ธปท.หวั่นวัคซีนฉุดศก.ฟื้น คลังชง1.4แสนล้านกระตุ้น

01 Jun 2021 645 0

          ผู้ว่า ธปท.หวั่นวัคซีนไม่แน่นอน กระทบฟื้นเศรษฐกิจ ชี้ต้องรอไตรมาสแรกปี 66 ฟื้นตัวเท่าก่อนโควิด “สุพัฒนพงษ์” เผยคลังชงแพ็คเกจเยียวยา-พยุงเศรษฐกิจเข้า ครม.วันนี้ 1.4 แสนล้าน “คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้” หนุนจีดีพีโต 1.5-2.5% เตรียมเร่งสปีดลงทุนรัฐและเอกชน ในครึ่งปีหลัง

          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทย และภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีมากเกือบ 1 ปีครึ่ง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวเกือบจะมากที่สุดในภูมิภาค จากภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

          อีกทั้งการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 และการ กระจายวัคซีนที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้คาดว่าการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา ซึ่งอาจต้องรอถึงไตรมาสแรก ของปี 2566 กว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้ และจากผลกระทบโควิด-19ยิ่งซ้ำเติมธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยเฉพาะบางธุรกิจที่สายป่านสั้นที่อาจต้องหยุดกิจการชั่วคราว ขาดรายได้และกระทบต่อการชำระหนี้ดังนั้น เอสเอ็มอีจึงต้องการการช่วยเหลือเร่งด่วน

          ”ความร่วมมือระหว่างเดอะมอลล์กรุ๊ป และสถาบันการเงินครั้งนี้ ถือเป็นการผนึกกำลังในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และช่วยบรรเทาไม่ให้ปัญหาลุกลาม ส่งผลรุนแรงต่อการจ้างงานและเสถียรภาพเศรษฐกิจมากไปกว่านี้ ดังนั้นจึงอยากเห็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่นๆใช้แนวทางนี้ เพื่อช่วยคู่ค้ารายย่อยของตัวเอง เพื่อช่วยเอสเอ็มอีกว่า 1.8 ล้านราย ที่มีการจ้างงานกว่า 7.5 ล้านคน ให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น”

          สมาคมแบงก์เร่งช่วยเอสเอ็มอี

          นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ได้กระทบรุนแรง และขยายวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.จึงคาดว่า โควิด-19 ระลอก 3 จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่งผลให้ปรับจีดีพีปีนี้เหลือ 0.5-2.0%

          ที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ร่วมกับสถาบันการเงินได้เร่งช่วยเหลือภาคธุรกิจต่อเนื่อง ผ่าน 2 มาตรการ คือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ที่ได้เร่งดำเนินการ และตั้งเป้าว่า 6 เดือนข้างหน้าจะเห็นการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูราว 1 แสนล้านบาท รวมถึงผ่านมาตรการพักทรัพย์ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน

          นอกจากนี้ สมาคมฯยังทำงานร่วมกับภาคธุรกิจต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางช่วย ผู้ประกอบการเป็นรายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ที่เป็นภาคที่มีผู้ประกอบการเกี่ยวข้องถึง 2.5 ล้านราย และมีการจ้างงานสูงถึง 9 ล้านคน หรือมีการจ้างงานมากกว่า54% ของการจ้างงานเอสเอ็มอีทั้งหมดดังนั้นหวังว่าการร่วมมือครั้งนี้กับเดอะมอลล์ จะสามารถช่วยผู้ประกอบการและคู่ค้าเดอะมอลล์ได้มากกว่า6 พันราย ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูได้

          ในส่วน ธนาคารกรุงไทย ก็มี 2 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือคู่ค้าของเดอะมอลล์กรุ๊ป ผ่าน “สินเชื่อฟื้นฟู” และ สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนสำหรับคู่ค้าของเดอะมอลล์กรุ๊ป ซึ่งเป็นวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี ที่ใช้ หลักประกันต่ำ และสามารถกู้ได้สูงสุดถึง 20 ล้านบาท

          ”คลัง”ชงครม.เคาะ1.4แสนล้าน

          นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (1 มิ.ย.) กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการดูแลประชาชนจากผลกระทบ ของโควิด-19 ระยะที่ 2 ซึ่งชุดมาตรการจะเริ่มใช้ในเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 กรอบวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งมั่นใจเม็ดเงินทั้งจากรัฐบาลและประชาชนจากโครงการที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงที่เหลือปีนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 1.5-2.5% ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้

          สำหรับรายละเอียดของมาตรการที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.พิจารณา ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่

          1.มาตรการคนละครึ่งระยะที่ 3 วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน ให้สิทธิ์ใช้จ่ายไม่เกิน 150 บาท วงเงิน 3,000 บาทต่อคน โดยโครงการนี้จะช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กจนถึง ผู้ประกอบการขนาดกลางจะประโยชน์จากการใช้จ่ายของประชาชนมากขึ้น

          2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยจะมีผู้ร่วมโครงการ 4 ล้านคน (จากกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ 6 ล้านคน)  โดยภาครัฐสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้ผู้ได้รับสิทธิโครงการสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยผู้เข้าโครงการจะได้รับการสนับสนุน E-Voucher จากภาครัฐช่วง ก.ค.-ก.ย.2564 เพื่อใช้จ่ายเดือน ส.ค.-ธ.ค.2564 ซึ่งจะมีการใช้จ่ายคนละ 60,000 บาท ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากโครงการนี้ 2.4 แสนล้านบาท ส่วนภาครัฐจะใช้เงินในโครงการนี้ 2.8 หมื่นล้านบาท

          3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะ 3 โดยช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค.ธ.ค.2564) ครอบคลุมประชาชน 13.6 ล้านคน โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน วงเงิน 1.64 หมื่นล้านบาท

          4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมทั้งกลุ่ม ผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย  2.5 ล้านคน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ใช้งบ 3,000 ล้านบาท

          เร่งดันลงทุน”ครึ่งปีหลัง”

          นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจมีหลายส่วนที่สัญญาณที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวชัดเจน ซึ่งเดือน เม.ย. การส่งออกที่ไม่รวมทองคำขยายตัวถึง 25% ทำให้เห็นจุดแข็งของซัพพลายเชนไทยหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่งออกสูงติดต่อกันหลายเดือน และการส่งออกเป็นกุญแจสำคัญอีกอย่างในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้

          สำหรับการลงทุนภาครัฐและลงทุน ภาคเอกชนต้องพยายามขับเคลื่อนการลงทุนมากที่สุด ซึ่งการลงทุนภาครัฐต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย และงบประมาณลงทุนภาครัฐไม่น้อยกว่า 70% งบเหลื่อมปีไม่น้อยกว่า 85% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจต้องทำได้ไม่น้อยกว่า 70% ส่วนแผนงานและโครงการตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท  ต้องเบิกจ่ายสะสม ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 ไม่น้อยกว่า 80% ของวงเงินกู้ตามที่ สศช.เสนอแนะไว้

          สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณดีขึ้นมาก โดยไตรมาส 1 ปีนี้ คำขอส่งเสริมการลงทุนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานมูลค่าเพิ่มขึ้น 80% ซึ่งรัฐบาลจะพยายามผลักดันภาคเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้เร่งลงทุนเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต รวมทั้งจะเน้นชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เมดิคัลฮับ รถยนต์ไฟฟ้า

          ”มาตรการที่ ครม.จะอนุมัติ 1.4 แสนล้านบาท รวมกับการใช้จ่ายของประชาชนจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวตามกรอบที่ สศช.คาดการณ์แต่จะถึง 2.5% หรือไม่ประเมินยากถึงแม้รัฐบาลจะประเมินไว้ว่าจะควบคุมระลอก 3 ได้ในเดือน ก.ค.นี้ แต่ต้องระวังระลอก 4 ซึ่งก็ขอให้ไม่มีเกิดขึ้น” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

Reference: