567 รัฐจะใช้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและการจัดสรรที่ดิน 23,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุน 19,000 ล้าน ดอกเบี้ย 4,000 ล้าน คาดว่าใน 10 ปี จะคืนเงินส่วนนี้ให้กับรัฐบาลพร้อมดอกเบี้ย

          สำหรับงบประมาณที่ขอให้รัฐบาลช่วยจัดสรร อาทิ ค่าชดเชยที่ดิน ค่าที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด ค่าปรับพื้นที่และเตรียมการ รวมทั้งค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง

          แหล่งข่าวกล่าวถึงการคัดค้านการใช้ที่ดินที่อาจเกิดขึ้นว่า สำนักงานอีอีซี โดย พ.ร.บ.อีอีซี เอื้อให้ดำเนินการในที่ดินทั้ง ส.ป.ก. และที่ดินราชพัสดุได้

          สำหรับวาระที่เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 6 (5) ระบุว่า พื้นที่อีอีซีจะต้องมีการพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย และประกอบกิจการอย่างมีคุณภาพ

          และอาศัยอำนาจตามมาตรา 34 ที่ระบุไว้ว่า กรณีมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเขตอีอีซี ให้สำนักงานมีอำนาจดำเนินการโดยวิธีการจัดซื้อ เช่า เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืน หรือโดยวิธีการอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

          และการใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ในมาตรา 36 บัญญัติไว้ว่า กรณีมีความจำเป็นเพื่อการพัฒนาอีอีซี คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจให้สำนักงานเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้มาตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อการดำเนินการหรือประกอบกิจการอื่นใด นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนเขตปฏิรูปที่ดินสำหรับที่ดินส่วนนั้น

Reference: