นอนแบงก์ รุกนาโนไฟแนนซ์
”นอนแบงก์” รุกปล่อยกู้ นาโนไฟแนนซ์ ด้านไลน์บีเคจ่อเปิด ให้บริการพ.ค.นี้ หวังรีเทิร์นเพิ่ม ด้านเมืองไทยแคปปิตอลคาดสินเชื่อนาโนฯพุ่งต่อ 20% ขณะที่ฟอร์ทสมาร์ทจ่อ ลงสนามเต็มตัว
นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด กล่าวว่า ราวพ.ค.ปีนี้ บริษัทจะมีแผนให้บริการสินเชื่อ นาโนไฟแนนซ์ แม้จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่ผลตอบแทนสูงขึ้นด้วย โดยสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้กว่า 30% หากเทียบกับ สินเชื่อบุคคลที่ ดอกเบี้ยอยู่20% ต้นๆ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น
ส่วนการปล่อยสินเชื่อผ่าน LINE BK ปัจจุบันมียอดขอสินเชื่อเข้ามาแล้วแล้วเกือบ 2 ล้านบัญชี ปล่อยกู้ไปแล้ว 1.5 แสนบัญชี และคาดว่าปีนี้ น่าจะเห็นสินเชื่อ แตะระดับ 1หมื่นล้านบาทได้ จากปัจจุบันปล่อยกู้ไปแล้ว 4-5 พันล้านบาท
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC กล่าวว่า ปีนี้ บริษัทตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อนาโนฯ 20% หรือเพิ่มราว 1.4 พันล้านบาท จากพอร์ตคงค้าง ที่ 7 พันล้านบาท จากการเน้นปล่อยกู้ลูกค้าเก่า ที่มีคุณภาพ และมีประวัติชำระหนี้ที่ดี เช่นการขยายการปล่อยกู้ไปสู่ฐานลูกค้ารถยนต์ หรือกลุ่มสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ ทำให้บริษัทควบคุมหนี้เสียได้ดี โดยหนี้เสียปัจจุบันทรงตัวที่ระดับ 1.3-1.4% ใกล้เคียง กับปีก่อนหน้า
ด้านนายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART กล่าวว่า บริษัทเตรียมให้บริการสินเชื่อบุคคลและนาโนไฟแนนซ์ หลังจาก ปีที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ในกลุ่มตัวแทนไปแล้ว แม้จะไม่ได้เป็นตามแผน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็สามารถสร้างกำไรได้ และ สามารถควบคุมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลได้ต่ำไม่ถึง 3%
นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธาน คณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า สำหรับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ขณะนี้บริษัทต้องหยุดแผนการเปิด โปรดักท์ใหม่ไปก่อนในปีนี้ จากเดิม คาดจะเปิดให้บริการใหม่ได้ในปีนี้ จาก ผลกระทบโควิด-19 ทำให้บริษัทโฟกัสไปที่การช่วยเหลือลูกค้าเดิมเป็นหลัก
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดสถิติสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ณ สิ้นปี 2563 พบว่า ทั้งจำนวนบัญชี และสินเชื่อ และหนี้เสียปรับตัวลดลง ต่อเนื่อง โดยเฉพาะบัญชีสินเชื่อ คงค้างที่ปรับลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 7.7 แสนบัญชีลดลง 33.9% จาก ช่วงเดียวกันปีก่อนขณะที่สินเชื่อคงค้าง ปรับลดลง 9.72% อยู่ที่ 17,441 ล้านบาท ส่วนหนี้เสียปรับลดลง 28% มาอยู่ที่ 1 พันล้านบาท
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ