ธุรกิจอสังหาฯ-ค้าปลีก เจาะตลาดกำลังซื้อผู้หญิง รับเทรนด์ SHEconomy นายกส.อาคารชุดไทย ชี้โอกาสของภาคธุรกิจ

30 Mar 2023 237 0

 อสังหาริมทรัพย์
          งานศึกษาของนิโอ ทาร์เก็ต ซึ่งเป็นบริษัทด้านการสื่อสารและสร้างชื่อเสียงองค์กร พบว่า ผู้หญิงมีสถานะทางการเงินสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากจำนวนผู้หญิงวัยทำงานและรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีบทบาททางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ส่งผลทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ที่ภาคธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งเรียกว่า “SHEconomy” หรือเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยผู้หญิง จึงทำให้มีคำถามที่น่าสนใจว่า จากเทรนด์ดังกล่าว ภาคธุรกิจไทยจะสามารถอาศัยโอกาสจากการเติบโตนี้ได้อย่างไร
          ในขณะที่ สัดส่วนการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศไทย เริ่มจะมีเปอร์เซ็นของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมากขึ้น ประกอบกับ ทัศนคติในเรื่องการใช้ชีวิต ก็เริ่มปรับเปลี่ยน อาจจะมีหลายสาเหตุ ทั้งเรื่อง ตำแหน่งหน้าที่การงานที่มีบทบาททางสำคัญมากขึ้น รวมถึงเริ่มมีมุมมองต่อการใช้ชีวิตเดี่ยวมากเช่นกัน

   สำหรับผลต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น “ผู้หญิง” มีอิทธิสูงเช่นกัน
          จากข้อมูลของบริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนาเกี่ยวกับ Big Data ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมการค้นหาที่อยู่อาศัยในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2565 ว่าผู้คนหาที่อยู่อาศัยตลอดปี 2565 รวม 419,411 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 22% โดยผู้เยี่ยมชมส่วนใหญ่มาจาก 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, กรุงเทพฯ และเชียงราย (คิดเป็นประมาณ 80%)
          และหากลงลึกจะพบว่าในการสืบค้นหาข้อมูลนั้น เพศหญิง มีสัดส่วนมากถึง 67.44% และชาย 32.56% ที่น่าสนใจในช่วงอายุนั้น พบว่า อายุตั้งแต่ 25-34 ปี ค้นหาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยมากถึง 47.97% รองลงมา อายุตั้งแต่ 35-44 ปี สัดส่วน 39.03% อายุ 45-54 ปี น้อยประมาณ 7.31% อาจจะเป็นเพราะเรื่องมีที่อยู่อาศัยแล้ว เพียงมาค้นหาเป็นบ้านหลังที่สอง และอายุไม่เกิน 24% มีประมาณ 5.42%
          และผู้เยี่ยมชมสนใจบ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียมที่ปิด การขายแล้ว สำหรับบ้านแฝดและทาวน์โฮม ผู้เยี่ยมชมสนใจ โครงการที่ยังเปิดการขาย ที่อยู่อาศัยราคา 1-3 ล้านบาท ได้รับความสนใจมากที่สุดในทุกประเภทแบบบ้าน สำหรับคอนโดฯ ช่วงราคาที่ผู้บริโภคให้ความสนใจที่สุด คือ ระหว่าง 1-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท
          เครื่องยนต์หลัก ท่องเที่ยว และบริการ ขับเคลื่อน GDP ลุ้นปี 67 มูลคํ่โอนฯคอนโดฯแตะ 2.2 แสนลบ.
          นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าว ถึงภาพรวมที่เป็นปัจจัยหนุนต่อภาคอสังหาฯว่า การขยายตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการที่กระจายตัวในกรุงเทพฯและไปทั่วทุกภูมิภาค จะเป็นผลดีต่อโลคอลคอนเทนต์ภายในประเทศ ต่างจากอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เราต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ และไม่ได้กระตุ้นเรื่องใช้โลคอลคอนเทนต์ภายในประเทศไทย ดังนั้น จีดีพีประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยวและบริการ จะส่งผลบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์สูงมาก การที่นักท่องเที่ยวมาจับจ่ายใช้สอยและซื้อสินค้า นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจจะถูกกระตุ้นด้วยการท่องเที่ยว ทำให้ภาคแรงงานมีกำลังซื้อและจะมีผลให้คนมาเลือกซื้อบ้าน โดยเฉพาะตลาดล่าง ที่ในช่วงเกิดโควิด-19 ได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่หากมองเป็นภาพรวมแล้ว อสังหาฯไม่ได้แย่ เพราะตลาดบ้านจัดสรรเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน กลุ่มบ้านแพงที่เข้ามาส่วนขับเคลื่อนตลาดรวมอสังหาฯ ขณะที่ตลาดคอนโดฯไม่ได้รับความสนใจในช่วงที่เกิดโควิด-19
          “ความเห็นส่วนตัว บ้านจัดสรรปี 2566 ไม่ได้ดีและไม่แย่ ทรงตัว แต่ก็มีบางสำนักประเมินจะชะลอตัวลงร้อยละ 5-10 เนื่องจากหากย้อนไปช่วงโควิด บ้านจัดสรรบวกขึ้นไปถึงร้อยละ 10 เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์เรา บ้านจัดสรรไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย ยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 กำลังในอนาคตถูกดูดมาค่อนข้างมาก ยอดโอนบ้านแพงตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปมีมาก เป็นตลาดของกลุ่มบ้านหลังที่สองและหลังที่สาม ซึ่งในปีนี้ ผมมองว่า บ้านเซกเมนต์ ที่เจาะกลุ่มคนทำงานประจำ มนุษย์เงินเดือน การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น จะมีผลดีต่อบ้านจัดสรร บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ราคาตั้งแต่ 5-10 ล้านบาท น่าจะขายได้ดีที่สุด บ้านจัดสรรในต่างจังหวัดราคา 3-5 ล้านบาท ยังดียกเว้นตลาดทาวน์เฮาส์ที่ยังมีปัญหาในเรื่องกำลังซื้อ ซัปพลายจำนวนมาก”นายพีระพงศ์ กล่าว
          สำหรับตลาดคอนโดฯ ภาพรวมยอดขายใกล้เคียงกับก่อน โควิด-19 ประมาณ 50,000 กว่าหน่วย คาดว่าปีนี้ยอดขายตลาดคอนโดฯเติบโตขึ้นร้อยละ 3-4 อาจจะเห็นตัวเลข 65,000 หน่วยได้ ใกล้เคียงกับปี 2561 ที่เราเห็นตัวเลขเติบโต เพราะการฟืนตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเวลาเปิดประเทศ คอนโดฯจะได้รับปัจจัยบวก ซึ่งในปีที่ผ่านมา ยอดโอนฯคอนโดฯประมาณ 170,000 ล้านบาท และปีนี้ ยอดโอนฯจะฟืนตัวเลขน้อย และจะเป็นผลดีต่อตัวเลขแบ็กล็อก เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไม่ได้เปิดโครงการ ซึ่งในระบบก็ยังมีห้องชุดรอขายประมาณ 2 แสนล้านบาท ก็ยังเพียงพออยู่
          “เราคาดว่าปีนี้ ยอดขายน่าจะไประดับ 1.9 แสนล้านบาท และปี 2567 น่าจะไปสู่ระดับ 2.2 แสนล้านบาท จากโครงการคอนโดฯที่เปิดตัวในปีนี้ และจากตัวเลขการดูดซับสต๊อกที่ค้างอยู่ในระบบ”
          พลังผู้หญิง กับ กํลังซื้อมหาศาล
          นายพีระพงศ์ กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางประชากร พบว่า ปัจจุบัน อัตราการเกิดของเพศหญิงจะมากกว่าเพศชายประมาณร้อยละ 60 ซึ่งในส่วนของบริษัทออริจิ้นฯ มีพนักงานที่เป็นสุภาพสตรีประมาณ 2 ใน 3 จาก 3,000 คน นั่นแสดงให้เห็นว่า เป็นกลุ่มและตลาดที่มีศักยภาพสูง
          “กลุ่มผู้หญิง มีกำลังซื้อสูงและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ชาย เช่น การเลือกซื้อที่อยู่อาศัย และจะเป็นเทรนด์ที่ทุกๆธุรกิจจะต้องหันมาให้ความสำคัญ”นายพีระพงศ์ กล่าว
          SHEconomy เทรนด์ตัวแม่
          เพื่อให้เกิดความชัดเจน ของพลังอำนาจของ “ผู้หญิง” ต่อโลกใบนี้ ทาง Krungthai COMPASS โดยทางฝ่ายวิจัยได้อธิบาย คำว่า “SHEconomy” หรือ เศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยผู้หญิง คือ แนวคิดที่มีผู้หญิงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งในด้านบทบาทของผู้ประกอบการและผู้บริหารในตลาดแรงงานไปจนถึงบทบาทของผู้บริโภค  โดยปัจจุบัน SHEconomy เป็นหนึ่ง Global Mega-trends ที่กำลังมาแรง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของโลก ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่น่าจับตามอง ส่งผลให้หลายธุรกิจให้ความสนใจที่จะเจาะตลาดกลุ่มผู้หญิงมากขึ้น
          ข้อมูลจากบริษัท Accenture เผยว่า ผู้หญิงชาวจีนมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคเฉลี่ยปีละ 10 ล้านล้านหยวน (50 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือเป็นมูลค่าการบริโภคที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก หรือเกือบเท่ากับตลาดค้าปลีกของประเทศอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส รวมกัน ทำให้ตลาดสินค้าสำหรับผู้หญิงมีความน่าสนใจมากขึ้น
          ในช่วงที่ผ่านมา เทรนด์ SHEconomy ได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงทั่วโลก จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้านประชากร ที่มีจำนวนผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับโอกาสด้านการทำงานที่เปิดกว้าง ให้ผู้หญิงสามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ส่งผลให้ผู้หญิงเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในการผลักดันการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน
          จากงานศึกษาของ The Economist Intelligence Unit ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากสหรัฐฯ พบว่า กำลังซื้อของผู้หญิงทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตจากในปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปอยู่ที่ราว 46 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.0% จากปัจจัยสนับสนุน คือ
          1) ตลาดผู้หญิงในกลุ่ม Millennials ที่มีกำลังซื้อสูงและกล้าใช้จ่าย, 2) บทบาทของผู้หญิงที่เด่นชัดขึ้นในตลาดแรงงาน ทำให้สามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต และ 3) ผู้หญิงมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ และกำหนดการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือนมากขึ้น
          แล้วปัจจัยหนุนเทรนด์ SHEconomy ได้แก่ 1.ตลาดผู้หญิงในกลุ่ม Millennials มีกำลังซื้อสูงและกล้าใช้จ่าย โดยข้อมูลจาก Populationpyramid ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2565 ผู้หญิงในกลุ่ม
          Millennials หรือผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน (ช่วงอายุ 27-42 ปี) จำนวน 1,180 ล้านคน มีสัดส่วน 29.8% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของโลก และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1,511 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 35.5% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของโลกในปี 2573 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพหนุนให้การใช้จ่ายโดยรวมของผู้หญิงทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนประชากรผู้หญิงกลุ่ม Millennials ของไทยที่มีจำนวนในปี 2565 อยู่ที่ราว 9.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 25.0% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของไทย และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 11.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 30.6% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของไทย ในปี 2573
          โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้จะ เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งมีกำลังซื้อสูง และเป็นกลุ่ม ผู้บริโภคที่กล้าใช้จ่ายกับสินค้าและการบริการที่ ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้ ส่งผลให้ ผู้ประกอบการทั้งในไทยและต่างประเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญของตลาดผลิตภัณฑ์ เพื่อผู้หญิงมาก ยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัท อีไลฟ์ จำกัด ที่เป็น ผู้ประกอบการผลิต และจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเครื่องใช้สำนักงานที่ได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับเทรนด์ SHEconomy คือ เก้าอี้นั่งทำงานสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะ ซึ่งต่างกับเก้าอี้ทำงานทั่วไปที่ไม่ได้คำนึงถึงสรีระของ ผู้หญิง เป็นต้น
          2. บทบาทของผู้หญิงที่เด่นชัดขึ้นในตลาดแรงงาน ปัจจุบัน ผู้หญิง มีโอกาสในการเข้าถึงทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้หญิงมีการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการ ทำงานในระดับบริหารที่นำมาซึ่งรายได้ และอำนาจในการใช้จ่าย ที่มากขึ้น สะท้อนจากผลการสำรวจของ Fortune 2022 ซึ่งเป็นนิตยสารธุรกิจชื่อดังระดับโลกจากประเทศสหรัฐฯ พบว่า จำนวน ผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้บริหารของโลก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ ผลการศึกษาของสำนักนโยบาย และ แผน สำนักงานบริหาร และพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) หรือ OKMD ที่คาดว่าในปี 2568 จะมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง และสามารถสร้างงานใหม่ที่เกิดจากธุรกิจ SME กว่า 9.7 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้รายได้โดยรวมของผู้หญิงอยู่ที่ราว 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และส่งผลต่อเนื่องไปสู่การจับจ่ายใช้สอยที่ เพิ่มขึ้นไปอีกด้วย
          3. ผู้หญิงเป็นผู้กุมการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน ผู้หญิงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการหารายได้เข้าสู่ครัวเรือนมากกว่าในอดีต อีกทั้งยังได้รับการยอมรับ ให้เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจและกำหนดการใช้จ่ายในครัวเรือน โดยจากงานศึกษาของ Frost & Sullivan พบว่า ผู้หญิงได้รับการยอมรับให้เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในการใช้จ่ายในครอบครัวมากถึง 85% ของรายได้ทั้งหมดของครอบครัว ขณะที่รายได้ของผู้หญิงทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ราว 29.0 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็สามารถมีอำนาจในการใช้จ่ายซึ่งรวมไปถึงการ ใช้จ่ายทั้งหมดภายในครอบครัวอยู่ที่ราว 39.8 ล้านล้านเหรียญ สหรัฐ และคาดว่าในปี 2573 รายได้ของผู้หญิงทั่วโลกจะสูงไปถึง 46.0 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีอำนาจการใช้จ่ายที่ราว 63.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
          แนะนำ 4 ปัจจัยยกระดับไปสู่ผลิตภัณฑ์ SHEconomy
          1. ศึกษาทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของ ผู้หญิงที่ไม่หยุดนิ่งอยู่เสมอ เช่น ผู้หญิงที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก กลุ่มนักกีฬา หรือสาวโสด รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานที่ต้อง เลี้ยงลูกเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มได้มากขึ้น
          2. ต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปสู่เทรนด์ ESG โดยผลการสำรวจจาก Cotton Incorporated’s 2012 Environment (2012) พบว่า ผู้หญิงมีความเต็มใจจะจ่ายสำหรับสินค้าเสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ชาย สอดคล้องกับผลการสำรวจจาก National survey (2022) ชี้ว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการใช้จ่ายให้กับสินค้าหรือบริษัทที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยเฉพาะผู้หญิงในกลุ่มอายุ 18-34 ปี
          3. เน้นช่องทางการขายผ่าน E-Commerce โดยผลการสำรวจจากเถาเป่า ตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่สุดของจีนในเครือ อาลีบาบา พบว่าผู้หญิงชาวจีนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 64% ในวันสตรีสากลในจีนประจำปี 2015-2017 สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของจีน เผยว่า ยอดค้าปลีกออนไลน์ของจีนในปี 2018 มีมูลค่า 1.34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขยายตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับยอดขาย 280,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2013
          4. ให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย เพราะนอกจากจะสร้างความเชื่อมั่น และความประทับใจที่ดีแล้ว ยังสามารถกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดการซื้อซ้ำ และสร้างความผูกพันระยะยาว
          ...ท่ามกลางสังคมการใช้ชีวิตคู่ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะมี ผลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร แต่ กำลังซื้อจากผู้หญิง จะเป็น “แม่เหล็ก” ใหญ่ในระยะข้างหน้าที่จะเป็นอีกเซกเมนต์ที่ ผู้ประกอบการทั้งภาคอสังหาฯ และธุรกิจค้าปลีก จะเข้าไปช่วงชิงกำลังซื้อ และสร้างมาร์เกตในตลาดที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต! 

Reference: