ธปท. เตือนรับ เงินบาท ผันผวน
ท่องเที่ยวปลุกจีดีพีครึ่งปีหลัง
ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย.2565 ปรับตัวดีขึ้น จากทุกเครื่องชี้วัด ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ลดลง และ ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง รอความหวังภาคการท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง ฟื้นตัว หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ช่วยกระตุ้นจีดีพี และแสดงความเป็นห่วงค่าเงินบาทที่ยังผันผวน ที่นักธุรกิจจะต้องป้องกันความเสี่ยง
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทในระยะต่อไปจะมีความผันผวนมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ จะมีเข้ามา กระทบค่อนข้างมาก จึงขอแนะนำให้ประชาชนและภาคธุรกิจดูแลความเสี่ยงเพื่อป้องกันความผันผวนดังกล่าว
”เมื่อเกิดปัจจัยต่างๆแล้ว จะเห็นว่า ค่าเงินบาท ค่อนข้างผันผวน แต่บอกได้ยากว่า เงินบาทจะอ่อนค่าหรือแข็งค่า ซึ่งขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำต่อภาคธุรกิจ หรือประชาชนทั่วไปดูแลความเสี่ยง เพื่อป้องกันความผันผวน เพราะเป็นสิ่งที่จะมาแน่ๆ เพียงแต่ จะมีทั้งบวกและลบ จากปัจจัยข้างใน ข้างนอก และ ปัจจัยระยะสั้นหรือยาว ฉะนั้น ยากที่จะบอกแนวโน้ม”
ทั้งนี้ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือนเม.ย.ปรับตัว ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเกือบทุกองค์ประกอบ มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ที่ปรับลดลงบ้างและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ทรงตัวเนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลน ชิ้นส่วนการผลิต
ขณะที่ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น แต่โดยรวมยังเปราะบาง โดยผู้ประกันตนในมาตรา 33 ทยอยปรับดีขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงก่อน โควิด-19 ถือว่า ยังห่างไกล ฉะนั้นในภาพรวม ตลาดแรงงานถือว่า ยังเปราะบางและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงนั้น ในการประเมินภาพเศรษฐกิจที่ผ่านมา เราได้ประเมินภาพการใช้จ่ายภาครัฐไว้แล้ว โดยในช่วงก่อนโควิด ภาครัฐใช้จ่ายค่อนข้างมาก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉะนั้นหลังจากที่เศรษฐกิจค่อยๆฟื้น การใช้จ่ายภาครัฐก็จะค่อยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
”ในเดือนเม.ย.การใช้จ่ายภาครัฐ มีการหดตัว ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งเบิกจ่ายไปก่อนหน้า อีกส่วนที่ลดลง ก็ยังดีกว่าค่าเฉลี่ย ฉะนั้น ในแง่การใช้จ่ายภาครัฐก็จะค่อยๆกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะไม่มีกระตุ้นแรงหรือมีแพ็กเกจใหญ่ๆเหมือนเมื่อก่อน แต่บทบาทยังมีต่อเนื่อง”
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนพ.ค.นั้น เราเห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นจากความกังวลต่อการระบาดของโอมิครอนที่ลดลงและการทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ดียังต้องติดตามสถานการณ์ การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้า ปัญหา การขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ
ทั้งนี้ ในภาคท่องเที่ยวนั้น เราเห็นการฟื้นตัว ที่ค่อยๆกลับมาจากมาตรการจำกัดการเดินทางที่ผ่อนคลายลง และบางเรื่องก็เร็วกว่าที่คาดไว้ แต่ไม่ใช่แค่มาตรการของเราอย่างเดียว แต่เป็นมาตรการของประเทศอื่นๆด้วย ฉะนั้นเรื่องการท่องเที่ยวก็ยังเป็นภาคที่ต้องจับตา ต่อเนื่อง เพราะเป็นเครื่องมือที่จะหนุนเศรษฐกิจไทย
”เราคาดหวังว่า ในช่วงครึ่งปีหลังตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเป็นไปตามที่เราคาดไว้ที่ 7.91 แสนคน”
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย ในเดือนเม.ย.มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายหมวดบริการและหมวดสินค้าไม่คงทน สะท้อนถึงความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron ที่น้อยลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงลดลง จากค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ซึ่งยังเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภคภาคเอกชน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนหมวดก่อสร้างปรับดีขึ้น ตามยอดขายวัสดุก่อสร้างและการขออนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลง ตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทยอยปรับเพิ่มขึ้น ต่อเนื่องจากเดือนก่อนในเกือบทุกสัญชาติ หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง ระหว่างประเทศเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยุโรปตะวันออกปรับลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โลหะ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ยางสังเคราะห์ รวมทั้งยานยนต์และชิ้นส่วน
อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางสินค้าปรับลดลง โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังเผชิญกับปัญหา การขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และ มาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ของจีน
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ หมวดยางและพลาสติกตามราคายางที่ปรับดีขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างสอดคล้องกับการก่อสร้างของภาคเอกชน รวมทั้ง หมวดยานยนต์สอดคล้องกับการส่งออก ในหมวดดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การผลิตลดลงในบางหมวด อาทิ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ตามปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน ซึ่งถูกซ้ำเติมจากมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 อย่างเข้มงวด ของจีน และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม จากการผลิตน้ำตาลที่น้อยลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงปิดหีบอ้อย
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำ ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากการนำเข้าปิโตรเลียมที่ลดลงตามการบริหารคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ และการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลง อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องระบายอากาศ อย่างไรก็ดี การนำเข้า สินค้าอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน หดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูง ในปีก่อน ประกอบกับหน่วยงานด้านการศึกษาและด้านคมนาคมทยอยเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวดี ตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านโทรคมนาคมเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับลดลงเล็กน้อยตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ โดยอยู่ที่ 4.65% จากเดือนก่อนที่อยู่ 5.73% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุล ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจาก การส่งออกทองคำที่ลดลงเป็นสำคัญ และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้น ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของ ธุรกิจต่างชาติ
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ