ธปท.จ่อคุมเข้มเงินดิจิตอล

20 Mar 2021 537 0

         ธปท.เตรียมเคาะเกณฑ์คุมสกุลเงินดิจิตอลประเภทมีสินทรัพย์หนุนหลังภายในปีนี้ ห้ามใช้ 1 เหรียญเท่ากับ 1 บาท ผิดกฎหมายเงินตราเต็มๆ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะมีเจตนาชัดเจนใช้ทดแทนเงินบาท ทำให้เสี่ยงต่อระบบการเงิน

          น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในปีนี้ ธปท.จะออกเกณฑ์กำกับดูแล ให้ภาคเอกชนที่ต้องการพัฒนาคริปโทเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิตอล ประเภท Stablecoins ที่มีสินทรัพย์อื่นหนุนหลัง (Asset-Backed) และประเภทประยุกต์ใช้กลไก (Algorihmic) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการออกสกุลเงินดิจิตอล ประเภท Stablecoins ได้อย่างถูกต้อง

          ขณะที่ Stablecoins ประเภทที่มีเงินบาทหนุนหลัง (Baht-backed Stablecoin) เข้าข่ายเป็นบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ภายใต้ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560 ขณะนี้ธปท.ได้มีการกำกับดูแล โดยใช้เกณฑ์การควบคุมเดียวกันกับการกำกับแบบ e-money ซึ่งเกณฑ์จะควบคุมแต่ละรายไม่เหมือนกัน และมีความเสี่ยงเฉพาะ

          ที่ผ่านมามีเอกชนเข้ามาขออนุญาตกับ ธปท. เพื่อขอออกสกุลเงินดิจิตอล ประเภทที่มีเงินตราหนุนหลัง บางส่วนยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องไปปรับเงื่อนไขให้เป็นไปตามที่ ธปท.กำหนด

          กรณีดังกล่าว เป็นการสร้างความชัดเจนในการควบคุมหลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ ธปท.ได้ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวการออก Stablecoin ชนิดหนึ่ง ชื่อ THT บน Terra Platform ที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งระบุให้ 1 หน่วยของมูลค่า THT เป็น 1 บาท ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 เพราะจะทำให้เกิดการใช้เงินบาทอีกระบบ

          แม้ยังไม่ได้นำมาใช้แต่ก็มีเจตนาชัดเจนที่จะนำมาใช้ทดแทนเงินบาท ถ้ามีการใช้เป็นวงกว้างก็จะเกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ”แม้จะเป็นสกุลเงินดิจิตอลประเภทที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ไม่ได้เข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่การใช้คำว่า 1 เหรียญเท่ากับ 1 บาท หากมีการนำมาใช้ในวงกว้างก็จะเกิดการใช้เงินบาท 2 ตลาดขึ้นมา ผิดตาม พ.ร.บ.เงินตรา เพราะไม่มีเงินบาทหนุนหลัง และอ้างอิงโดยไม่ใช่ ผู้ผลิตเงินบาทเอง จึงไม่สามารถทำได้ อยากให้เอกชนที่สนใจทำสกุลเงินดิจิตอลมาหารือกับธปท.ว่าลักษณะใดดำเนินการได้หรือไม่ได้”

          และขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพัฒนาสกุลเงินดิจิตอลระดับประชาชนให้มีความปลอดภัย ตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชน และภาคธุรกิจสามารถนำไปต่อยอด เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน และพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ได้

Reference: