ธปท.รื้อกฎหมายเครดิตบูโร ดึงข้อมูลค่าไฟ-ฟินเทคร่วม
ธปท.เปิดรับฟังความคิดเห็น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต หลังตั้ง คณะทำงานศึกษา เสนอ 6 ประเด็นหลัก เล็งจัดเก็บข้อมูลประวัติชำระค่า สาธารณูปโภคค่าน้ำ-ค่าไฟเข้าเป็นฐานข้อมูล พร้อมดึงผู้ให้บริการ “ฟินเทค” เข้าระบบ เปิดทางภาครัฐใช้ประโยชน์จากข้อมูล ภาคธุรกิจ การเงินหนุนเก็บข้อมูลค่าน้ำ-ค่าไฟ-ประกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปล่อยกู้ ดึงคนไม่มีข้อมูลเครดิตเข้าระบบ
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต” รวมถึงข้อเสนอการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 เพื่อขยายขอบเขตของข้อมูล การใช้ประโยชน์ของข้อมูลให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2564
ข้อเสนอ ธปท. 6 ประเด็น
โดย ธปท.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อ ศึกษาและวิเคราะห์ระบบนิเวศข้อมูล (data ecosystem) ของระบบข้อมูลเครดิตไทยให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับ หลักเกณฑ์มาตรฐานสากลและแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินที่สอดรับศักยภาพในการชำระหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงการให้สินเชื่อที่จะกลาย เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จึงจำเป็นต้องการข้อมูลที่มีความหลากหลายมากขึ้น
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายของคณะทำงาน ประกอบด้วย 6 หมวดหลัก ได้แก่
1.ปรับปรุงกฎหมายให้ขยายขอบเขตของข้อมูลที่จัดเก็บโดยบริษัทข้อมูลเครดิตฯ ให้สอดรับกับการพิจารณาความน่าเชื่อถือด้านเครดิตในปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยต้องเป็นข้อมูลที่สะท้อนความตั้งใจที่จะชำระสินเชื่อ และความสามารถในการชำระสินเชื่อ เช่น ข้อมูลรายได้ ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค
ขยายบทบาทดึงฟินเทค
2.ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของบริษัทข้อมูลเครดิตฯ และขอบเขตสมาชิกของบริษัทข้อมูล โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น Fintech หรือตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ เข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อสนับสนุนให้ระบบข้อมูลเครดิตมีความครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบัน ธปท.และกระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
3.ขยายขอบเขตให้บริษัทข้อมูลเครดิตฯ สามารถเปิดเผยข้อมูลตามวัตถุประสงค์ตามที่เจ้าของข้อมูลได้ให้ความยินยอมไว้ และให้หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์ของข้อมูลได้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง เศรษฐกิจและภาษีอากร 4.กรณีอายุการจัดเก็บข้อมูล โดยผู้เกี่ยวข้องบางกลุ่มเห็นว่า อายุการจัดเก็บข้อมูล 3 ปี นานเกินไป ทำให้ลูกค้าที่เคยมีประวัติการค้างชำระสินเชื่อเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องบางกลุ่มก็มองว่า อายุการเก็บข้อมูลสั้นเกินไป ไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์สินเชื่อ อย่างไรก็ดี คณะทำงานเสนอให้คงอายุการจัดเก็บและแสดงผลข้อมูล 3 ปีเช่นเดิม เนื่องจากมองว่าระยะเวลา 3 ปี จะช่วยให้มีข้อมูลที่เพียงพอในการวิเคราะห์พฤติกรรมการชำระสินเชื่อเพื่อประกอบการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อได้
ปรับปรุงบทลงโทษ
5.เพิ่มบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.) ในด้านการพัฒนาข้อมูลเครดิต และพิจารณาประเด็นเชิงนโยบายมากขึ้น และปรับองค์กรให้เหมาะสมกับภารกิจที่เปลี่ยนไป และ 6.ปรับปรุงบทลงโทษ สำหรับความผิดของสมาชิกจากการนำส่งข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้อง จากความผิดทางอาญาเป็นความผิดที่มีบทลงโทษทางปกครอง และยังคงโทษอาญาในกรณีที่มีการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล
หนุนดึงข้อมูลค่าไฟ-ประกัน
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) กลุ่มธุรกิจการเงินในกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ขยายขอบเขตการจัดเก็บข้อมูลในมิติอื่น ๆ ควรจะมีมากขึ้น นอกเหนือจากข้อมูลที่เก็บในปัจจุบัน เช่น ข้อมูลการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่น ๆ เนื่องจากสถาบันการเงินจะเห็นข้อมูลพฤติกรรมลูกค้ามากขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลสาธารณูปโภค นอกจากเพื่อประกอบการพิจารณาปล่อยสินเชื่อว่าจะอนุมัติสินเชื่อหรือไม่แล้ว แต่จะเป็นข้อมูลแสดงหลักฐานที่อยู่ของลูกค้าชัดเจนขึ้น เพราะจากเดิมธนาคารจะดูตามบัตรประชาชน ซึ่งอาจไม่ใช่ที่อยู่ปัจจุบัน รวมถึงวิเคราะห์ได้ลึกกว่ายอดวงเงินชำระค่าไฟฟ้าที่จ่ายสะท้อนว่าที่อยู่อาศัยมีขนาดใหญ่หรือเล็ก หรือข้อมูลการต่ออายุประกันก็ช่วยสะท้อนให้เห็นสกอริ่งในการบริโภคของลูกค้า
นายฐากรกล่าวว่า ขณะเดียวกันจะช่วยให้คนที่มีข้อมูลการเงินในระบบที่น้อยและบางมาก ได้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น เช่น เด็กจบใหม่ ส่วนใหญ่จะไม่มีข้อมูลในระบบ ทำให้ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าตัวจริงหรือไม่ ซึ่งข้อมูลอื่น ๆ สามารถนำมาประกอบได้ เช่น บิลค่าโทรศัพท์ หากหมายเลขนี้ ชื่อนี้ใช้มา 4 ปี และชำระตรงทุกรอบบิล สะท้อนถึงวินัยทางการเงินได้ ซึ่งจะทำให้เห็นคนที่พร้อมจะเข้าระบบได้ เพียงแต่ยังไม่มีข้อมูลเครดิต ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ผู้ให้สินเชื่อมีข้อมูลหลายมิติและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น และการปล่อยสินเชื่อ จะมีประสิทธิภาพขึ้น
เพิ่มโอกาสคนนอกระบบ
นอกจากนี้ หากสามารถขยายขอบเขตการนำข้อมูลไปใช้ด้านอื่น ๆ หรือในธุรกิจอื่นนอกจากธุรกิจการเงิน จะช่วยพัฒนาระบบและการบริการได้ดียิ่งขึ้น หรือนำไปใช้ประกอบการทำนโยบายด้านต่าง ๆ ได้อีกมาก อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังไม่สามารถทำได้ อาจจะติดเรื่องข้อกฎหมาย
”ตอนนี้หากดูในต่างประเทศ ข้อมูลค่าสาธารณูปโภคเป็นข้อมูลที่เก็บเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หากเราสามารถทำได้จะช่วยให้การปล่อยสินเชื่อมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังสามารถดึงคนนอกระบบที่เข้าไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลเข้ามาได้ด้วย และถ้ายิ่งได้ข้อมูลการจ่ายภาษีและประกันยิ่งดีจะสะท้อนสกอริ่งได้ดี หรือระยะเวลาการเก็บข้อมูล 3 ปี แล้วล้างข้อมูลอาจจะสั้นไป เพราะแผลยังสดอยู่ แต่มุมมองลูกหนี้เหล่านี้ที่มีบาดแผลไม่สามารถซื้อบ้าน-ซื้อรถ จะมีผลทางเศรษฐกิจ ภาครัฐจึงอยากจะเปิดโอกาสให้มากขึ้น”
วงในชี้ต้องรื้อใหญ่
แหล่งข่าวจากแวดวงการเงินกล่าวแสดงความคิดเห็นการปรับแก้ไขกฎหมายข้อมูลเครดิตดังกล่าวว่า ข้อเสนอการแก้ไขประเด็นต่าง ๆ ของคณะทำงาน ธปท. ยังไม่สามารถยกระดับการทำงานของข้อมูลเครดิต เพื่อรองรับโลกธุรกิจในอนาคตได้ และยังมีช่องว่างที่ทำให้ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกหนี้ได้อย่างครบถ้วน เช่น กรณีข้อมูลลูกหนี้ของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งถือว่าเป็นฐานข้อมูลใหญ่ และมีความสำคัญก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ มุมมองการจัดเก็บข้อมูลส่วนใหญ่ เป็นการตอบโจทย์และให้ความสำคัญกับการให้สถาบันการเงินเข้าถึงข้อมูลของ ลูกหนี้เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อ เพื่อทำให้การวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แต่ในมุมที่เป็นประโยชน์สำหรับลูกหนี้อาจจะยังไม่ชัดเจน แม้ว่าจะระบุว่าเพื่อให้คนที่อยู่นอกระบบเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างเตรียม พิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรวาระแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นจนรัฐบาลต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ จึงมีการเลื่อน การประชุมสภาออกไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ