ธปท.ปักธงนำร่องใช้สกุลเงินดิจิทัลภาคประชาชนปีหน้า
ธปท.ตั้งเป้าปีหน้าเริ่มนำร่องใช้สกุลเงินดิจิทัลภาคประชาชน หลังล่าสุดเปิดรับฟังความคิดเห็น “Retail CBDC” ถึงกลางปีนี้ ต่อยอดภาคธุรกิจ เผยออกแบบ ให้ใช้งานเหมือนธนบัตรใช้ได้ทั้ง “ออนไลน์-ออฟไลน์” มั่นใจประชาชนเข้าถึงง่าย-ปลอดภัย ยันไม่คิดตัดตัวกลางการชำระเงินทิ้ง
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วย ผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency : Retail CBDC) ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เปรียบได้กับธนบัตรที่ออกโดยธนาคารกลาง หลังจากที่ผ่านมามีความคืบหน้าผลการพัฒนาต้นแบบสกุลเงินดิจิทัลในภาคธุรกิจ (Central Bank Digital Currency : Wholesale CBDC) ภายใต้ชื่อโครงการอินทนนท์ (INTHANON) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561
ซึ่งการพัฒนาระบบต้นแบบดังกล่าว นำเทคโนโลยีประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (DLT) มาใช้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน โดยในเฟสแรกปี 2561 และถัดมาเดือน ม.ค. 2562 ได้ทดสอบประสิทธิภาพกับพันธบัตรตรวจสอบกฎเกณฑ์และธุรกรรมต่าง ๆ ก่อนที่จะทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศกับธนาคารฮ่องกงในเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน และปีนี้เดือน ก.พ.ที่ผ่านมาได้ทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้ CBDC หลายสกุลเงิน (M-CBDC Bridge)
“รูปแบบ Retail CBDC สามารถนำไปใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินได้ทั้งในแบบออนไลน์ (online) และออฟไลน์ (offline) ไม่จำเป็นต้องมีสมาร์ทโฟนก็สามารถทำธุรกรรมได้ ซึ่ง CBDC จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินในอนาคต ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศติดท็อป 10 ที่เริ่มทำเรื่องของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง จากจุดเริ่มต้นของภาคธุรกิจ การโอนเงินระหว่างประเทศ ถือว่าเราเดินค่อนข้าง เร็วเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เรื่องของ Retail CBDC มีความซับซ้อนกว่า จึงต้องศึกษาให้รอบคอบ เช่น มีคนกังวลหากคนมาถือ CBDC กันหมด จะเกิดแบงก์รันหรือไม่ และรูปแบบการเข้าถึงของประชาชนจะต้องง่าย และต้องเกิดการรับรู้ของภาคประชาชน”
นางสาววชิรากล่าวว่า แนวทางการพัฒนา ธปท.ได้สำรวจและศึกษาเรื่อง ดังกล่าว และเขียนเป็นกรอบการดำเนินการ และได้จัดทำเป็น directional paper เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน โดยจะปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 15 มิ.ย. 64 และจะมีการจัดทำ workshop ร่วมกับสถาบันการเงิน ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปความคิดเห็นและข้อสงสัยต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการพิจารณา Retail CBDC
และในเดือน ก.ค. 2564 จะเริ่มพัฒนา Retail CBDC แบบ pilot และภายในไตรมาส 2 ปี 2565 เริ่มทดสอบ CBDC นำร่อง (pilot project) ในวงจำกัด อย่างไรก็ดี หากนำมาใช้จริงอาจจะต้องใช้เวลา 3-5 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกับต่างประเทศ เช่นประเทศจีนที่เริ่มพัฒนาและทดลองใช้กับประชาชนในมณฑลเล็ก ๆ ก่อนในปี 2558 ซึ่งจะทำลักษณะคล้ายลอตเตอรี่ และคาดว่าจะนำมาใช้จริงในช่วงโอลิมปิก
“การพัฒนา Retail CBDC เป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดย ธปท.จะต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ ทั้งในเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ การดูแลข้อมูลจะต้องมีธรรมาภิบาล (data governance) ความปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้ และต้องไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน”
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ