ธปท.ถกแบงก์แก้หนี้เฟส3

29 Jul 2020 687 0

          นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสถาบันการเงินถึงแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ในเฟสที่ 3 ซึ่งกำลังพิจารณาถึงแนวทางการลดหนี้ (แฮร์คัท)ให้กับลูกหนี้ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ เช่น ในกรณีที่รายได้ของผู้กู้ลดลงจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสกลับมาชำระหนี้ได้มากขึ้น และจะเน้นให้ความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการของลูกเฉพาะกลุ่ม เฉพาะรายมากขึ้น เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด หลังจากการปรับโครงสร้างหนึ้ในเฟส 2 ที่เป็นมาตรการช่วยเหลือเป็นการทั่วไป

          นอกจากนี้ ธปท. ยังพิจารณาถึงแนวทางเจ้าหนี้ร่วมอีกด้วยว่า ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นหนี้กับสถาบันการเงินหลายแห่ง มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เจ้าหนี้ ทุกรายจะพิจารณาเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ลูกหนี้แต่ละรายได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้และจูงใจลูกค้าให้เต็มใจจ่ายหนี้ได้มากขึ้น โดย ธปท.กำลังเร่งออกแนวทางปรับโครงสร้างหนี้เฟส 3 ซึ่งจะมีผลทั้งกับลูกหนี้บุคคลและธุรกิจ เพื่อให้ต่อเนื่องกับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เดิม ซึ่งบางแนวทางจะครบกำหนดในเดือน ต.ค.นี้

          นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารยังกังวลถึงแนวทางบริหารจัดการกับลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้อย่างไรดี เพราะลูกค้าที่อยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างหนี้นั้น มีลูกค้าบางรายที่ไปต่อไม่ไหวด้วยเช่นกัน เนื่องจากบางรายมีหนี้สินทั้งสินเชื่อกับธนาคาร และสินเชื่อนอกระบบควบคู่กันไป และบางรายมีสินเชื่อบัตรเครดิตที่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงอยู่ ทำให้ลูกหนี้ยังมีภาระหนัก ซึ่งหากทั้ง 3 ก้อนมารวมกันลูกหนี้รายนั้นจึงเกิดอาการท้อ

          รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในเดือน เม.ย. 63 ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ ไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ พบว่ามีหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล และหนี้ด้อยคุณภาพรวมกัน 5.27 แสนล้านบาท

          ทั้งนี้ แยกเป็นหนี้เสีย 2.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.57% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่มีหนี้เสียอยู่ 2.89 แสนล้านบาท หรือ 4.65% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อด้อยคุณภาพที่หยุดการชำระ 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน อยู่ที่ 2.38 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.76% ของสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นหนี้ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งพยายามเร่งปรับโครงสร้างของสินเชื่อด้อยคุณภาพส่วนนี้เพื่อไม่ให้ตกชั้นเป็นหนี้เสียอยู่ อย่างไรก็ตาม ระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) อยู่ที่ระดับ 13.83% ถือว่าเป็นระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินงานระยะต่อไป

          “ขณะนี้คลังได้สั่งให้แบงก์เฉพาะกิจเร่งดูแลหนี้เสียและหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท เป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้และสถานะของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึงภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ โดยตอนนี้ทุกสถาบันการเงินมีมาตรการช่วยเหลือผ่านการพักชำระหนี้ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คาดว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐส่วนใหญ่จะขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ให้ลูกค้าถึงสิ้นปี 63 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. นี้”

Reference: