ธอส. ตรึงดอกเบี้ยอุ้มอสังหาฯ

01 Apr 2022 448 0

          ลั่นปีนี้ปล่อยกู้ 2.7 แสนล้าน - ‘อาคม’ ส่งสัญญาณธุรกิจฟื้น

          คาดการลงทุนใหม่จะเกิด ภายใน3เดือนข้างหน้า

           ”ธอส.” ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ นานถึงสิ้นปี พร้อมปล่อยกู้แม้แบงก์พาณิชย์จะปฏิเสธ เผยเป้าสินเชื่อปีนี้พุ่งกว่า 2.7 แสนล้าน “อาคม”ชี้ปีนี้อสังหาฯเริ่มฟื้นตัว รับภาพรวมเศรษฐกิจ สะท้อนยอดขออนุญาต จัดสรรที่ดิน และการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น คาดลงทุนใหม่จะเกิดในอีก 3 เดือนข้างหน้า แนะ 3 ทิศทางพัฒนาธุรกิจ ย้ำให้ธอส.ตรึงดอกเบี้ยกู้ยันไม่มีแผนกู้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

          วานนี้ (31 มี.ค.) กรุงเทพธุรกิจ จัดเวทีสัมมนา  PROPERTY FOCUS 2022 : MEGA TREND อสังหาฯ รับ NEW NORM แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2022 มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ “Property Outlook 2022” นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมบรรยายพิเศษ “แบงก์ปลดล็อก สินเชื่ออสังหาฯ รับตลาดฟื้น” พร้อมเวทีเสวนาภาคเอกชน ก้าวใหม่อสังหาฯ เชื่อมโลกดิจิทัล

          นายฉัตรชัย กล่าวว่า ตัวเลขสินเชื่อโดยปล่อยไปได้ถึง 6.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการปล่อยสินเชื่อช่วงดังกล่าว จะเป็นช่วงที่ปล่อยได้ต่ำที่สุด ฉะนั้นจากนี้ไป ถ้าคิด 4 ไตรมาสน่าจะปล่อยได้ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท แต่คาดว่า ในปีนี้จะปล่อยได้ มากกว่า 2.7 แสนล้านบาท

          ”เป้าการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว เป็น การสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการ อสังหาฯ และเป็นดัชนีชี้วัดการฟื้นตัวอสังหาฯว่า ถ้ามีการสร้างที่อยู่อาศัยจะขายใคร ซึ่งขาย ใครนั้นตัวเลขสินเชื่อมันฟ้องอยู่แล้ว แต่ถามว่า ใครจะปล่อยสินเชื่อก็ ธอส. จะเป็นคนปล่อย”

          ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ถึงสิ้นปี

          ทั้งนี้ จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยใน ตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นแต่ภายใต้บริบท ประเทศที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ โดยนโยบายรัฐบาลผ่านมา ทางรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังให้ธอส.ตรึงดอกเบี้ย ซึ่งจะ ตรึงให้จนถึงสิ้นปี ซึ่งขณะนี้จึงเป็นภาวะที่ควรซื้อ อสังหาฯ ถ้ามีความพร้อม

          ”สิ่งหนึ่งที่เป็นสัญญาณฟื้นตัวของอสังหาฯคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงตรึงไว้ที่ 0.5% แต่เราคาดว่า ราวไตรมาส 3 หรือ 4 กนง.จะปรับขึ้น ขณะที่ภาครัฐได้ ส่งสัญญาณมาให้เราคือตรึงดอกเบี้ย ซึ่งเราก็จะตรึงให้นานที่สุด”

          อย่างไรก็ดี ในแง่อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มขาขึ้นนั้น แต่แพ็คเกจสินเชื่อของธนาคารเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้น จากนี้ไป 1-2 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่แน่นอน และด้วยความเป็นแบงก์รัฐ ธอส.จะตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด

          ”จะเห็นได้ว่า ภาวะวิกฤติโควิดที่ผ่านมา แบงก์รัฐตรึงดอกเบี้ยทั้งหมด และพักชำระหนี้อีกหลายล้าน ฉะนั้นแบงก์รัฐคือคนที่ออกมา ช่วยลูกค้าจริงๆ ขณะเดียวกันภายใต้สัญญาณ ที่เห็น คือวัคซีนที่เข้ามาบวกกับมาตรการ รัฐบาลในการสนับสนุน ส่งผลต่อความเชื่อมั่น และคนก็ปรับตัวให้อยู่ภายใต้โควิดแล้ว”

          ส่วนคำถามที่ว่า ตลาดสินเชื่อในขณะนี้ ถือเป็นตลาดของคนที่มีกำลังซื้อหรือไม่ นายฉัตรชัย กล่าวว่า เป็นตลาดของคนที่มีความพร้อมมากกว่า เพราะคนที่มีรายได้น้อย ที่มีผลกระทบทางด้านรายได้จากโควิดนั้น ทางธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือ โดยตรึงดอกเบี้ยให้ แม้ว่าความสามารถในการชำระหนี้จะลดลง แต่เขายังได้สินเชื่อในวงเงินเท่าเดิม

          อย่างไรก็ดี สิ่งที่ธนาคารคุมไม่ได้คือ ราคาของอสังหาฯ โดยภายใต้โควิดที่ผ่านมา มีโปรโมชั่นจำนวนมาก ซึ่งจากยอดปล่อยสินเชื่อ ของธนาคารที่ปล่อยเฉลี่ยกว่า 2 แสนล้านบาท ต่อปี ได้สูบสต็อกบ้านที่มีไปหมดแล้ว

          ”ดังนั้น นับจากนี้ไปจะมีบ้านสร้างใหม่ ซึ่งต้นทุนจะไม่เหมือนเดิม ดังนั้นราคาอสังหาฯ มีสิทธิ์ปรับขึ้น แต่ว่าเราก็เข้าไปช่วยเรื่องของดอกเบี้ยและวงเงินสินเชื่อให้ แม้รายได้ ผู้กู้จะลด”

          สำหรับการปฏิเสธสินเชื่อนั้น ภายใต้วิกฤติโควิดนั้น แบงก์พาณิชย์ ก็ต้องเลือกกลุ่มลูกค้าที่มั่นคงที่สุดสำหรับเขา ก็จะมีกลุ่มที่ถูกปฏิเสธจากแบงก์พาณิชย์ ซึ่ง ธอส.ก็เข้าไปจัดการ ปล่อยสินเชื่อภายใต้การบริหารความเสี่ยงเอง ส่วนหนี้เสียนั้น ภาวะหนี้เสียต่ำ เพราะเป็นการ กู้เพื่อที่อยู่อาศัยจริง

          ”อาคม” ส่งสัญญาณปีนี้ธุรกิจอสังหาฯฟื้น

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Property Outlook 2022” โดยระบุว่า ขณะนี้ เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวภาคอสังหาฯ ที่ชัดเจนมากขึ้น ดูจากยอดขออนุญาตจัดสรรที่ดิน และการก่อสร้างที่จะเริ่มมีมากขึ้นในปี 2565 ขณะที่ความต้องการ ที่อยู่อาศัยพบว่า มีความต้องการใกล้เคียงกับซัพพลาย จึงยังไม่เห็นภาวะโอเวอร์ซัพพลายภาคอสังหาริมทรัพย์ และเห็นว่า ยอดสินเชื่ออสังหาฯจะโตต่อเนื่องไปถึงปี 2566

          เขากล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัว หรือไม่นั้น ภาคอสังหาริมทรัพย์จะเป็น ตัวนำ ซึ่งมูลค่าอุตสาหกรรมอสังหาฯของไทย คิดเป็นสัดส่วน 4.8% ของจีดีพี แต่หากรวม ซัพพลายเชนกลุ่มวัสดุก่อสร้าง จะมีมูลค่า คิดเป็นสัดส่วน 7.2% ของจีดีพี และหากรวมไปถึงกลุ่มเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ ตกแต่งบ้าน จะคิดเป็นมูลค่ารวมเกือบ 10% ของจีดีพี

          ”วันนี้เมื่อเศรษฐกิจฟื้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็จะฟื้นตาม เมื่อไหร่ก็ตามที่ดัชนีชี้วัดว่า มีการขออนุญาตการจัดสรรที่ดินและก่อสร้าง อีก 3 เดือน ถัดมา ก็จะมีการลงทุนก่อสร้างตามมา ดังนั้น ภาคอสังหาริมทรัพย์จะเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจตัวหนึ่งว่า เศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ เพราะเมื่อภาคอสังหาฯฟื้น ตัวอื่นก็จะฟื้นตามมา”

          อย่างไรก็ตาม จากสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะของสหรัฐที่ธนาคารกลางได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโนยบายอยู่ที่ 0.5%และ ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกนั้น ก็เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นสูงนั้น ในส่วนของไทยเอง ล่าสุด กนง.ได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

          สั่งธอส.ตรึงดอกเบี้ยกู้ถึงสิ้นปี

          ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า การปล่อยสินเชื่อ ใหม่ของ ธอส. ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างดี เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยที่จะปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้ง ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อย สินเชื่อ ทำให้ลูกค้าระดับรายได้ปานกลาง หันมาใช้สินเชื่อของ ธอส. มากขึ้น พร้อมย้ำว่า จากพันธกิจของ ธอส. ที่ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยของตนเอง จึงมีนโยบายให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุดหรืออย่างน้อย ภายในปี 2565 นี้

          นายอาคม กล่าวถึงมาตรการรัฐในช่วง ที่ผ่านมาว่า ได้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการ แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้

          ขณะที่ ด้านผู้ประกอบการ ได้มีมาตรการของ ธปท.โครงการพักทรัพย์พักหนี้สำหรับผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีสถาบันการเงินเข้ามา ขอสินเชื่อแล้ว 11 แห่ง มีลูกหนี้รวม 253 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท

          นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนอง สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ลงเหลือ 0.01% รวมทั้งขยายโครงการบ้านล้านหลังเฟส 2 ซึ่งขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก แต่ยอดทำนิติกรรมจริงยังไม่เต็มวงเงิน เนื่องจากอาจรอประเมินสถานการณ์ก่อน

          ขณะที่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สาเหตุที่รัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการ เนื่องจากการปรับลดภาษีดังกล่าวในช่วงที่ผ่านถึง 90% นั้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ท้องถิ่นหายไปประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทบต่องบประมาณ ที่ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งถนนหนทาง น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจ ดีขึ้น ภาคอสังหามีการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะ ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และชลบุรี ก็มีความจำเป็นในการบริหารและพัฒนา ท้องถิ่น ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ต่ออายุมาตรการดังกล่าว

          แนะ3ทิศทางพัฒนาอสังหาฯ

          นายอาคม ได้แนะนำการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ประกอบด้วย

          1.การนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาใช้ในการอำนวยความสะดวกโครงสร้างทั้งหมดภายในบ้าน รวมทั้งความเร็วและเสถียรของระบบ อินเทอร์เน็ต ที่ต้องพัฒนาเป็นระบบไฟเบอร์ออฟติก

          2.สิ่งแวดล้อม โดยระบบในตัวบ้านจะต้องมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การออกแบบ การกำจัดขยะหรือของเสีย และต้องคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน

          3.สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในการพัฒนาที่อยู่อาศัย จะต้องมีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ เช่น บันได รวมถึงระบบต่างๆ ในห้องน้ำ และยังเชื่อมโยงไปถึงระบบต่างๆภายในบ้าน เป็นต้น

          ยื้อปรับกรอบเงินเฟ้อ

          นายอาคม ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า ในช่วงไตรมาส 2 สถานการณ์เงินเฟ้อจะมีแนวโน้ม สูงขึ้น 5% ซึ่งอาจจะหลุดกรอบเป้าหมาย เงินเฟ้อ 1-3% นั้น มองว่า กรอบ 1-3% เป็นเป้าหมาย ของกรอบเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี

          ฉะนั้น ต้องกลับมาดูว่า การทบทวนเป้าหมาย ในระยะสั้น ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องราคาน้ำมัน และราคาอาหาร จะมีผลกระทบต่อดัชนีราคาสินค้าเพียงใด ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปี เฉลี่ยแล้วเกิน 3% แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีขึ้น อาจทำให้เงินเฟ้อในระยะสั้นหลุดกรอบไปบ้าง แต่หากอัตราเฉลี่ยทั้งปียังคงอยู่ในกรอบ 1-3% คลังก็จะยังไม่มีมาตรการอะไรออกมาดูแลเพิ่มเติม

          ”การขยับกรอบอัตราเงินเฟ้อต้องหารือกับ ธปท. เพราะเป็นเรื่องของการเงินการคลัง ซึ่งต้องมาคุยกันว่า สถานการณ์ราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวสูงจะยาวนานแค่ไหน ที่จะทำให้เงินเฟ้อ ของไทยเกินกรอบทั้งปีที่ตั้งไว้ 3% แต่ถ้าเป็นระยะสั้น อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง และทั้งปี เฉลี่ยไม่ถึง 3% ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีการปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อใหม่”

          ขณะที่ ธปท. ประมาณการว่า เงินเฟ้อ จะพุ่งสูงขึ้นนานตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ถึง 3 ก็ต้อง มีการหารือร่วมกันอีกครั้ง รวมทั้งประเมินสถานการณ์ว่า หากในไตรมาส 2 ถึง 3 อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงอยู่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน จะยืดเยื้อแค่ไหน

          รวมทั้งการจัดการเรื่องของต้นทุนราคาสินค้า โดยเฉพาะเรื่องเรื่องราคาอาหารสัตว์ และราคาน้ำมัน หากส่วนนี้สามารถจัดการได้เร็ว ก็จะช่วยให้ราคาสินค้าไม่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ไตรมาส 2 ก็ยังมีผลกระทบต่อเนื่อง ส่วนไตรมาส 4 ยังไม่แน่ใจ แต่ในไตรมาสสี่ จะทุเลาลงแน่

          ”แต่สิ่งที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะสั้น ไม่สูงเกินไปก็คือการใช้มาตรการระยะสั้น ที่รัฐบาลออกมาในการตรึงราคาน้ำมัน แต่หากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปสูงถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทุกประเทศก็จะได้รับผลกระทบจากปัญหาเดียวกัน จากนั้น อาจจะต้องขอความกรุณา จากภาคประชาชนแบ่งเบาภาระไปครึ่งหนึ่ง และรัฐบาลก็ยังคงจะช่วยดูแลอยู่”

          นอกจากนี้ อีกส่วนคือการช่วยเหลือในเรื่องค่าครองชีพ ทั้งเรื่องราคาค่าแก๊สหุงต้ม และค่าไฟฟ้า รวมถึงช่วยเรื่องน้ำมันเบนซิน ให้กับกลุ่มคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง หากประชาชนมีรายได้เพียงพอ และรัฐบาล เข้าไปช่วยตรึงเรื่องราคาน้ำมัน ก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าที่สูงขึ้นในปัจจุบันทุเลาลง

          ยันไม่มีนโยบายกู้เงินเพิ่ม

          สำหรับกรณีที่ ธปท.ปรับเป้าประมาณการจีดีพีปีนี้ลดลงเพียง 3.2% จากเดิมคาดการณ์ว่า 3.4% เป็นสัญญาณที่ภาครัฐจะออกมาตรการ มากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่นั้น เขากล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เพราะการปรับลดเป็นไปตามสมมุติฐาน ไม่ใช่เงื่อนไขที่รัฐบาลจะต้องกู้เงิน โดยเป็นการปรับลด ไปตามสถานการณ์

          ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอจาก 3 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้กู้เงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติมนั้น นายอาคม กล่าวว่า ได้มี การหารือร่วมกับ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในประเด็น ดังกล่าวบ้างแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังก็ได้มีการชี้แจงถึงความระมัดระวังในการกู้เงินของรัฐบาล เนื่องจาก ต้องคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง เพราะสิ่งสำคัญคือการกู้เงินเกินตัว

          ”หากมีการกู้เงินเกินตัว ก็จะเป็นประเด็นเช่นกัน เนื่องจาก จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของต่างชาติ โดยเฉพาะการจัดอันดับความ น่าเชื่อถือของสถาบันต่างๆ ไทยอาจจะถูก ปรับลดได้ ซึ่งอาจจะส่งผลถึงต่อต้นทุนการกู้เงิน ของรัฐบาลในอนาคตด้วย”

          อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ จะเร่งรัดการลงทุนด้วย ขณะที่ภาคเอกชน ไม่ได้มีปัญหาชะลอการลงทุน ส่วนภาค การส่งออกนั้น ปี 2564 โต 17-18% และ สองเดือนแรกของปีนี้ การส่งออกก็ขยายตัวได้ 12% ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าในปีนี้ จะต้องผลักดัน การส่งออกให้ได้ 4-5% อย่างไรก็ดี หากมีการรักษาโมเมนตัม ในเรื่องการส่งออก ก็หวัง การส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 10% ซึ่งจะช่วยสร้าง ความมั่นใจให้กับเศรษฐกิจ ว่าจะมีการขยายตัว ได้ 3.5-4.5%

Reference: